xs
xsm
sm
md
lg

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แสดงผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม “เซรั่มกะหล่ำปลี” ภายใต้แบรนด์ Kaalum (กะหล่ำ) ในงาน TRIUP FAIR 2023 มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 : TRIUP FAIR 2023  มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และนวัตกรรม จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (สกสว.) ภายใต้แนวคิด “Journey to Impact : เส้นทางจากงานวิจัยนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่มุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแพทย์ และสุขภาพเกษตรและอาหารมูลค่าสูง Net Zero emission วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมการเชื่อมโยงและต่อยอดธุรกิจ (Business matching) พร้อมโอกาสในการขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานในระบบนิเวศส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม 

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ธนพล ชอบเป็นไทย ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และรักษาการผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน นักวิจัยจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับเชิญให้นำผลงาน “เซรั่มกะหล่ำปลี” (Cabbage Serum) เป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ต่อยอดมาจากแผ่นเจลเย็นกะหล่ำปลีแก้ปวด ที่ได้รับรางวัลในการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2019 ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และได้รับการพิจารณาอนุมัติจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมแสดงในงานมหกรรมฯ ณ ชั้น 5 รอยัลพารากอน ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

สำหรับที่มาของงานวิจัยสู่นวัตกรรม มาจาก “ข้อเข่า” เป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวสะดวกสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ หากข้อเข่ามีปัญหาหรือมีอาการปวดขึ้นมาจะทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ส่งผลกระทบมากมายต่อคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่า ปวดขา เกิดจาก “โรคข้อเข่าเสื่อม” มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดย โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเสื่อมสภาพและสึกหรอ กระดูกบริเวณข้อต่อจะเสียดสีกันจนเกิดการเสื่อมสภาพของเนื้อกระดูก และส่งผลให้ปวดข้อเข่า ปวดขาเวลาเดินหรือปวดขาเวลายืนนานๆ จนทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เหมือนปกติ

จากปัญหาดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนพล ชอบเป็นไทย ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และรักษาการผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เริ่มต้นหาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการลดปวดสำหรับคนไข้ แล้วพบว่าในพืชผักพื้นบ้านของไทยอย่าง “กะหล่ำปลี” มีสารหลายชนิดที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทำวิจัยในกลุ่มคนไข้ผู้มีอาการ และมีการประเมินประสิทธิผลว่าสามารถช่วยลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี ต่อมา ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เห็นว่าควรพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวไปสู่ผลิตภัณฑ์บรรเทาปวดจากสารสกัดกะหล่ำปลี โดยสกัดจากกะหล่ำปลีมาอยู่ในรูปแบบเซรั่มหรือสเปรย์ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย ส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ระดับลึกกว่ารูปแบบของแผ่นประคบ ไม่เกิดข้อจำกัดกับพื้นที่ใช้งานและผู้บริโภคมีความคุ้นชินกับผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้มากกว่า ซึ่งจุดประสงค์ในการใช้เซรั่มบรรเทาปวดจากสารสกัดกะหล่ำปลีนี้ มุ่งเน้นเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อแบบเข้มข้น สำหรับกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ที่มักปวดบริเวณคอ บ่า ไหล่ มือหรือแขน

ในปัจจุบันนั้นการรักษาอาการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อ มีได้หลายวิธี มีทั้งการใช้ยารับประทานแก้ปวดอักเสบและการใช้ยาทาภายนอก ซึ่งการใช้ยาแต่ละชนิดก็ย่อมจะมีผลแทรกซ้อนที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละตัวยา ไม่มากก็น้อย สำหรับแผ่นแปะแก้อาการปวดอักเสบกล้ามเนื้อนั้นมีทั้งแบบร้อนและเย็น ซึ่งใช้หลักการใช้ความร้อนบรรเทาอาการปวดโดยทั่วไป ไม่ได้มีตัวยาที่ลดการอักเสบชัดเจน ส่วนยาที่ใช้ภายนอกแบบทาที่มีตัวยาต้านการอักเสบด้วยนั้นก็มักจะมีราคาแพงและหมดฤทธิ์แก้ปวดเร็ว และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน การใช้สมุนไพรต่างๆ ในการรักษาอาการปวดนั้นก็มีอยู่หลายชนิดเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ กะหล่ำปลีที่มีการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดคัดตึงเต้านมในคุณแม่หลังคลอดผู้ให้นมบุตรที่ใช้ได้ผลดีและมีงานวิจัยต่าง ๆ รองรับมากมายในต่างประเทศ เนื่องจากในกะหล่ำปลีนั้นมีสาร Glutamine และ Anthocyanin ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในปริมาณที่สูงและจะออกฤทธิ์ได้ดีในอุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยทดลองในต่างประเทศโดยนำกะหล่ำปลีแช่เย็นมาใช้ประคบในคนไข้ที่มีอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อมซึ่งใช้ได้ผลดีเท่ากับการใช้ยาทาแก้ปวดอักเสบจึงเป็นแนวคิดที่มาของการทำนวัตกรรมแผ่นเจลกะหล่ำปลีแก้ปวด

ถึงแม้ว่ามีงานวิจัยมากมายที่รองรับถึงประสิทธิภาพของกะหล่ำปลีแช่เย็นในการลดอาการปวดอักเสบจากข้อเข่าเสื่อมก็ยังมีความสงสัยถึงการลดปวดว่ามาจากความเย็นหรือสารในกะหล่ำปลี จึงได้มีการวิจัยทดลองเปรียบเทียบระหว่างกะหล่ำปลีแช่เย็นกับเจลประคบเย็นในคนไข้ที่มีอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพการลดปวดของกะหล่ำปลีแช่เย็นที่มากกว่าหากผู้ป่วยใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 เดือน ต่อมาได้มีการพัฒนาโครงการนวัตกรรมแผ่นเจลเย็นกะหล่ำปลีแก้ปวด ซึ่งเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ที่ได้รับรางวัลในการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2019 ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี แผ่นเจลนี้มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ สารสกัดจากใบกะหล่ำปลี ใบกะหล่ำปลีตากแห้ง ว่านหางจระเข้ มิ้นท์และไฮโดรเจล บรรเทาปวดโดยใช้คุณสมบัติของสาร Anthocyanins และ สาร Phytoestrogens ในสารสกัดกะหล่ำปลีที่ถูกกระตุ้นด้วยแผ่นให้ความเย็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อในระดับที่อยู่ใกล้ผิวหนังและกลุ่มผู้มีปัญหาจากอาการข้อเข่าเสื่อม โดยได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ อนุสิทธิบัตรเลขที่ 18834 ออกให้ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564

คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เซรั่มจากสารสกัดกะหล่ำปลีม่วงเข้มข้นจากธรรมชาติ ไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ปราศจากสารกันเสีย ช่วยบรรเทาปวดโดยใช้คุณสมบัติของสาร Anthocyanins ในกะหล่ำปลีที่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความเย็นจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อในระดับที่อยู่ใกล้ผิวหนังและจากงานวิจัยเหมาะกับกลุ่มผู้มีปัญหาจากอาการข้อเข่าเสื่อม รวมถึงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ปรับสภาพผิวแห้งกร้านให้เนียนนุ่ม สรรพคุณ มีคุณสมบัติลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (จากงานวิจัย) อีกทั้งช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ท้ายสุดการเข้าร่วมงาน TRIUP FAIR 2023  มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และนวัตกรรม ได้รับความสนใจอย่างมาก ตรงกับวัตถุประสงค์ เพื่อโอกาสในการขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานในระบบนิเวศส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม  

















กำลังโหลดความคิดเห็น