.... คนไทยไม่ดูหนังไทย เพราะหนังไทยไม่มีคุณภาพ ?
หรือ.... เพราะหนังไทยไม่มีคุณภาพ เลยทำให้คนไทยไม่ดูหนังไทย?
ถ้าจะถกเรื่องนี้จริงๆ ก็คงจะเถียงกันไม่จบ เพราะเป็นปัญหาโลกแตก ที่หาคำตอบไม่ได้
เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน !!??
พูดง่ายๆ คือไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด แล้วแต่ว่าจะมองจากมุมไหน
หนังไทยอาจจะด้อยคุณภาพ ถ้าเทียบกับหนังฟอร์มยักษ์ของต่างประเทศ ด้วยเพราะข้อจำกัดในด้านการลงทุน หรือแม้กระทั่งการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล
เมื่อวงเงินลงทุนมีจำกัด ก็ทำหนังคุณภาพได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งคุณภาพประมาณนี้ อาจจะไม่ได้ถูกจริตพอที่จะทำให้คนยอมเสียเงิน เสียเวลาเข้าไปดูในโรง
พอรายได้หนังน้อย เงินที่จะพอเป็นกำไรในการลงทุนสร้างเรื่องต่อไป ก็ถูกจำกัดอีก
มันก็วนไปวนมาอยู่แค่นี้ เหมือนพายเรืออยู่ในโอ่ง
แต่ในความเป็นจริง เงินลงทุน ก็ไม่ใช่ปัญหาหลักที่จะทำให้เส้นทางการเติบโตของหนังไทยตีบตัน
นั่นหมายถึง ต่อให้มีเงินลงทุนมหาศาลที่พอจะสามารถทำหนังให้มีคุณภาพเทียบเท่าฮอลลีวูด แต่ถ้าโดนเตะตัดขาเรื่องของโรงที่จะเข้าฉาย หรือแม้กระทั่งรอบฉายในแต่ละวัน รายได้ของหนังก็ไปไม่ถึงไหนอีก เผลอๆ อาจจะไม่ถึงเป้าของกำไรที่ควรจะเป็น
การเตะตัดขาอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ หากว่าเจ้าของโรงหนัง จะไม่ลุกขึ้นมาเป็นผู้สร้างหนังเสียเอง กลายเป็นการผูกขาดทางการค้า ที่เป็นวงจรที่ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมหนังหยุดชะงักลง
สุดท้ายก็วนกลับมาลูปเดิม คือหนังรายได้น้อย ทำให้ผู้สร้างก็ไม่กล้าทุ่มเงินสร้างเรื่องใหม่ สรุปหนังก็ออกมามีคุณภาพน้อยลง
ดังที่ตอนนี้หนังเรื่อง “ขุนพันธ์ 3” ของ ค่ายสหมงคลฟิล์ม จากผลงานการกำกับของ "ก้องเกียรติ โขมศิริ" กำลังประสบอยู่ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับรอบฉายที่ถูกหั่นลง ด้วยเหตุที่โรงหนังในเครือเมเจอร์ฯ ต้องกันโรงให้กับหนังในเครือ อย่าง “ทิดน้อย”
ทั้งที่หนัง “ขุนพันธ์ 3” กระแสกำลังแรง
ทั้งที่หนัง “ทิดน้อย” ลงโรงมาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.
ขณะที่รอบฉายของ “ขุนพันธ์ 3” ถูกปรับเหลือสาขาและ 1-2 โรง (ยกเว้นภาคตะวันออกที่ไม่มีการฉายหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว) แต่ “ทิดน้อย” กลับมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย พร้อมกับเพิ่มรอบฉายในหลายๆ พื้นที่
จะแปลกอะไร หากคนส่วนใหญ่จะมองว่า นี่คือยุทธวิธีในการสกัดคู่แข่งทางธุรกิจ
ต่อให้ทำหนังออกมาดีขนาดไหน แต่ไม่มีโรงฉายให้คนเข้าไปดู ก็เท่านั้น !!!
ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ พระเอกรุ่นใหญ่ อย่าง “ไพโรจน์ สังวริบุตร” ผู้สร้าง “วัยอลวน 5” ก็ออกมาเรียกร้องความเห็นใจ ทำนองว่ากำลังจะล้มละลายอยู่แล้ว เพราะทุ่มเงินไปกับการสร้างหนังเรื่องนี้กว่า 30 ล้าน แต่กลับยืนโรงฉายได้เพียงไม่กี่วัน ก็ถูกลดรอบฉายเหลือแค่เพียงวันละ 1 โรง และ 1 รอบเท่านั้น
เรื่องนี้ ถ้ามองในมุมของเจ้าของโรงหนัง ก็อาจจะคิดว่าลงทุนสร้างโรงหนังมา ก็ย่อมต้องหวังกำไรจากรายได้ของหนัง ถ้าหนังรายได้ต่ำ ก็ดูจะไม่คุ้มกับการเสียรอบฉาย เปลืองค่าไฟ เปลืองค่าจ้างพนักงาน สู้เอารอบนั้นไปเทให้กับหนังที่พอจะมีหวังในเรื่องของรายได้จะดีกว่า
ไปๆ มาๆ ก็หนีไม่พ้นวังวน ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ? อยู่ดีนั่นเอง
กับอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยถูกสตาฟไว้ ก็คือเรื่องของกระบวนการเซ็นเซอร์นั่นเอง
ดังกรณีของหนัง “หุ่นพยนต์” ที่จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดฉายออกไปอย่างไม่มีกำหนด ด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์เป็นเงื่อนไขสำคัญ
ทั้งที่ตัวหนังเอง ก็ถูกตั้งเรตติ้งจาก คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ไว้ที่ 20+ (ผู้ชมอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามดู) อยู่แล้ว
หนังไทยจะไปไกลกว่านี้ได้อย่างไร หากยังมีการตั้งแง่จากกองเซ็นเซอร์ที่ทำงานอยู่ในกะลาอันเดิม ว่าเรื่องนั้นก็ห้ามพูด เรื่องนี้ก็ห้ามแตะ
ฮัลโหล.... นี่ยัง พ.ศ. ไหนกันแล้ว
เลิกดูถูกคนดูได้แล้ว ว่าจะต้องมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากเดิมเพราะได้รับอิทธิพลจากหนัง หรือละคร
เหมือนยุคหนึ่งที่ห้ามดารา นักแสดง ที่เป็น LGBTQ ออกทีวี เพราะกลัวว่าคนจะเลียนแบบพฤติกรรม โถ....คนเราคงไม่ได้จู่ๆ ก็นึกอยากจะเป็น LGBTQ เพราะเลียนแบบดาราในเรื่องหรอก มันอยู่ที่ยีนส์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือด้วยการเลี้ยงดูของครอบครัว ถ้าคนจะไม่เป็น ดูหนัง ดูละครให้ตายก็ไม่เป็น
ถ้าจะห่วงเรื่องทำลายพระพุทธศาสนา ความเป็นจริงก็คือ ศาสนาไม่ได้ถูกทำลายจากหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ถูกทำลายเพราะการขาดจิตสำนึกของคนในสังคม หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในผ้าเหลืองเองด้วยซ้ำ ที่ทำให้วงการศาสนาแปดเปื้อน
กองเซ็นเซอร์น่าจะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองล่ะมัง หรือรู้ทั้งรู้ แต่ก็ใม่ยอมรับความจริง
ฉะนั้น อย่าได้สงสัยเลยว่า ทำไมหนังไทยถึงได้ย่ำอยู่กับที่
ตราบเท่าที่หนังไทยยังต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าของโรงหนัง และอยู่ภายใต้เงื่อนไขอันคร่ำครึของกองเซ็นเซอร์
ก็อย่าหวังว่าจะได้เห็นอนาคตของหนังไทยก้าวไปไกลกว่านี้ !!???
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 มีนาคม 2566