xs
xsm
sm
md
lg

“หมอพรทิพย์” เปิดใจในมุมส.ว. เคารพ “ก้าวไกล” แต่จะโหวตให้ “ทิม พิธา” หรือไม่ ต้องมาคุยกัน ยันทำงานอยู่บนธรรมะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 16 พ.ค. 66 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดการจับขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล โดยสัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาพร้อม ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา

หลังพูดคุยกันไป จากนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นมั้ย?
ดร.ปริญญา : หลักการระบบรัฐสภา ประชาชนไม่ได้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรง เขาเลือกนายกฯ ผ่านการเลือกส.ส. แล้วส.ส. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มารวมกันเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก แล้วก็เลือกคนที่เขาหาเสียงไว้ว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ ถ้าหลักการนี้ถ้าใครรวมเสียงข้างมากได้ เขาก็มีสิทธิ์ได้เป็นและตั้งรัฐบาล ปรากฏว่าในรัฐธรรมนูญของเรา บทเฉพาะการเขาให้ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงอย่างส.ส.มาโหวตด้วย

เฉพาะการหมายถึงอะไร?
ดร.ปริญญา : รัฐธรรมนูญมีบทสุดท้าย บทเฉพาะการ ใช้ชั่วคราว แต่ชั่วคราวของเขานานหน่อย 5 ปีวาระของส.ว. อย่างคุณหญิงจะมีวาระถึง 11 พ.ค. ปีหน้า ระหว่างนี้ถ้าจะมีการเลือกนายกฯ อีกก็เป็นการโหวตร่วมกัน ทีนี้การที่ประชาชนเลือกนายกฯ ผ่านส.ส.ก็เลยทำไม่ได้ ถ้าจะทำได้ต้องมีเสียงถึง 376 ปกติแล้วการตั้งรัฐบาลของระบบรัฐสภา ครึ่งนึงไม่มีเสถียรภาพ คนขาดประชุม โดดประชุม ต้องมีเกินมา 20 30 อย่าง 500 ต้องมีโดดมา 270 280 ทีนี้เขาตั้งได้ 310 ยังเป็นนายกฯ ไม่ได้ เพราะว่าต้องถึง 376 ถ้าหากส.ว.บอกว่าเราขอปิดสวิตซ์ ไปรวมกันแล้วกันให้ได้ 376 ก็จะเกิดปัญหา 

เพราะว่าในระบบรัฐสภา ถ้ามีพรรคใดตั้งได้คะแนนเกินครึ่งก็จะตั้งเป็นรัฐบาลผสม พอผสมปุ๊บ นโยบายที่หาเสียงไว้ก็จะแตกต่างกัน มันผสมไม่ได้ ตอนนี้เข้าใจว่าที่นโยบายพอไปกันได้ก็ได้แล้ว มากกว่านี้มันไปกันไม่ได้ แล้วนโยบายที่ตามมาฝ่ายค้านจะเหลือน้อยมาก จนถ่วงดุลรัฐบาลไม่ได้ ผมว่าที่มีการเรียกร้องถ้าเขารวมเสียงข้างมากได้แล้ว ส.ว.ก็อนุโลมตามเสียงประชาชนได้มั้ย เสนอร่างพรบ.เขาก็ผ่านได้ พรบ.งบประมาณประจำปีเขาก็ผ่านได้ ลงมติไม่ไว้วางใจเขาก็สู้ได้ เพราะมีเสียง 310 แล้ว ส.ว.บทบาทถ้าเป็นห่วงบ้านเมือง ท่านช่วยได้เลยตอนที่สภาผู้แทนราษฎรเกิดเขาตั้งรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งไม่ได้ ตรงนี้ท่านช่วยได้ แต่ตอนนี้เกินครึ่งไปแล้ว เสียงของประชาชนจึงอยากให้ท่านช่วยอนุโลมตามที่ประชาชนเขาโหวตกันเถอะ

