คำพูดที่ว่า
..... ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ในวงการธุรกิจ .....
น่าจะเข้ากันได้ดีกับความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของวงการเพลงเมืองไทย ที่กลายเป็นประเด็น Talk Of The Town ถูกโพสต์และแชร์กันอย่างสนั่นหวั่นไหวในโลกออนไลน์ตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
นั่นก็คือปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์
GRAMMY RS CONCERTS
ใครที่คิดว่า “คู่แข่ง” ตัวฉกาจ ที่ฟาดกันกันอย่างหนักหน่วงในสงครามเพลงตลอดช่วงระยะเวลา 4 ทศวรรษ อย่าง แกรมมี่ กับ อาร์เอส จะสามารถกลับมาจูบปากอย่างดูดดื่มได้
ว่ากันตามตรง ทั้งสองค่าย ต่างก็มีจุดกำเนิดในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน อาร์เอส เริ่มต้นมาก่อนในปี 2525 สมัยนั้นยังใช้ชื่อว่า อาร์เอส ซาวด์ ส่วน แกรมมี่ ตามมาในปี 2526
ในยุคที่การแข่งขันดุเดือดเลือดพล่านนั้น จะสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ค่ายใดค่ายหนึ่งออกผลงานเพลงของศิลปิน ค่ายตรงข้าม ก็จะออกศิลปินในแนวเพลงเดียวกันออกมาฟาดกันทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้จริงๆ หรือ !!?? ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ที่จะใจตรงกันทุกครั้ง
และในยุคนั้นอีกนั่นแหละ ที่มีการซื้อสื่อโปรโมทในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็จะมีการเขียนข้อความเกทับบลัฟแหลกกันไปมาระหว่างค่าย ทั้งๆ ที่ตัวศิลปิน หรือแม้กระทั่งทีมงานเองจะเป็นเพื่อนกันก็ตาม แต่สงครามก็ย่อมเป็นสงคราม จะเปลี่ยนสนามรบ เปลี่ยนสนามรัก เป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมเหลือเกิน
อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือในเมื่อทั้งสองค่ายต่างก็เป็นค่ายยักษ์ใหญ่ ที่มีสื่ออยู่ในมือของตัวเอง ถ้าเป็นรายการ โปรโมทเพลงโดยเฉพาะก็พอเข้าใจได้ว่าสื่อใครสื่อมัน แต่สื่อที่ควรจะเป็นกลาง อย่างรายการวิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์นั้น กลับมีการแบ่งฝั่งเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน
รายการวิทยุของ แกรมมี่ ก็ไม่เปิดเพลงของ อาร์เอส (หรือเปิดก็น้อยมาก) ในขณะที่สื่อ นสพ. ของ อาร์เอส ก็ไม่มีการนำเสนอข่าวของ แกรมมี่ (และแกรมมี่เอง ก็ไม่ส่งข่าวมาให้เช่นเดียวกัน)
เรื่องการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตเดียวกันไม่ต้องพูดถึง ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากในยุคนั้น
แม้ในยุคต่อมา จะเห็นศิลปิน อาร์เอส (ที่หมดสัญญา) ไปขึ้นเวทีเป็นแขกรับเชิญของศิลปิน แกรมมี่ แต่ก็ไม่สามารถร้องเพลงของตัวเองได้ เพราะ อาร์เอส ไม่อนุญาต ไมใช่ว่ามีเงิน แล้วจะสามารถซื้อไปใช้ร้องที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ง่ายๆ เพราะอย่างที่รู้ อาร์เอส หวงสิทธิ์ยิ่งกว่าใดๆ
