เป็นอีกครั้งที่สามารถพูดได้เต็มปาก ด้วยความภาคภูมิใจว่า
....ละครไทยสามารถเอาชนะซีรีส์เกาหลีได้....
นั่นคือความสำเร็จของ “มาตาลดา” ที่หน้าละครดูเหมือนจะเล็กๆ แต่สามารถสร้างสถิติใหม่ให้กับ ช่อง 3 ได้อย่างน่าทึ่ง
เรียกว่ายิ่งฉาย คะแนนยิ่งนำ
โดยในตอนที่ออกอากาศไปเมื่อ วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน สามารถเรียกเรตติ้งไปได้ถึง 3.3 (ถ้านับเฉาพะใน กทม.ได้ไปถึง 6.53 ยอดดูสด 3.8 แสนคน และย้อนหลังอีกกว่า 10.6 ล้านวิว )
และใน Ep. ถัดมา ออกอากาศไปเมื่อ วันอังคารที่ 27 มิถุนายน ตัวเลของเรตติ้งทั่วประเทศก็ขยับขึ้นมาที่ 3.3
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยกระแสการพูดถึง และการชื่นชมแบบปากต่อปาก ยังทำให้ “มาตาลดา” กลายเป็นคอนเทนต์ละครที่พุ่งขึ้นอันดับ 1 ของ Netflix แบบแซงหน้าซีส์เกาหลีไปแบบสบายๆ
ความดีงามของละครเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาเคมีของคู่พระ- นาง “เจมส์ – จิรายุ” และ “เต้ย – จรินทร์พร” ที่หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง หลังจากที่เคยแสดงคู่กันในภาพยนตร์ “Timeline จดหมาย ความทรงจำ” เมื่อปี 2557
“เป็นหนึ่ง” หมอหนุ่มผู้เย็นชา และดูเหมือนจะไม่ใคร่ยินดียินร้ายกับใครๆ ซักเท่าไรนัก ในโลกของเขา จึงแลดูเงียบเหงา และอ้างว้าง ในขณะที่ “มาตา” คือแสงสว่าง คือความสดใส น่ารัก และเข้าใจโลก
ความน่ารัก น่าเอ็นดูของทั้งคู่ ทำให้คนดูตกหลุมรักได้ไม่ยาก บวกกับเนื้อหาละครในแนวฟีลกู๊ด ที่ดูแล้วสามารถฮีลใจใครต่อใครได้เป็นอย่างดี ทำให้ละครเรื่องนี้ กลายเป็นละครม้ามืด ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
และที่สำคัญการพูดถึงในครั้งนี้ ไม่ได้เน้นย้ำเฉพาะคู่พระ- นาง อย่าง เจมส์ จิ กับ เต้ย – จรินทร์พร เท่านั้น แต่คำชื่นชมทั้งหลายทั้งปวง ยังพุ่งตรงไปที่อีกหนึ่งนักแสดง อย่าง “ชาย – ชาตโยดม” เป็นเสียงเดียวกัน
บทบาทของ “เกริกพล” หรือ “เจ๊เกรซ” ที่ถูกถ่ายทอดโดยนักแสดงฝีมือระดับเทพ อย่าง ชาย-ชาตโยดม นั้น หากเป็นในภาพยนตร์ หรือซีรีส์ต่างประเทศ ต้องให้เกียรติในฐานะนักแสดงนำด้วยซ้ำ แต่น่าเสียดายที่ในบ้านเรา มักจะให้ค่าว่าเป็นนักแสดงสมทบ เพราะส่วนใหญ่สถาบันการมอบรางวัลต่างๆ มักจะจำกัดคำว่านักแสดงนำไว้เพียงแค่พระเอก-นางเอก เท่านั้น
แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะเมื่อครั้งที่ “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” พลิกบทบาทมาแสดงเป็นพ่อที่เป็น LGBTQ ในละคร “พระจันทร์สีรุ้ง” ครานั้น ก็ฟาดรางวัลนักแสดงนำชายไปแทบทุกสถาบันเหมือนกัน
หวังใจว่าการแสดงของ ชาย – ชายโยดม ก็น่าจะได้รับเกียรตินั้นเฉกเช่นเดียวกัน