ส.ว.ที่มีอยู่ 5 ปี เป็นไปได้มั้ยว่าเป็นกับดักชั้นดีของรัฐบาลชุดเก่า?
ดร.ยุทธพร : ด้วยผลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้เกิดการแยกส่วนระหว่างเรื่องการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพอเลือกตั้งเสร็จแล้ว เกมในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นอีกเกมนึง ตรงนี้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่มาที่ไปรัฐธรรมนูญเลยบอกว่าถ้านักการเมืองขัดแย้ง ต้องให้มีส.ว.เข้ามาถ่วงดุลกัน ถ้านักการเมืองรวมกันได้เกิน 376 ก็ปิดสวิตซ์ส.ว.ได้ ซึ่ง ณ วันนี้ก็มีแนวคิดนี้เหมือนกันที่มีการเชิญชวนกันระหว่างพรรคร่วมกับก้าวไกล เพื่อไทยก็ชวนเหมือนกันว่ามาปิดสวิตซ์ส.ว.มั้ย ชวนภูมิใจไทย ชวนประชาธิปัตย์ แต่เป็นไปได้หรือไม่ก็ต้องดูกันต่อ 

แต่วันนี้ผมว่าอาจออกได้หลายทิศทาง บางท่านอาจไม่รับรองถ้ามีการเสนอชื่อคุณพิธา บางท่านอาจปิดสวิตซ์ตัวเอง งดออกเสียงแล้วกัน ให้เป็นเรื่องส.ส.ก็ว่ากันไป ถ้าปิดสวิตซ์แล้วไม่ถึง 376 มันก็เกิดรัฐบาลไม่ได้ ถ้าเราอยู่ในการเมืองในภาวะปกติ ตรงนี้เกิดรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว คือเกินกึ่งนึง 250 จาก 500 แต่ปรากฏว่าวันนี้ไม่ใช่แบบนั้น ต้องอาศัยเสียงที่ถึง 376 พอเป็นแบบนั้นมันเลยทำให้กลไกรัฐสภาบิดเบี้ยว ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชน เราอยู่ในภาวะที่เรียกว่าการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง คำถามต่อประสิทธิผลต่อระบบรัฐสภา สิ่งที่ประชาชนเทให้ฝ่ายประชาธิปไตย ก็เลยเป็นคำตอบที่เราเห็น ณ วันนี้ วันนี้ไปก็มีโอกาสออกหลายทาง เพราะไม่ได้ตรงไปตรงมา การเมืองไม่ได้เป็นเส้นตรง แล้วการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ก็ไม่ง่าย เขาต้องมีการเคลียร์มุ้งแต่ละมุ้งพรรคการเมืองด้วย วันนี้นอกจากเคลียร์ระดับพรรค ยังเคลียร์ในมุ้งด้วย

ล่าสุดคุณหญิงประกาศปิดสวิตซ์ตัวเอง?
คุณหญิงพรทิพย์ : ไม่ได้ประกาศค่ะ เผอิญไม่รู้ว่ามีใครตั้งประเด็นคุณรังสิมันต์ ถ้าถอยมาก็ต้องบอกว่าบังเอิญไม่ได้เป็นนักกฎหมายเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็จะมองแบบองค์รวม ตั้งแต่คราวที่แล้วแล้วว่าทำไมต้องมีบทเฉพาะการ เราต้องการนายกฯ เพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปให้สำเร็จ ฉะนั้นถามว่าเคยมีที่ไหนในโลกมั้ย ก็ไม่มี ณ ตอนนั้นเราถูกเลือกมาเพื่อให้ขับเคลื่อน

ไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาทำ?
คุณหญิงพรทิพย์ : ถ้าจำกันได้ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรก ก็เป็น 1 ใน 20 กว่าคนที่ยินดีให้ปิดซะ ไม่ต้องให้เลือก เพราะเราเห็นว่าหลักการไม่ควรมี สองเอาเข้ามาแล้วก็ไม่เห็นปฏิรูปได้

ดร.ปริญญา : จะถามอยู่เนี่ย ว่าที่เขาบอกว่ามีส.ว.ยกมือให้นายกฯ ปฏิรูปประเทศ แล้ว 4 ปีที่ผ่านมาเป็นไปตามวัตถุประสงค์มั้ย

