“ครูอู๋ เปรมจิตต์” เผยทุกวันนี้เด็กไทยมีโอกาสก้าวสู่เวทีโลกเยอะ แต่ถูกค่านิยมในสังคมผลักดันและปั้นให้เป็นสินค้า หวังความดังมากกว่าการเป็นตัวจริง ศิลปินเลยไม่โผล่ เล่าทุกวันนี้กว่าจะถึงฝันเด็กๆ ต้องต่อสู้กันโหดมากจนบางทีกลายเป็นเครื่องจักร มุ่นมั่นปั้นเด็กจากราก ก่อนจะเป็นศิลปินต้องขัดเกลาพื้นฐานความเป็นมนุษย์ก่อน
กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้างกับการผลักดันศิลปินไทย ผลงานของคนไทยไปสู่เวทีโลก ซึ่งหลายเสียงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับศิลปินไทย เมื่อถามเรื่องนี้กับหนึ่งในกูรูผู้ปลุกปั้นศิลปินไทยมาหลายเจนเนเรชั่น อย่าง “ครูอู๋ เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี” เจ้าของสถาบัน D dance ครูอู๋เผยว่าทุกวันนี้สิ่งที่ต้องทำงานมากกว่าการปั้นศิลปิน คือ การปั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์
“น้ำตาที่มันไหลมันคือน้ำตาของการต่อสู้ ความสำเร็จของอะไรก็ตามที่จะเกิดมันเป็นเรื่องของความเชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อว่ามันจะเกิดมันจะไม่เกิด ครูอู๋พยายามสอนตั้งแต่รากของมันเลย คือ เรื่องของการเชื่อมั่นในตัวเอง เคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น และให้โอกาสกัน มันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ครูอู๋เชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ได้อยากติดโทรศัพท์ ไม่อยากพูดไม่ฟัง ไม่อยากงอแงอะไรทั้งสิ้นแต่บางทีเขาไม่ได้รับโอกาสของการบอกกล่าวกันจริงๆ มันต้องทำให้เขาเข้าใจ มันไม่ใช่แค่การสั่งสอน แต่มันลึกกว่านั้นนั่นก็คือการขัดเกลา ข้างบนให้เรามาแล้ว ให้เราเกิดมาเป็นครู ครูอู๋คิดว่าเราต้องปฎิบัติหน้าที่มากกว่าการสั่งสอน การให้ทักษะ
ครูอู๋ไม่ได้สอนแต่ลูกคนรวย ครูอู๋สอนเด็กสลัม ขึ้นเหนือไปสอนเด็ก ไปทำให้เด็กๆ เท่าเทียมกัน คำว่าเท่าเทียมกันเราไม่ได้บอกให้เขาปรับ แต่ให้เขาเข้าใจว่าเราเหมือนกัน ไม่ต้องไปทำให้เขารวยน้อยลง หรือรวยมากขึ้น แต่คือเท่าเดิม แต่ว่าเท่ากัน ครูอู๋ว่าอันนี้สำคัญ การปรับความเข้าใจ ไม่ได้สั่งสอนแต่ว่าขัดเกลา
ครูอู๋ไม่ได้แคร์ผลลัพธ์ แต่การทำความเข้าใจ ไม่กลัวกับการเผชิญ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นโอกาสในการพัฒนา โอกาสของการเรียนรู้ที่ถูกทาง เราจะได้มนุษย์รอบๆ ตัวเราที่เติบโตไปด้วยความเข้าใจที่ดี เป็นมนุษย์ที่ดี ครูอู๋อยากทำอะไรที่มันซับซ้อน เราไม่มองที่แค่ผลลัพธ์อย่างเดียว”
เด็กสมัยนี้การต่อสู้กันโหดมากจนบางทีกลายเป็นเครื่องจักร กว่าจะได้ไปถึงฝัน
“จริงค่ะ เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นเด็กๆ กันแค่ในประเทศไทย แต่ตอนนี้อินเตอร์เน็ตมันทำให้เราเห็นเด็กๆ รอบโลก จนบางทีมันกลายเป็นเครื่องจักรไปเหมือนกัน เด็กสมัยนี้ฝึกซ้อมกันหนักมาก เลิกเรียนก็ต้องฝึก มันเหมือนชีวิตต้องเลือก ต้องเลือกมาตั้งแต่อายุ 11-12 ปีแล้ว มันเป็นวัยของการออดิชั่นเพื่อเทรนที่จะเป็นศิลปิน มีการเช็กว่าผลผลิตจะสูงไหม จะมีศักยภาพ แอดติจูดจะมีอะไรไหม จากนั้นก็เวิร์คไปอีก 4 ปีถ้าเทรนนิ่งติดประมาณ16-17 ปีก็คือเดบิวต์ จะมีอายุไปได้อีกเท่าไหร่ก็แล้วแต่ชนิดของศิลปิน”
