xs
xsm
sm
md
lg

สสส เดินหน้าปั้นนักสร้างสุของค์กรภาครัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดเวทีสาธารณะ งานบุคลากรภาครัฐวิถีใหม่สู่การออกแบบองค์กรสุขภาวะ และปาฐกถาความจำเป็นในการทำงานสุขภาวะภาครัฐของ สสส. ว่า การสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ภายใต้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ “Happy Workplace” เป็น 1 ในนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง มีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะนำไปใช้เป็นนโยบายองค์กร กว่า 10,000 องค์กร เกิดนักสร้างสุของค์กร กว่า 8,800 คน ขณะนี้ สสส. สานพลัง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) และสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาหลักสูตรสุขภาวะของนักบริหารภาครัฐ สนับสนุนบุคลากรภาครัฐที่มีกำลังคนกว่า 3 ล้านคน ให้ปฏิบัติราชการรองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความผูกพันในองค์กร”

“วัยแรงงานมีอัตราการป่วยจากโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โรคจากการทำงาน เครียด หมดไฟ ช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร การพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรภาครัฐ จึงเป็นความท้าทายในการทำงานที่จะช่วยชะลอ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐในระยะยาว ด้วยกลไกการสร้างสุขภาวะ 4 มิติ เสริมทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ หลักสูตรสุขภาวะของนักบริหารภาครัฐ จะนำไปบรรจุในแผนปฏิบัติงานในรัฐสภา กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดอบรม “นักสร้างสุของค์กรภาครัฐ (นสอ.)” เป็นพี่เลี้ยงออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0 ที่ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงระดับองค์กร การจัดงานครั้งนี้ มีหน่วยงานเข้าร่วมกว่า 48 องค์กร พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์เป้าหมายในการทำงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรภาครัฐ ที่คำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรภาครัฐทุกกลุ่มวัย เสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี” ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้จัดการโครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความผูกพันในองค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐ 58 องค์กร พบปัญหาสำคัญคือ ความต้องการสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรมเครื่องมือ/วิธีการ ผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน การสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ภายในงานได้สานพลังภาคีเครือข่ายองค์กรแห่งความสุขจัดนิทรรศการในธีม “Journey of Happy Workplace : เส้นทางแห่งความสุขที่เดินร่วมกัน” นำเสนอนวัตกรรมที่นำไปสู่สร้างองค์กรสุขภาวะภาครัฐ บทเรียนการทำงาน แนวทางขับเคลื่อน “การสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรภาครัฐ” ในยุคการทำงานวิถีใหม่ ทำงานมีประสิทธิภาพ คล่องตัว ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
 
“การพัฒนาสู่องค์กรสุขภาวะภาครัฐ 8 ขั้นตอน 1.วัดระดับความสุขในองค์กร 2.นำเสนอปัญหาผู้บริหาร/กำหนดนโยบาย 3.สร้างทีมงานรับผิดชอบ 4.ออกแบบวิธีการที่เสริมสร้างและพัฒนาความผาสุกและความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กร ทั้งมิติการทำงาน ตัวเอง สังคม และเศรษฐกิจ 5.ดำเนินกิจกรรมสร้างสุขภาวะที่ดีต่อองค์กร สอดคล้องตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท และมีเจตนาที่ดี 6.สรุปบทเรียน 7.พัฒนาจุดแข็ง ก้าวสู่องค์กรสุขภาวะต้นแบบ 8.สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างสุขภาวะขององค์กรให้ยั่งยืนตลอดไป” ดร.กิตติพจน์ กล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น