คุณหญิงพรทิพย์ : ต้องบอกว่าเป็นการขับเคลื่อนโครงการปกติซะเยอะ แต่สิ่งใหญ่ๆ ที่เราอยากเห็น ประชาชนอยากเห็นคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มันไม่เดิน ก็เลยบอกว่าตั้งหลักการเอาไว้ ดังนั้นพอมามองภาพรวมการเลือกตั้งใหม่เราก็เห็นว่าทุกคนด่าๆ เราก็ถ้ามององค์รวมก็ไม่ควรมีส.ว.เลือกนายกฯ ต้องบอกว่าอาจารย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ก็เห็นด้วย พอมาเลือกตั้งผลเป็นอย่างนี้ นักวิชาการกลับหมดว่าให้ส.ว.เปลี่ยน มุมเราทำงานในมุมหลักการ ณ วันนี้มองว่ามันยังไม่ถึงจุดนั้น จู่ๆ จะมาเรียกให้เราพรทิพย์ตัดสินใจว่าต้องโหวตมันไม่ถูก เพราะโดยระบบคือไม่ควรมี แล้วจู่ๆ ทำไมเราจะเลือกคนที่ไม่รู้เลยว่าเขาจะทำอะไรบ้าง พรรคมั่นคงมั้ย ประเทศชาติจะล่มสลายมั้ย ย่อมต้องบอกว่ายังคงหลักการเดิม ไม่ได้จะไม่โหวตให้นะ

ท่านอื่นๆ มีการโทรมาคุยมั้ย?
คุณหญิงพรทิพย์ : ถ้าเรียนตรงๆ คนอื่นก็กังวลเหมือนกัน ว่าเราชอบนอกคอก (หัวเราะ) เคยคุยกับใครเขาก็ไม่พูดกับเรา เราพูดว่าทำไมสองลุงเขาต้องแยก ช่วยวิเคราะห์ให้หน่อย ทำไมวิธีแก้ต้องเป็นแบบนี้ ไม่มีใครคุยด้วยเลย

วันนี้ตอบไม่ได้ว่าจะปิดหรือไม่ปิด?
คุณหญิงพรทิพย์ : ยังคงปิด

แต่ถ้าถึงวันนั้น?
คุณหญิงพรทิพย์ : ค่อยว่ากันในสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่ะ

ปิดแค่วันนี้?
คุณหญิงพรทิพย์ : เป็นเหตุผลที่เราอธิบายไปเมื่อกี้ เราต้องมองในเชิงรวม ไม่ใช่กดดัน ยิ่งกดดันยิ่งไม่ทำ เพราะไม่ทำตามกระแสเด็ดขาด เรายังมองว่านายกฯ คนที่จะมา พรรครัฐบาลที่จะมี นโยบายที่จะทำ ต้องทำให้ประเทศชาติรอด ไม่ใช่กลับไปเหมือนเดิม เราก็เห็นอยู่แล้วว่านักการเมืองไม่ว่าจะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติก็เหมือนเดิม คล้ายๆ อย่างนี้ค่ะ

มุมฝั่งคุณพิธาหรือก้าวไกล ก็เหมือนตัดสินจากประชาชนเป็นฉันทามติ ได้มาขนาดนี้แล้ว เขาก็ถามว่าได้มั้ยล่ะ เพราะเขาถูกคัดเลือกมาจากประชาชน ส.ว.อาจเป็นแค่แรงผลักให้หน่อยได้มั้ย?
คุณหญิงพรทิพย์ : เบื้องต้น การที่คุณพิธาหรือพรรคก้าวไกลได้เคารพนะ และเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีมากของประเทศไทย จะเป็นการเมืองแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้นายทุนพรรค แต่การที่จะไปถึงวันนั้นแล้วจะโหวตได้มั้ย ยังตอบไม่ได้ เพราะนโยบาย 10 กว่าข้อ ไม่ใช่ว่าเรารับได้หมด แต่คิดว่าส.ว.บางท่านอาจเห็นด้วย ถามว่าเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ต้องยอมรับว่ามันคิดคนละแนว เราทำอยู่บนธรรมะ ไม่งั้นคงอยู่ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ ธรรมะกับความมั่นคงของแผ่นดินคือสถาบันพระมหากษัตริย์มันชัด ดังนั้นการที่เขาไม่ค่อยชัดตรงนี้ ถามว่าไม่ค่อยชัดเพราะอะไร ก็ดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นแต่ละคน เรารู้สึกว่ายังไงเราก็มีหน้าที่ทำให้ประเทศชาติอยู่รอด แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโหวตหรือไม่โหวตค่ะ ขอดูความชัด จะเห็นว่าดีเบตครั้งสุดท้าย เปลี่ยน ยกเลิก แก้ไข อะไรประมาณนี้

