xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเตือนภัย โรคระบบทางเดินปัสสาวะ อาการแบบไหนเสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ควรพบแพทย์ด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ สามารถแสดงอาการออกมาได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะแสบขัด กระปริบกระปรอย ปวดท้องน้อย ซึ่งหลายคนคงไม่รีรอที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษา แต่ที่น่าห่วงคือ บางคนมีอาการปัสสาวะปนเลือดเพียงครั้งเดียวแล้วหายไป โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด แสบ หรือไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ทำให้ชะล่าใจคิดว่าไม่เป็นอันตราย แต่รู้หรือไม่ว่า นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยของโรคร้ายแรงอย่าง "มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ" กว่าจะมาตรวจพบว่าเป็นโรคร้าย ปัญหาก็ลุกลามไปมากแล้ว

​นายแพทย์วรพงษ์ เลิศวีระศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง อธิบายถึงกลุ่มอาการของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อยให้ทราบว่ามี 4 กลุ่มคือ

​การอักเสบ เกิดจากมีเชื้อโรคเข้าไปในระบบทางเดินปัสสาวะ มักทำให้เกิดอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะแล้วรู้สึกแสบ หากเชื้อโรคลุกลามขึ้นไปถึงกรวยไต จะทำให้มีไข้หนาวสั่น และคลื่นไส้อาเจียนได้

​นิ่ว มักมีอาการปวดหลังและช่องท้องอย่างรุนแรง บางรายอาจมีปัสสาวะไม่ค่อยออก กระปริบกระปรอย และอาจเกิดปัสสาวะมีเลือดปนร่วมด้วย หากก้อนนิ่วแข็ง ๆ นั้นไปครูดกับเนื้อเยื่อภายใน
​ต่อมลูกหมาก โรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายวัย 45 ปีขึ้นไป ที่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นต่อมลูกหมากก็จะมีขนาดโตขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งอาจไปเบียดท่อปัสสาวะให้แคบลง จนเกิดอาการปัสสาวะบ่อย ไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่สุด ต้องใช้แรงเบ่งขณะปัสสาวะ รวมถึงมีปัสสาวะหยดเลอะเทอะหลังปัสสาวะเสร็จ

​เนื้องอก สามารถพบได้ทั้งเนื้องอกธรรมดา และเนื้อร้าย หรือมะเร็ง ซึ่งอาการเฉพาะของเนื้องอกนั้นคือ การปัสสาวะแล้วมีเลือดปน โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเลย

“กระเพาะปัสสาวะคือส่วนที่เจอเนื้องอกบ่อย และมักเป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) คนไข้จะปัสสาวะเป็นเลือด แต่ไม่มีอาการเจ็บหรือปวดร่วมด้วยเลย นี่คือลักษณะเฉพาะของเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ประเด็นสำคัญคือ เนื้องอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเนื้อร้ายถือเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว แต่กลับมีอาการน้อยมาก บางคนปัสสาวะเป็นเลือดแค่ครั้งเดียวแล้วก็หายไปเลย ทำให้ไม่รีบมาพบแพทย์ กว่าจะได้มาอาการก็แย่และลุกลามไปแล้ว ข้อนี้คือสิ่งที่ควรรู้และระวังตัวเองให้มาก หากปัสสาวะมีเลือดออกแม้เพียงครั้งเดียว ไม่เจ็บ ไม่ปวด ก็อย่าประมาท ต้องรีบมาพบแพทย์”

​คุณหมอวรพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงการมาพบแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ หลายคนอาจรู้สึกวิตกกังวลไปก่อน บ้างก็กลัวเจ็บ กลัวการสอดท่อตรวจต่าง ๆ ทั้งที่แท้จริงแล้วปัจจุบัน นวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคในระบบทางเดินปัสสาวะพัฒนาขึ้นมาก ทำให้การรักษาได้ผลดีและเจ็บตัวน้อย

ดังเช่นศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่มีแนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเป็นระบบ โดยขั้นแรกจะทำการพูดคุยซักถามอาการคนไข้ เพื่อประเมินแนวโน้มในการวินิจฉัย ถัดมาจึงทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น ตรวจวินิจฉัยปัสสาวะในห้องปฏิบัติการ ซีทีสแกน รวมถึงตรวจด้วย 4 เครื่องมือแพทย์เฉพาะทางอันทันสมัยที่ครอบคลุมการรักษาโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ

- Uroflowmetry การตรวจปัสสาวะลงเครื่อง เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพในการปัสสาวะ ว่าไหลเป็นปกติหรือไม่ มีอาการปัสสาวะอ่อนแรง กระปริบกระปรอยหรือไม่ โดยจะแสดงผลออกมาเป็นกราฟ ซึ่งความผิดปกติในรูปแบบต่างๆจะช่วยคุณหมอในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา

- Bladder Scan เครื่องตรวจปริมาณปัสสาวะที่ตกค้างหลังปัสสาวะเสร็จ เพียงนำเครื่องมือนี้แนบลงที่บริเวณท้องน้อย ท่านที่มีปัญหาปัสสาวะไม่สุดก็สามารถทราบถึงปริมาณปัสสาวะที่ตกค้างในกระเพาะปัสสาวะได้ (ไม่ต้องใช้วิธีสวนปัสสาวะออกมาวัดปริมาณอย่างในอดีต)

- Flexible VDO Cystoscopy การส่องกล้องชนิดสายยางยืดหยุ่น จุดเด่นของเครื่องนี้คือ การที่กล้องเป็นสายยางมีความยืดหยุ่นและขนาดเล็ก ทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บน้อย ขณะที่ตัวกล้องมีประสิทธิภาพสูงทำให้มองเห็นภายในกระเพาปัสสาวะได้อย่างชัดเจน กรณีใช้ตรวจเนื้องอกก็สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาวินิจฉัยได้อีกด้วย

- Urodynamic Study ตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ด้วยการสอดสายขนาดเล็กจิ๋วเข้าไปวัดแรงดันของกระเพาะปัสสาวะ ว่าทำงานได้อย่างเป็นปกติหรือไม่ สำหรับท่านที่มีความเสี่ยงที่กระเพาะปัสสาวะจะทำงานผิดปกติ เช่น อายุมาก เป็นโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบประสาท สมอง ไขสันหลัง การตรวจนี้จะช่วยให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตรวจที่วินิจฉัยอย่างใส่ใจ ด้วยเครื่องมืออันทันสมัยเหล่านี้ คงทำให้หลายท่านคลายกังวลได้มากขึ้น หากเกิดความผิดปกติขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ อย่ารีรอที่จะมาพบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยเร็ว รักษาได้ ก็จะทำให้ปัญหาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะไม่ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือเชิญปรึกษาได้ที่ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง
โทรศัพท์ 02-220-7999
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง
โทรศัพท์ 02-220-7999 ต่อ 80182
อีเมล info@thonburibamrungmuang.com และ
เว็บไซต์ https://www.thonburibamrungmuang.com/









กำลังโหลดความคิดเห็น