xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 เคลื่อนทัพใหญ่ ปูพรมกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมให้เด็กไทยเต็มปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 หลังจากหยุดชะงักกับกิจกรรมของเด็กๆ จากสถานการณ์ โควิด-19 มาหลายปี ปีนี้หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เตรียมเดินหน้าการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมไทยของสถาบันคึกฤทธิ์ ออกมาเผยแพร่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับชมกันอย่างต่อเนื่องเต็มอิ่มจุใจ ตลอดทั้งปี

โดยงานนี้ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หัวเรือใหญ่ของมูลนิธิฯ ได้เปิดเผยว่า

“ ปีที่ผ่านๆ มา สำหรับสถาบันคึกฤทธิ์ เรามีกิจกรรมที่ถูกงดไปมากมาย  ผมเสียดายเวลา เสียดายโอกาสของเด็กไทย คนไทย ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดที่เราต้องหยุดกิจกรรมส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไปจนหมด ปีนี้โรคร้ายเบาบาง เราก็เดินหน้าทำงานให้หนัก ตั้งเป้าหมายให้เข้มข้นที่จะเผยแพร่ ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และสังคมศาสตร์ สู่เด็กๆ สู่สาธารณะ ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ของสถาบันคึกฤทธิ์ อย่างโครงการสถาบันคึกฤทธิ์เสวนาวิชาการ ปี 2566 เราจะจัดขึ้นถึง 4 ครั้ง  เรียกว่าจัดตลอดปีกันเลย  และวันคึกฤทธิ์ งานหลักของเราที่จะจัดขึ้นวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี 

ปีนี้จะเป็นปีที่เราภาคภูมิใจที่สุดเพราะได้นำเยาวชนที่ฝึกโขนมาตลอดหลายปี ทำการแสดงโขนถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในตอน โมกขศักดิ์ และในวันงานยังมีการมอบ “รางวัลคึกฤทธิ์” ให้ผู้ที่ทำประโยชน์ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับประเทศอีกด้วย ถึงจะเป็นปีที่มูลนิธิคึกฤทธิ์จะเจอกับงานหนักแต่เราก็ต้องยอม จะได้คุ้มกับเวลาที่เสียไปในการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ด้านศิลปะ ด้านดนตรี ด้านการแสดง ให้คนไทยและเยาวชนไทยสนใจ มีแรงบันดาลใจในศิลปะของเรา  ภูมิใจในความเป็นคนไทย ยิ่งเดี๋ยวนี้ไม่รู้ทำไมมีแต่คนจะมาเคลมว่าศิลปะไทยเป็นศิลปะของคนอื่นอยู่เรื่อย ”   

โดยในปี 2566 สถาบันคึกฤทธิ์จะจัดให้มีการเสวนาขึ้น 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 เสวนาและสาธิตภายใต้หัวข้อ “โนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ครั้งที่ 2 เสวนาด้านสังคมศาสตร์  ครั้งที่ 3 เสวนาด้านเศรษฐกิจ และครั้งที่  4 เสวนาด้านวรรณกรรม “การสื่อวรรณกรรมไทยสู่สากล”

เตรียมติดตามกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของไทยจากมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปตลอดทั้งปี 2566 สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของทางมูลนิธิฯผ่านช่องทาง Facebook: @kukritinstitute   Tiktok: kipac.kukrit.2454@gmail.com  IG: @kukritinstitute



กำลังโหลดความคิดเห็น