ดร.ปริญญา : ถ้าจะพูดไป คนที่ 310 คือพรรคเป็นธรรม เขาได้ 152 ก็แปลว่าพรรคก้าวไกลเขาต้องการตั้งรัฐบาล พรรคที่มาร่วมกันเป็นรัฐบาลใหม่ จะเป็นได้ก็ต่อเมื่อคุณพิธาได้รับการโหวต ได้เสียงมากกว่ากึ่งนึงคือ 376 ของรัฐสภา ซึ่งตอนนี้ขาด 66 ก็แปลว่าตอนนี้ต้องหาอีก 66 เสียง ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ 60 วันที่ผ่านมา เขาหาเสียงกับผู้เลือกตั้งคือโหวตเตอร์ ปรากฏว่าผลออกมาพรรคก้าวไกลได้ส.ส.มากสุด มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ผมว่าตอนนี้ถึงรอบต่อไปหาเสียงในรอบนี้ หาเสียงกับผู้เลือกนายกฯ ต่อ คือส.ส.กับส.ว. เขามีส.ส. 310 ผมคิดว่าส่วนนึงเขาก็เล็งมาที่ส.ส.ด้วย พรรคบางพรรคจะถูกมองว่ามีโอกาส เช่นประชาธิปัตย์ เขาก็สามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นที่เหลือเชื่อว่านี่ไม่ใช่การเลือกตัวบุคคลหรือคุณพิธาอะไรก็แล้วแต่ 

แต่คือการโหวตเพื่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย ถ้าพรรคใดก็แล้วแต่ได้เสียงข้างมาก จะมีสิทธิ์ตั้งพรรครัฐบาล นี่คือการโหวตให้หลักการนี้ และต้องมีอยู่ ไม่ว่าส.ว.จะคิดอย่างไร ถ้าหากพรรคก้าวไกลเขาสามารถหาเสียงกับส.ส.ที่เหลืออยู่ แปลว่า 66 ไม่ได้จะมาพึ่งส.ว.อย่างเดียว ส.ส.ส่วนนึงอาจมาด้วย ส่วนส.ว.ผมเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลต้องไปหาเสียงกับส.ว. ผมคิดว่ากรณีคุณหญิงบอกว่าขอฟังก่อนว่าเป็นยังไง แสดงว่าพรรคก้าวไกลก็ต้องมาคุยกับคุณหญิง เหมือนทำโรดโชว์ มีแผนออกมาว่าจะทำยังไง ถ้าพูดให้เห็นภาพ นี่คือการหาเสียงรอบสอง รอบแรกกับประชาชนจบไปแล้ว รอบสองคือส.ส.กับส.ว. แล้วมีเวลาเท่ากันด้วยนะ อย่างบังเอิญ เลือกตั้ง 60 วัน คราวนี้ 60 วันโดยประมาณ ง่ายๆ คือชนะการเลือกตั้งกับประชาชนมาแล้ว รอบต่อไปต้องมาชนะใจของส.ส.ที่เหลือกับส.ว. ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ยากด้วยนะ เพราะส.ว.มี 250 ต้องการ 66 สมมติได้ประชาธิปัตย์มา 20 เหลือแค่ 46 แล้ว 46 มีส.ว. 23 คนที่ยกมือให้กับการปิดสวิตซ์ส.ว.มาแล้ว ก็เท่ากับว่าขาดอีก 23 ทีนี้เป็นกลยุทธ์พรรคก้าวไกลที่ต้องทำกันต่อ