ก็ไม่แปลกหรอก ที่ทุกคนคงไม่คิดไม่ฝันว่าจะเดินทางมาถึงวันที่ทั้งสองค่ายจะกระชับมิตรถึงขนาดจับมือขึ้นคอนเสิร์ต ร่วมกันอย่างเป็นทางการ
แน่นอนว่างานนี้จะสำเร็จขึ้นไมได้เลยถ้าไม่มีตัวกลางอย่าง “ป๋าเต๊ด-ยุทธนา บุญอ้อม” รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงานโชว์บิซ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผู้บริหารคอนเสิร์ตและมิวสิคเฟสติวัล คนสำคัญของประเทศ
และที่สำคัญก็คือการมองเห็นเป้าหมายของทั้งสองค่ายยักษ์ใหญ่ กับการทำธุรกิจร่วมกันในรูปแบบ
ACROSS THE UNIVERSE JOINT VENTURE
จุดสังเกตที่เป็น Key Word หลักที่ทุกคนที่แชร์ปรากฏการณ์นี้เน้นย้ำ ก็คือ
CONCERT ต้องมี S
นั่นหมายถึงว่าคอนเสิร์ตไม่ได้จัดแค่ครั้งเดียวแล้วแยกย้ายแน่นอน แต่น่าจะมีการต่อเนื่อง อาจจะเป็นตอนๆ มีการตั้งชื่อตอนตามแต่ละธีมของคอนเสิร์ตก็เป็นได้
สิ่งที่ทุกคนคาดเดาว่าจะได้เห็นในปรากฏการณ์คอนเสิร์ตครั้งนี้
แน่นอนที่สุด ก็คือศิลปินทุกคนสามารถร้องเพลงของตัวเองได้โดยไม่ถูกสงวนสิทธิ์ใดๆ และน่าจะได้เห็นการสลับเพลงกันร้องด้วยซ้ำไป เพราะทั้งสองค่ายเพลงต่างก็มีเพลงอยู่ในคลังรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 60,000 เพลง โดยเฉพาะผลงานเพลงของศิลปินในยุค 90 ที่ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของวงการเพลง ต่อให้จัดคอนเสิร์ตปีละครั้ง หรือแม้แต่เดือนละครั้ง ยังไงเพลงก็ไม่ซ้ำแน่นอน
เรียกว่าสามารถหากินร่วมกันได้ยาวๆ เลยทีเดียว ในภาคส่วนของธุรกิจคอนเสิร์ต ที่จากแหล่งข้อมูลกล่าวว่ามีเม็ดเงินสะพัดกว่า 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ทำคนเดียวอาจจะไปถึงเป้าหมายได้ แต่ถ้าทำร่วมกัน ก็จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายกว่า และเร็วกกว่า
และถ้าดูจากรายชื่อของศิลปินที่จะมาร่วมในงานแถลงข่าวใน วันอังคารที่ 28 มีนาคม นี้ ก็เดาใจผู้จัดออกได้ระดับหนึ่งว่า จะมีการจับคู่แมทช์ของทั้งสองค่ายมาดวลกันแบบหมัดต่อหมัดแบบศึกวันทรงชัยแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่ของ “เจ-ทัช” (แต่เจประกาศถอนตัวไม่มาร่วมงานแถลงข่าวแล้ว) , “มอส-เต๋า” , “ทาทา-นุ๊ก” , “2002 ราตรี – เกิร์ลลี่เบอร์รี่” , “โบ-ปาน” , “ อ๊อฟ ปองศักดิ์ – ดัง พันกร” หรือแม้กระทั่ง “แอม เสาวลักษณ์ - แหม่ม พัชริดา” ฯลฯ
ตามที่ "เฮียฮ้อ" เอง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในช่องยูทูบ "ป๋าเต็ดทอล์ก" ว่า
“การทำธุรกิจยุคใหม่ ไม่ได้สนใจ “คู่แข่ง” แต่สนใจ "คู่ค้า" และการจับมือกันสร้างเน็ตเวิร์ค เราต้องแยกให้ออกระหว่างคู่แข่งกับศัตรู
การทำธุรกิจแข่งกันแน่นอน แต่ไม่ได้เป็นศัตรูกัน”
ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 มีนาคม – 1 เมษายน 2566