xs
xsm
sm
md
lg

โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชนกองทุนสื่อ หวังยกระดับมาตรฐานการทำงานให้เป็นมืออาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ธนกร ศรีสุขใส  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
“สื่อวิทยุ” เป็นสื่อที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2473 เมื่อมีการเปิด “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” ที่วังพญาไท ซึ่งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย

การพัฒนาวิทยุกระจายเสียงมีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 40 ได้กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประกอบกับรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวได้ส่งเสริมให้เกิดสถานีวิทยุชุมชนเพื่อเป็นกลไกการสื่อสารภายในชุมชน ส่งผลให้เสรีภาพของวิทยุกระจายเสียงเติบโตอย่างเต็มที่ เกิดการจัดตั้งและออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในรูปแบบวิทยุชุมชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 5,000 สถานี
 
จากนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553” ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จนถึงปัจจุบัน โดย กสทช. ได้แบ่งกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล และ 2) กลุ่มผู้ทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญฯ ปี 2540

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียง คือ บางสถานีออกอากาศเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของชาติ และสื่อวิทยุถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
 
ในปัจจุบัน สถานการณ์ Digital Disruption ส่งผลให้การสื่อสารทั่วโลกเปลี่ยนแปลงจนทำให้ภูมิทัศน์สื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงตาม ท่ามกลางแฟลตอร์มใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก การนำเสนอข้อมูลข่าวสารมีรูปแบบใหม่และรวดเร็วมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อการดำเนินกิจการของสื่อวิทยุ อย่างไรก็ตาม ในสังคมชนบทสื่อวิทยุยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตในชุมชนเป็นหลัก

จากข้อมูลพบว่า วิทยุชุมชนของประเทศไทยในปัจจุบันมีรวมกันราว 3,930 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการและผู้รับฟังยังมีความต้องการในสถานีวิทยุชุมชนอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันก็ยังพบข้อมูลว่า วิทยุชุมชนหลายสถานียังคงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ขาดความน่าเชื่อถือ หลอกลวงผู้บริโภค ทำให้ผู้รับฟังหลงเชื่อและคล้อยตามได้ง่าย สร้างผลกระทบด้านลบตามมาเป็นจำนวนมาก

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หน่วยงานที่สนับสนุนการสร้างสื่อน้ำดีที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สู่สังคม เล็งเห็นความสำคัญในการมีอยู่ของสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นสื่อที่ยังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและประชาชนในชุมชน จึงจัดทำโครงการ “พัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพของสถานีวิทยุชุมน นักจัดรายการวิทยุ ผู้สื่อข่าวชุมชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ชุมชนมีบุคลากรที่มีความสามารถในการจัดการระบบสื่อสาร และเพื่อให้เกิดการนำเอาความคิด ประเด็น และข้อมูลจากพื้นที่มาผลิตสื่อที่เป็นข่าวสารที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ รวมถึงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการผลิตสื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นต่อไปยังชุมชนต่าง ๆ เป็นวงกว้าง โดยได้ดำเนินการจัดการอบรมพัฒนศักยภาพกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักจัดรายการวิทยุ ผู้สื่อข่าวชุมชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.ปัตตานี จ.ราชบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการตอบรับที่เป็นที่น่าพอใจจากทุกพื้นที่
 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าในเวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน ภาคกลาง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ในปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงของวิทยุชุมชนในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ประเด็นแรกจากการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ ๆ จำนวนมาก ประเด็นที่สอง ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดแฟลตฟอร์มใหม่ ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก อย่างไรก็ตามสังคมประเทศไทยโดยเฉพาะสังคมชนบทก็ยังมีความนิยมในการรับฟังวิทยุอยู่ค่อนข้างสูงเช่นกัน

เพราะฉะนั้น กิจการวิทยุก็ยังเดินต่อเนื่องไปได้ ส่วนวิทยุทางเลือก ซึ่งเดิมเราเรียกกันว่า วิทยุชุมชนที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 3,000 สถานีทั่วประเทศ ก็สะท้อนว่าวิทยุสำหรับสังคมไทยและสังคมชนบทก็ยังอยู่คู่กัน ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อกิจการวิทยุกระจายเสียงยังมีความสำคัญอยู่ และวันนี้ในสังคมชนบทเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟน ผู้สูงอายุหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่จึงต้องฟังวิทยุเป็นหลัก ประเด็นต่อมาเมื่อยังความสำคัญอยู่และจำเป็นที่จะต้องอยู่แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไร มิติของสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะกลไกหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถ้ามองจากมุมของ กสทช. ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์ก็จะพบว่า กสทช. พยายามที่จะหามาตรการต่าง ๆ มารองรับในหลาย ๆ ด้าน เพื่อปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ดร.ธนกร กล่าวว่า ในเรื่องของการผลิต Content ของสื่อวิทยุชุมชนก็ยังพบปัญหาเกิดขึ้นอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการโฆษณาอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้หลักของสถานีวิทยุชุมชน แต่ในขณะเดียวกัน บ่อยครั้งก็ได้พบข้อมูลว่า การโฆษณาต่าง ๆ เหล่านั้นมักจะทำผิดกฎหมาย เช่น โฆษณาเกินจริง สินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่มี อย. รับรอง ประเด็น Content ในลักษณะนี้ของวิทยุชุมชน จะเป็นช่องทางการหารายได้ที่ง่าย และบ่อยครั้งที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งทาง กสทช. ก็เชิญผู้ประกอบการวิทยุชุมชนไปอบรมและย้ำเตือนอยู่เสมอในการทำ Content ใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ กองทุนสื่อ เชื่อในพลังของ Content ถ้า Content ดี มีสาระ สื่อนั้นก็จะมีคนฟัง เพราะฉะนั้นต้องสร้าง Story ของท้องถิ่นให้มาเป็น Content ให้ได้