ล่าสุดเว็บไซต์ไทยโพสต์โดยคุณเปลว สีเงิน โพสต์เอาไว้ค่อนข้างยาวในนี้พูดคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล บทความอันนึงที่เขียนไว้คือระวังนะจะเป็นพิธาทึกทักฝ่ายเดียว พิธานั้นจะว่าไป เหมือนพระบวชใหม่ในโบสถ์การเมือง ยังไม่แตกฉานบาลี จนรู้วิธีเลี่ยงอาบัติในการฉันมาม่า ผิดกับเพื่อไทย แก่พรรษาถึงขั้นแตกลายงา อย่าว่าแต่มาม่าเลย ซุปรังนกเขาก็ยังมีวิธีพลิกแพลงฉันจากอาหารให้กลายเป็นโอสถ แล้วบอกว่าเมื่อวานนี้ ไม่ว่าคุณอุ๊งอิ๊ง เศรษฐา ชลน่าน นั่งแถลงข่าว เขายังไม่เห็นคำว่าจะมีการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เขาแค่บอกว่าจะไม่มีการตั้งรัฐบาลแข่ง แล้วบอกว่ามีโอกาสที่เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลเอง?
ดร.ปริญญา : เขาบอกว่าเพื่อไทยจะไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง โดยให้ก้าวไกลได้ตั้งรัฐบาลก่อน ก็แปลว่าหากแต่งตั้งไม่สำเร็จ เช่นอีก 66 ไม่มา ส.ว.งดออกเสียง นี่แหละครับ ก็จะกลายเป็นสิทธิอันดับสองของเพื่อไทย

หลายคนมอง ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นคุณเปลวสีเงินนะ แต่มีหลายคนมองว่าเป็นการเสี้ยมให้สองพรรคแตกกันหรือเปล่า?
ดร.ยุทธพร : จะเสี้ยมหรือไม่ ไม่มีใครรู้ได้ แต่แน่ๆ คือหลักการเราต้องยืนก่อนว่าพรรคที่เป็นอันดับหนึ่งเขามีความชอบธรรม แต่ความเป็นไปได้อีกเรื่องนึง เมื่อวานอ.ปริญญาบอกว่าเมื่อประชาชนให้ฉันทามติมาแล้ว ส.ว.ต้องฟัง จะเอาตรงนี้เป็นเสียงกดดันส.ว. ผมยังพูดท้ายๆ ออนไลน์ว่าการเมืองคือเรื่องของการแสวงหามิตร การเมืองหรือประชาธิปไตยที่ดี ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย แล้ววันนี้ในสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกตั้งเข้ามา ไม่ได้มีพรรคเดียว มีหลากหลายพรรค มีทั้งมุมขั้วอุดมการณ์มากมาย ดังนั้นการเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ให้สังคมเกิดความขัดแย้ง เสียงข้างมากต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย ณ วันนี้ประชาชนหลายคนก็เกิดคำถามเหมือนกัน ว่านี่คือการเลือกตั้งพิสดารหรือเปล่า เพราะหาเสียงกับประชาชนรอบนึงเสร็จ ต้องมาหาเสียงส.ว. และส.ส.อีกครั้งนึง ลุ้นผลการจัดตั้งรัฐบาล 

ตรงนั้นเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ 60 ที่ทำให้กลไกระบบรัฐสภาบิดเบี้ยวแบบนี้โอกาสพลิกไปอีกหลายรูปแบบก็เป็นไปได้ วันนี้จึงมีอีกสูตรนึง คือพรรคเพื่อไทยอาจเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตรงนี้ถ้าไปดูแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยคือพรรคเพื่อไทยยืนยันหลักการว่าพรรคอันดับหนึ่งมีความชอบธรรม วันนี้เขายอมรับพรรคก้าวไกล แต่กติกาตรงนี้ถ้าวันใดวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งบ้างล่ะ พรรคก้าวไกลก็ต้องยอมรับในหลักการว่ามีความชอบธรรมเช่นเดียวกัน แล้วส.ว.เมื่อมีการสัมภาษณ์แกนนำ หรือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่าให้เป็นหน้าที่พรรคแกนหลักอย่างก้าวไกลไปพูดคุยกับส.ว. นี่คืออาจเป็นเกมที่ทำให้พลิกได้ หลายคนบอกว่าถ้าพลิกตรงนี้จะส่งผลต่อเพื่อไทยมั้ย จะเกิดการพิพากษาหรือเปล่า จะเหมือนบางพรรคที่ไม่ฟังเสียงประชาชน มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอกครับ 