การค้นหาสิ่งที่ชอบ รู้ตัวตนง่ายกว่าที่คิดแค่ให้เวลาได้พูดคุยกับตัวเอง
“ทุกคนมีแพชชั่นนะคะ แต่อาจจะไม่มีใครถามเขา ถ้ามีสมาธิได้พูดคุยกับตัวเองเราจะรู้คำตอบ บางทีสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็นก็ได้ เพียงแต่ชีวิตเราไปข้างหน้ามากกว่าเรามีโอกาสจะได้คุยกับตัวเอง มันเลยทำให้ไม่มีอะไรมาสะท้อนให้เราหยุดแล้วกลับมาคิดเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราได้หยุดบันทึกชีวิตของเด็กคนนึงในทุกๆปี เราจะเห็นได้เลยว่าเส้นทางของเด็กคนนี้ยังไงก็เป็นศิลปิน”
ลั่นเด็กไทยยุคนี้มีโอกาสก้าวสู่ระดับโลกเยอะ แต่ถูกค่านิยมในสังคมผลักดันและปั้นให้เป็นสินค้ามากกว่าเป็นตัวจริงประดับวงการ
“เราจะบอกความจริง ความหวังจะถูกทางได้ก็ต่อเมื่อเจอความจริง เราหวังอย่างเดียวไม่ได้ บางอย่างต้องเชื่อ ทำให้เขาเห็นความจริงให้ได้ เอาจริงๆ เด็กไทยก็ไม่ใช่ว่าจะมีโอกาสน้อยนะคะ เพราะว่าค่ายก็เยอะ ออดิชั่นก็เยอะ ตอนนี้โอกาสเยอะกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก แต่ครูอู๋คิดว่ามันเป็นโอกาสกับเป้าหมายที่เราจะไปหาอะไรดีกว่าในการมาเป็นศิลปิน
ตอนนี้คนที่ทำงานในเชิงการให้โอกาสการเป็นศิลปิน ครูอู๋ว่าเขามองศิลปินเป็นสินค้า ครูอู๋ทำงานมาหลายเจนจะเห็นว่าศิลปินเดี๋ยวนี้มันจับต้องในเชิงความรู้สึก ความมีตัวตนได้น้อยกว่าเมื่อก่อน มันจะเป็นรูปแบบบางอย่างที่เราเดา 1234 เต้นเหมือนกันเรียกกรุ๊ป พูดอย่างนี้ ยิ้มอย่างนี้ ลักษณะแบบนี้ ความโดดเด่น ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมันจะค่อยๆ หาย
มันกลายเป็นการให้โอกาสเพิ่มมากขึ้นในการหาสินค้า แต่มันไม่ได้เป็นการให้โอกาสเพิ่มมากขึ้นในการหาศิลปิน การแข่งขันในตลาดในเชิงธุรกิจมันเยอะเกินไป มันเลยไม่ค่อยมีโอกาสที่เห็นศิลปินจริงๆ โผล่ เพราะมันคือแนวความคิดของสังคม ไม่ใช่ความผิดของค่าย แต่สังคมเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องพวกนี้ไม่ลึกซึ้ง มันเลยเป็นโอกาสที่ไม่ได้ส่งเสริมการเป็นตัวจริง แต่เป็นการส่งเสริมการมีชื่อเสียง และดัง คนในสังคมมุ่งเน้นในเรื่องของการให้ตัวเลขมากกว่าคอนเทนต์ จะอยู่ได้ไม่ว่าในวงการไหนล้วนต้องเป็นตัวจริงกันทั้งนั้น
ปล่อยให้เด็กโตในแบบที่เป็นเขาเองมากที่สุดแล้วเราจะเห็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จจากเขา เพราะถ้าเราไปตัดสินเขา อันนั้นอย่า อันนี้ไม่ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาอาจจะไม่เหมือนเรา เรามีสามเหลี่ยมและเราเข้าใจว่าสามเหลี่ยมมันคือความสำเร็จ เด็กอาจจะอยากเป็นสี่เหลี่ยม แล้วสี่เหลี่ยมอาจจะหาเงินได้มากกว่าสามเหลี่ยมก็ได้ อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้”