“เกริกพล” หรือ “เจ๊เกรซ” พ่อผู้เป็น LGBTQ ของ “มาตา” ถ้านับจากน้ำหนักของตัวละคร ต้องถือว่าเป็นตัวเดินเรื่องหลักที่ทำให้เกิดปมปัญหาต่างๆ ในเรื่อง และแน่นอนที่สุด บทนี้จึงต้องแบกรับเรื่องราวแทบจะทั้งหมดไว้
ไม่ต่างจากบทของ “อารักษ์” ในละคร “พระจันทร์สีรุ้ง” ที่สวมบทโดย พงษ์พัฒน์ นั่นเอง
ส่วนใหญ่ในละครไทย มักจะให้ค่าตัวละครที่เป็น LGBTQ ในฐานะตัวตลกในเรื่อง ที่ออกมาขายขำ ทำเสียงกรี๊ดกร๊าด กรีดกรายด้วยจริตกิริยาที่เกินหญิง และก็มักจะโดนตัวละครอื่นๆ บูลลี่อยู่ตลอด
แต่ “พระจันทร์สีรุ้ง” กลับผลักดันให้ตัวละคร LGBTQ ขึ้นมาเป็นตัวละครหลัก ที่ไม่ขายขำ แต่ขายความดรามา ขายฝีมือการแสดง ได้อย่างเลอค่า และสง่างาม
“มาตาลดา” ก็ทำนองเดียวกัน บทบาทของ “เจ๊เกรซ” เรียกว่าโผล่ออกมาครั้งใด ก็สามารถขโมยซีนได้ทุกครั้ง ชาย เล่นบทนี้ได้อย่างละเอียด พอเหมาะพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป เล่นด้วยอินเนอร์ แสดงความรู้สึกผ่านทางแววตา และภาษากาย โดยที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องพูดด้วยซ้ำ
ในชีวิตจริง ที่เป็นชายชาตรีทุกกระเบียดนิ้ว มีครอบครัว และเป็นคุณพ่อลูกสอง แต่ ชาย สามารถพาตัวเองเข้าไปสู่บทคุณพ่อตัวแม่ของ “เจ๊เกรซ” ด้วยเชิงชั้นการแสดง ที่ลุ่มลึก มีมิติ อย่างที่สามารถสะกดทุกสายตาของคนดูให้อินและเชื่อในตัวละครตัวนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ
ต้องชื่นชมเลยว่า นับวันฝีไม้ลายมือทางการแสดงของ ชาย ก็ยิ่งคมขึ้นๆ แม้จะต้องรับบทเป็นตัวละครที่เป็น LGBTQ เหมือนกัน แต่ก็สามารถเล่นให้แตกต่างได้ตามคาแรกเตอร์ของแต่ละตัวละคร
ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “กองทัพ” เกย์หนุ่มเพื่อนของนางเอก ในละคร “รักเล่ห์เพทุบาย”
“เจ๊เมี่ยง” โมเดลลิ่งสุดแสบ คู่ปรับของนางเอก ในละคร “มาดามดัน”
บทบาทการแสดงที่แม้จะไมได้ถูกจัดวางอยู่ในฐานะนักแสดงนำ แต่ก็ไม่เคยถูกกลืน ไม่เคยจมหาย ตรงกันข้าม กลับสามารถทำให้คนดูจำตัวละครตัวนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
“เจ๊เกรซ” เป็นอีกหนึ่งผลงานการแสดงระดับมาสเตอร์พีซของนักแสดงวัย 46 ที่ใช้เวลาในวงการมานานถึง 24 ปี เพื่อพัฒนาตัวเอง โดยไม่เคยจำกัดตัวเองกับบทบาทใดบทบาทหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญกับทุกบทบาทที่แสดง และสามารถเข้าถึงตัวละครตัวนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง
บางเรื่องก็สามารถทำให้คนเกลียดเข้าไส้
ขณะที่บางเรื่อง ก็ทำเอาคนดูน้ำตาท่วมด้วยความสงสารจับใจ
รอลุ้นโผรางวัลในต้นปีหน้าได้เลย ว่าบท “เจ๊เกรซ” จะส่งให้ ชาย – ชาตโยดม ฟาดรางวัลไปกี่รางวัล !!???
ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 กรกฏาคม 2566