xs
xsm
sm
md
lg

Someone เปิดเวทีเสวนาครั้งที่ 3 โอกาสและความหวัง “พลเมืองข้ามพรมแดน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน หลังดำเนินการจัดทำ สารคดี Someone หนึ่งในหลาย ล่าสุดได้ จัดเวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 3 “พลเมืองข้ามพรมแดน : ไทยในเทศ-เทศในไทย และความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม” ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา)

หลากความหมาย หลายความต่าง ในสารคดี “Some one หนึ่งในหลาย” สะท้อนภาพจริงในสังคมไทย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจ และเคารพความแตกต่างได้ อย่างที่ ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้สนับสนุนหลัก บอกถึงความตั้งใจไว้ว่า อยากจะให้สารคดีชุดนี้ เป็น Soft Power ที่บอกผ่านเรื่องราวในมิติต่าง ๆ ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน

สำหรับภาพรวมของเวทีสาธารณะครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่สร้างความร่วมมือกับประชาสังคมและผู้คนในวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation: LPN), ศูนย์ฝึกอบรมภาษาไทย คอมพิวเตอร์ และส่งเสริมวัฒนธรรมจากแรงงานเพื่อแรงงานชาวเมียนมา มหาชัย (People to People Center: P2P), ศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และส่งเสริมสิทธิสตรีแรงงานหญิงชาวเมียนมา (MCLWR) และศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา (MEDC) โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรมใหญ่ ๆ ร่วมกัน

เริ่มด้วยกิจกรรมเปิดงาน โดยกลุ่มผู้ให้ทุนผลิตสารคดีและกลุ่มผู้ผลิต ก่อนจะเข้าสู่ช่วง “Some One-ASEAN Buddy: Let’s be Friends” เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไทย-อาเซียน ด้วยกิจกรรรม Intercultural Education ของเยาวชนไทยและเมียนมา โดยให้นำเสนอผลการทำกิจกรรมร่วมกัน

สำหรับกิจกรรมในส่วนที่ 3 คือการเปิดเวทีเสวนาสาธารณะ โดยเวทีแรกเบิกโรงด้วยหัวข้อ “พลเมืองข้ามพรมแดน : หลากมิติไทยในเทศ เทศในไทย หลังโควิด 19” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN), คุณวาทินี คุณเผือก สำนักงานเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินรายการโดยคุณอดิศักดิ์ ศรีสม

“สิ่งที่ข้ามพรมแดนยากที่สุดคือ ...มนุษย์” หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้กล่าววรรคทองนี้ไว้ ก่อนจะลงไปที่เนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การย้ายถิ่นของผู้คนในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงสิทธิ เสรีภาพ นโยบายสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้ย้ายถิ่น ทั้งที่เป็นคนไทยที่ได้ย้ายออกไปพำนัก ณ ประเทศต่างๆ และผู้คนจากประเทศอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรา

ในวงเสวนายังหยิบยกกรณีของกฎหมายสัญชาติ ที่ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราของพลเมืองข้ามพรมแดน ความเข้มงวดของภาครัฐ ทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ขณะเดียวกัน หากเรามีการสนับสนุนนักท่องเที่ยวในระยะยาวที่เป็นกลุ่มเกษียณ หรือเอื้อให้มีการแต่งงานข้ามชาติได้ รัฐก็ต้องมีสถานที่ที่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างชัดเจนด้วย

ปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ ใช่ว่าจะมีเพียงแค่เรื่องเอกสาร และสิทธิต่างๆ เท่านั้น ความเปราะบางในแรงงาน ไม่ว่าแรงงานไทย เมียนมา กัมพูชา ก็ต้องการนโยบายระยะยาวที่เป็นรูปธรรม และไม่สร้างเงื่อนไขให้บางคนหรือบางกลุ่มฉกฉวยหาผลประโยชน์ เพราะทุกคนมีสิทธิและมีคุณค่าเท่าเทียมกัน

ดังนั้น รัฐต้องจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิในการทำงาน สิทธิในการเข้าถึงบริการในชุมชน และสิทธิในการบริการในสังคม เช่น การศึกษา สาธารณะสุข การมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิการเข้าถึงพลเมือง การเข้าถึงสัญชาติไทย

มาที่เวทีเสวนาที่ 2 “ฉันเป็นใครในแผ่นดินนี้” เสียงจากเยาวชนและครอบครัวข้ามชาติ : โอกาสของสังคมไทยในทัศนะประชาสังคม” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณสิทธิพร เนตรนิยม, อาจารย์ Thuzar Aung, ว่าที่ร้อยตรีหญิง ศิริวรรณ สมศรี, คุณ Aung Myo Thein, คุณโสภาพร ควร์ซ ประธานสมาคมธารา ประเทศเยอรมนี (ร่วมเสวนาผ่านระบบออนไลน์), ผู้แทนเยาวชนเมียนมา, รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และน้อง ๆ เยาวชนเมียนมา ดำเนินรายการโดยคุณไอลดา พิศสุวรรณ

โดยประเด็นที่ผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ คืออยากเห็นทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับคู่ชีวิตแบบไร้เงื่อนไข ไม่ว่าเราไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเขา หรือเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรา และควรสนับสนุนเรื่องการเรียนภาษา ที่มากกว่าภาษาตัวเอง เพื่อให้แรงงานได้สังคมใหม่ๆ และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

“แม้รัฐพยายามที่จะโอบอุ้มทั้งแรงงานและเยาวชนของแรงงาน แต่มันมีความเขย่งกับนโยบายและการปฏิบัติ นโยบายที่เข้าเรียนได้ทุกคน แม้ไม่ใช่คนไทย แต่จริงๆ แล้ว บางโรงเรียนมันไม่เป็นไปตามนโยบายของทางภาครัฐ น้อง ๆ ที่ย้ายมาอยากให้เห็นว่าที่นี่เป็นบ้านและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข” อ.ภูเบศร์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่จับใจจากวงเสวนานี้ คือความจริงที่ว่า สังคมไทยยังต้องใช้แรงงานเยอะมาก เราจึงควรที่จะปรับโครงสร้างและทัศนคติของคนในชาติ ให้ข้ามพ้นตัวหนังสือและกฎหมาย เพื่อสร้างสังคมที่เราอยู่ไปด้วยกัน

ในช่วงสุดท้ายมีการมอบเกียรติบัตรแก่เยาวชนไทยและเมียนมาที่เข้าร่วมกิจกรรม Some One-ASEAN Buddy: Let’s be Friends นิทรรศการ และร้านค้าต่าง ๆ และมอบสิทธิพิเศษในการสอบ MU - Thai Test ให้แก่เยาวชนชาวเมียนมาทุกคนที่เข้าร่วมงาน

สำหรับสารคดีแห่งปีชุด “Some One หนึ่งในหลาย” เกิดจากการทำงานรูปแบบ Co-creation ระหว่างผู้กำกับสารคดีจากบริษัท สื่อดลใจ จำกัด และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด รวมทั้งนักวิชาการด้านพหุวัฒนธรรมศึกษาของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการทำงานสารคดีเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืน ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

สารคดีชุดนี้มีการจัดเวทีสาธารณะควบคู่ไปกับการเผยแพร่สารคดีทาง MCOT HD ช่อง 30 และ YouTube สารคดี Some One หนึ่งในหลาย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มการสื่อสารกับประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว









กำลังโหลดความคิดเห็น