คนเลือกเพื่อไทยคือเลือกเพื่อไทยอยู่แล้วเขาลงคะแนนให้เพื่อไทย ไม่ได้ลงให้ก้าวไกล เพียงแต่พอมารวมกันเป็นขั้วอุดมการณ์เดียวกันเกิน 250 ณ ตอนนี้ ที่สำคัญถ้าวันนึงเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนหลักในการจัดตั้งแทนก็ไม่ได้เสียหาย เพราะเจตจำนงเพื่อไทยก็เหมือนก้าวไกล เขาไม่เอาสองลุงก็ว่ากันไป นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพื่อไทย ที่เขาแพ้เลือกตั้ง ไม่ได้อันดับที่หนึ่ง 20 ปีเขาชนะมาตลอด นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ที่หนึ่ง แล้วฐานสนับสนุนเขาจะคิดยังไง แม้แต่การปราศรัยปิดเวที ที่คุณณัฐวุฒิพูดถึงเรื่องแทงข้างหลังบ้างอะไรบ้าง มันไม่ได้ส่งผลต่อฐานพรรคเพื่อไทยถ้าวันนึงจะพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำ และอย่างที่คุยเมื่อวาน การเมืองมีพรรคเดียวกันแต่คนละพวก พวกเดียวกันแต่คนละพรรค ก็สะท้อนให้เห็นภาพมุ้งการเมืองแต่ละพรรคมีความสำคัญไม่น้อย วันนี้พรรคก้าวไกลอาจเคลียร์ระดับพรรคได้ แต่ระดับมุ้งปัญหาใหญ่ของเขาเหมือนกัน จะเคลียร์ได้หรือไม่ สุดท้ายแล้วการเมืองกับประชาธิปไตยต้องไปด้วยกันและสามารถพูดคุยและรับฟัง

กำลังจะบอกว่าก้าวไกลเอง มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ถ้าเขาไม่สามารถหา 66 เสียงมาเติมได้ ไม่ว่าจะส.ว.หรือส.สง เกมอาจเปลี่ยนไปตกอยู่ในมือเพื่อไทย?
ดร.ปริญญา : ขั้นตอนแรก กกต.ต้องประกาศผลเลือกตั้งส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญให้เวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งเวลาปฏิบัติคง 30 40 วัน ถ้าประกาศผลเลือกตั้งส.ส.ถึง 95 เปอร์เซ็นต์คือ 475 คนเมื่อไหร่ก็จะประชุมสภาผู้แทน เปิดประชุมได้ แล้วเรื่องแรกที่จะประชุมคือเลือกสภาผู้แทน ซึ่งมาจากเสียงข้างมาก ซึ่งชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลต้องเอาคนของเขาเป็นประธานสภาแน่นอน เพราะประธานสภาคือประธานสภา จะเป็นประธานรัฐสภาเลือกนายกฯ พอได้ประธานสภา 15-30 วันไม่เกินนี้ ก็เรียกมาประชุม ต้องเชิญประชุมเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ การโหวตเลือกนายกฯ คือโหวต ก-ฮ ก็มีช่องทางตามข้อบังคับที่ให้ส.ส.โหวตก่อนแล้วค่อยๆ ส.ว. ขั้นตอนนี้ประธานสภาก็ขอที่ประชุมได้ ได้หรือไม่ก็อีกเรื่องนึง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือถ้าหากคุณพิธาไม่ได้เสียงถึง 376 เช่นส.ว.ที่จะโหวตให้ไม่ถึง ส.ส.ที่อยากให้มาก็ไม่มา ก็จะเป็นไม่ได้เพราะเสียงไม่ถึง พอไม่ได้ปั๊บ สิ่งที่เพื่อไทยพูดไว้คือให้ก้าวไกลตั้งพรรครัฐบาลก่อน ก็เป็นสิทธิอันดับสอง เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ อันดับสองก็จะมา ทีนี้ทำยังไงให้ส.ว.โหวตให้ เป็นไปได้มั้ยที่จะไปรวมกับพรรคอื่นเช่นพลังประชารัฐ นี่คือสิ่งที่อาจเกิด