จุดยืนของกองทุนสื่อที่มีต่อเรื่องนี้และวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน คือเห็นความสำคัญของกิจการวิทยุ ว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ การพัฒนาสถานีหรือองค์กรต้นแบบที่จะเป็นแบบอย่างให้กับสถานีอื่น ๆ แล้วก็ใช้โมเดลของความเป็นต้นแบบเพื่อที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน ทางกองทุนสื่อ เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพสื่อวิทยุชุมชน ให้สามารถยกระดับมาตรฐานในการทำงานของวิทยุชุมชนให้เป็นมืออาชีพมากขึ้นได้ เครื่องมือหนึ่งที่ต้องการสร้าง คือ การเป็น Local Content Creator ที่จะมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ คือคนที่จะสามารถสร้างผลลัพธ์ผลผลิตให้กับสังคมได้อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นกองทุนฯ ก็มีความมุ่งหวังว่า โครงการนี้จะเกิดคู่มือมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงแนวทางที่จะใช้กำกับและฝึกกำกับกันเองในเครือข่ายวิทยุชุมชน เกิดหลักสูตรการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ทำงานด้านวิทยุชุมชน เกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการติดตามและเฝ้าระวังวิทยุชุมชนทั้งในระดับสถานีและในระดับเครือข่าย เกิดบทเรียนการกำกับดูแลกันเองของเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อที่จะขยายผลไการทำงานไปสู่สมาชิกสถานีอื่น ๆ เกิดช่องทางในการที่จะให้ผู้ฟังและประชาชนทั่วไปร้องเรียนสถานีได้ในกรณีที่เห็นสิ่งผิดปกติหรือไม่ถูกต้อง และสุดท้ายเราก็คาดหวังว่า วิทยุชุมชนจะเกิดการปรับตัวในการนำทักษะโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาปรับใช้กับการทำงาน เพื่อปรับตัวให้ทันกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปได้’ ดร.ธนกร กล่าว

นายอุทัย อัตถาพร นายกสมาคมเสริมสร้างพัฒนาชุมชนและสังคม เปิดเผยว่า ในอดีตที่ผ่านมา วิทยุชุมชน ได้ทำหน้าที่บริการชุมชน ทำโดยชุมชน เพื่อชุมชน ช่วยในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน สื่อสารข้อมูลข่าวสารให้กับชุมชน แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี โดย เน้นการนำปัญหาของชุมชน มาดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น วิทยุชุมชน จึงยังมีความสำคัญต่อชุมชน เพื่อสื่อสารภายในชุมชน และ สื่อสารเรื่องราวในชุมชนออกสู่บุคคลภายนอก ความท้าทายของวิทยุชุมชนในปัจจุบัน คือ รายได้ ที่ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ มีรายจ่าย มากกว่า รายรับ แต่การสื่อสาร ในชุมชน มีการปรับตัวมากขึ้น สามารถรับฟัง วิทยุ จาก มือถือได้ อยู่ต่างประเทศก็สามารถรับฟังวิทยุในชุมชนได้ วิทยุชุมชนเองต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคที่เปลี่ยนแปลง กับ การนำเสนอความเป็นท้องถิ่นอย่างมืออาชีพ คือความอยู่รอดของวิทยุชุมชน

นายสุเทพ วิไลเลิศ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน เปิดเผยว่า วิทยุชุมชนเกิด มาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ ในปี 2567 โดยใช้ระบบดิจิตอล ซึ่งมีข้อดี ในการส่งสัญญาณ โดยไม่ต้องใช้เครื่องส่ง แต่ใช้ระบบผ่านโครงข่ายดิจิตอล ตนมองว่า ในยุคปัจจุบัน การพัฒนาการของสื่อวิทยุชุมชน กับ Gobal Platfrom ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ จึงจำเป็นที่หลายภาคส่วนจะต้องผนึกกำลังกัน ตั้งแต่องค์กรกำกับดูแล ผู้ประกอบการ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาแนวทางความร่วมมือว่าจะทำอย่างไร ที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้สื่อวิทยุชุมชนเดินหน้าต่อไปได้

จากการดำเนินงานของโครงการ “พัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิทยุชุมชน” พบว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ Digital Disruption กลุ่มสถานีวิทยุชุมชน นักจัดรายการวิทยุ และผู้สื่อข่าวชุมชน มีความพยายามอย่างยิ่งในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยไม่ลืมบาทบาทหน้าที่ของการเป็นวิทยุชุมชนที่ต้องทำหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่ด้วยการรายงานข้อมูลข่าวสารในชุมชน เป็นช่องทางการสื่อสารให้กับคนในชุมชนและคนนอกชุมชน รวมทั้งบทบาทในการสร้างความรู้ ติดอาวุธทางปัญญา เพื่อทำให้ชุมชนมีเกราะกำบัง และสามารถรับมือกับสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้

อย่างไรก็ตามความท้าทายที่เกิดขึ้นในการพัฒนาวิทยุชุมชนก็เป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งองค์กรกำกับดูแล ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนและพัฒนางานวิทยุชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถยืนระยะได้อย่างยาวนานท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล























กำลังโหลดความคิดเห็น