ก้าวไกลเขาไม่เอาอยู่แล้ว?
ดร.ปริญญา : ก้าวไกลก็ไปเป็นฝ่ายค้าน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าส.ว.งดออกเสียงหมด ก้าวไกลจะกลายเป็นฝ่ายค้าน ต้องมีพลังประชารัฐเข้ามาถึงได้เสียงส.ว. ผมว่าเป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกว่าเอ๊ะ มีการเตรียมการตรงนี้หรือเปล่า เราไม่อาจทราบได้ การหาเสียงรอบสอง คุณหญิงกับผมก็เห็นตรงกัน ว่าส.ว.ไม่ควรโหวตเลือกนายกฯ ไม่มีประเทศไหนในโลก และประเทศไทยที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีที่ส.ว.เลือกนายกฯ ส.ว.ท่านก็อยู่อีกแค่หนึ่งปี ถ้าสภาล่างเรารวมกันได้ จนเข้มแข็งขนาดนี้แล้ว เป็นไปได้มั้ยอนุโลมตามเสียงประชาชน แต่การหาเสียงคือการหาเสียงกับโหวตเตอร์ คราวที่แล้วโหวตเตอร์คือประชาชน แต่รอบนี้คือส.ส. กับส.ว. เป็นไปได้มั้ยที่จะขอเสียงส.ว. เราไม่ได้เห็นด้วยหรอกกับการวางที่ผิดเพี้ยนไป แต่มันคือรอบสอง ก็ต้องยอมรับคำนี้จริงๆ แปลว่าถ้าต้องการเป็นนายกฯ ไม่เกิดสภาพที่ผมยกตัวอย่าง ก็คือรอบสองต้องไปเคาะประตูส.ว. ส.ส. 66 เสียงเองนะ

ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง เสียงข้างมาก 152 เสียง คุณพิธาแสดงเจตนารมณ์จะจัดตั้งรัฐบาล ขาดอีก 66 เสียงที่โหวตให้เป็นนายกฯ คนก็จับจ้องไปที่ส.ว. ตอนแรกจับจ้องไปที่ส.ส.ก่อน ก้าวไกลจะเติมพรรคไหนเข้ามามั้ย ภูมิใจไทย เขาก็บอกแล้วไม่ร่วมแน่นอน ถ้ามองพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกลก็ไม่เอา มีเราไม่มีลุง ก็จะมีประชาธิปัตย์ จะมีโอกาสมั้ยดึงมา 25 เสียง?
ดร.ยุทธพร : ดึงมาก็ไม่พออยู่ดี

ชาติไทยพัฒนาอีก 10 ได้มั้ย?
ดร.ปริญญา : จริงๆ เขาต้องหาเสียงกับส.ส.ที่เหลืออีก 190 และกับส.ว.ที่เหลือ ผมว่าตรงนี้คือสิ่งที่เขาต้องทำ ผมถึงใช้คำว่านี่คือการหาเสียงรอบสอง 60 วันเหมือนกัน ถ้าส.ว.ปิดสวิตซ์งดออกเสียงหมด ตัวเลขไม่ถึง 376 พรรคอันดับสองขึ้นมาตั้งรัฐบาลแทน ทีนี้หลายคนก็กลัว แปลว่าจะได้ส.ว.ต้องไปดึงพลังประชารัฐมาใช่มั้ย ผมว่ามีตัวนึงเป็นตัวช่วย มีตัวเลขปริศนาอยู่ ตัวเลขคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกล มากกว่าเพื่อไทยตั้ง 3 ล้านกว่า เป็นไปได้ไง ขณะที่แบ่งเขตตัวเลขเท่าๆ กัน ก้าวไกล 113 เพื่อไทย 112 ทำไมส.ส.10 คนก้าวไกลชนะเพื่อไทยตั้ง 3 ล้านคะแนน 

มันเกิดปรากฎการณ์นี้ที่เราพูดไปแล้ว คือบัตรแบ่งเขต มีคนเลือกเพื่อไทย แต่บัตรสีเขียวเลือกปาร์ตี้ลิสต์ เลือกก้าวไกล นี่คือ 3 ล้านคะแนนกว่า พูดง่ายๆ คนเลือกเพื่อไทยเขาปันใจมาเลือกก้าวไกล ดังนั้นตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ทำให้เพื่อไทยก็ต้องคิดหนัก ผมก็มองว่าเขาก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ แล้วกรุงเทพฯ แลนสไลด์ 33 เขต เป็นของก้าวไกลทั้งหมด เพื่อไทยชนะ 1 ก็แค่ 4 คะแนน ผมมองว่าเขาต้องคิดหนัก หรือการแพ้ในเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ด้วยนะ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพื่อไทยเขาจะสามารถออกลูกที่เราอยากเห็นรัฐบาลเป็นไปตามกติกานี้ แล้วเกิดพลิกไปเป็นแบบอื่น ผมว่าเพื่อไทยเขาก็ต้องคิดหนัก มันมีเรื่องบางคนในพรรคไปต่อช่อง ไปเตรียมการไว้มั้ย เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยก็ต้องเคลียร์ด้วย

คุณหญิงเป็นหนึ่งในส.ว. ถ้าอยากพูดอะไรกับก้าวไกล อยากบอกอะไร?
คุณหญิงพรทิพย์ : เหมือนกับผู้ใหญ่ และเห็นความตั้งใจ ปรารถนาดีของคนรุ่นใหม่ และสร้างสิ่งที่ดี อย่างที่บอก อะไรที่ผ่านมาในอดีตหรือสิ่งที่ตั้งไว้แล้วมันคลางแคลงใจ แล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก ก็ให้เขาเกิดความชัดเจน ที่ชัดเจนที่สุดเราไม่ต้องการการกระทบสถาบัน ซึ่งถ้าเขาสามารถปรับได้และเข้าหาด้วยท่าที หลักการนี้ถูกมากแล้วนะคะ 300 กว่าเสียงไม่ได้มีง่ายๆ สมควรได้เป็นรัฐบาลแล้ว ไม่ควรต้องมีสนับสนุน เมื่อนั้นน่าจะคุยได้กับส.ว. คือหาเสียงที่เพิ่มเติมได้

ดร.ปริญญา : หมายถึงคุณหญิงยินดีพูดคุยกัน

คุณหญิงพรทิพย์ : ยินดีค่ะ เพราะเรามองทุกมุม เราไม่ชอบมุมนี้อันเดียว ซึ่งเรามองเขาเหมือนเด็ก ใครไปใส่อะไรให้เขา มันมีความก้าวร้าวมากเรื่องนี้ ถ้าเราคุยกับเขาเรื่องนี้เอาไว้ทีหลัง อย่าเพิ่งทำ

เรื่องอื่นไม่ได้ติด?
คุณหญิงพรทิพย์ : ไม่ติดค่ะ

แต่เขาใช้คำว่าแก้นะ?
คุณหญิงพรทิพย์ : ความก้าวร้าวของสมาชิกมันชัดมาก ซึ่งเราไม่อาจวางใจได้ ถ้าถามเรื่องนี้ไม่ได้ใหญ่ ถ้าเขาปรับได้ ไม่ต้องเอามาในรอบนี้ ค่อยว่ากันใหม่ ก็ใช้คำว่ามาพูดคุยดีกว่าค่ะ เพราะอยากให้งานมันเดินหน้าได้

เหมือนที่อาจารย์ยุทธพรบอกว่าเป็นมิตร?
คุณหญิงพรทิพย์ : เป็นมิตรทางการเมือง และรับฟังเสียงข้างน้อย

ดร.ยุทธพร : ไม่งั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งไม่หยุด ตอนนี้เราอยู่ในสภาวะการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง สองส่วนไม่สมดุลกัน วันนี้เสียงนอกสภาเขาต้องการแบบนี้ ประชาชนต้องการแบบนี้ เสียงข้างมากต้องการแบบนี้ แต่คนในสภาอาจเห็นต่างออกไป พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ได้รับการเลือกตั้งเหมือนกัน เขาก็ควรสามารถมาพูดคุยอะไรคือจุดสมดุลนอกสภาในสภา แล้วในสภาควรเป็นพื้นที่แห่งการแก้ปัญหา













กำลังโหลดความคิดเห็น