xs
xsm
sm
md
lg

“ปอย ตรีชฏา” กับ “มงกุฎดอกไม้ไหวทอง” เป็นทองคำแท้ ใช้เวลาทำกว่า 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่มีข่าวที่นักแสดงสาว “ปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์” เตรียมตัวเข้าพิธีแต่งงานกับแฟนหนุ่ม “โอ๊ค บรรลุ หงษ์หยก” ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ก็มีการพูดถึงขนบธรรมเนียมในการแต่งงานตามประเพณีโบราณของจีนออกมาอย่างมากมาย

ล่าสุดก็มีข้อมูลของ มงกุฎทองของเจ้าสาวและสายสะพายที่ปอยเตรียมจะต้องใส่ในวันพิธีออกมา โดยเผยว่ามงกุฎนี้เรียกในภาษาจีนกลางว่า “ฮัวก่วน” ที่แปลตรงตัวเลยว่ามงกุฎดอกไม้

โดยมงกุฎดอกไม้ไหวทองนี้ เป็นเครื่องประดับศีรษะของเจ้าสาวชาวเปอรานากันรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ มงกุฎมีหลายแบบ แบบหนึ่งจะเป็นเหมือนมงกุฎจีนสำหรับสตรีบรรดาศักดิ์ อีกแบบหนึ่งทำเป็นวงรอบศีรษะ ประดับประดาด้วยดอกไม้ และปิ่นปักผมรูปทรงต่างๆ ทั้งรูปหงษ์ ดอกไม้ ผีเสื้อ

แบบที่เป็นพวงบุปผา สันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากการประดับศีรษะของชาวมาเลย์ มงกุฎลักษณะนี้ในปีนังและมะละกา จะใส่ในวันแต่งงานวันที่ 3 ส่วนวันแรก บ่าวสาวจะแต่งชุดจีนเต็มยศ แต่วันที่ 3 ผ่านหญิงจะแต่งชุดครุยแบบมลายู ผ่ายชายแต่งชุดสูท อย่างไรก็ตามในไทย เจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะแต่งชุดครุย และชุดสูทเลย

การใส่มงกุฎประดับชุดเจ้าสาวแบบนี้ในจีนมีมาแต่โบราณ โดยจะใส่พร้อมสายสะพาย เรียกว่า เฟิงกวนเซี่ยเพ่ย ก็คือมงกุฎและสายสะพาย เครื่องประดับนี้จะเป็นเครื่องประดับสตรีบรรดาศักดิ์ สตรีสามัญไม่มีสิทธิ์แต่งมงกุฎจะเป็นทรงกลมหรือครึ่งวงกลม ส่วนสายสะพายจะเป็นผ้ายาวเป็นวงห้อยเหนือบ่า ยาวเกือบถึงข้อเท้า สมัยราชวงศ์ชิง เปลี่ยนมาคลายเสื้อคลุม สวมลงมาทางศีรษะ ข้างหน้าเสื้อปักลายยศราชการของสามี แต่จะปรับเป็นลายนกของฝ่ายข้าราชการพลเรือนเท่านั้น

มงกุฎและสายสะพายเป็นสิ่งที่บอกความรุ่งเรืองของสตรี จนภายหลังคำว่า “เฟิงกวนเซี่ยเพ่ย”เป็นการสะท้อนว่าสตรีผู้นั้นวาสนาดี มียศใหญ่ ได้สามีดีถือเป็นคำอวยพรอย่างหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ทางการจะห้ามสตรีสามัญชน สามีไม่ได้รับราชการแต่งตัวอย่างสตรีบรรดาศักดิ์ แต่ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง ในวันสมรส บ่าวสาวแม้จะเป็นคนธรรมดา ก็แต่งชุดข้าราชการระดับล่างได้ เพื่อเป็นเกียรติในวันวิวาห์ โดยฝ่ายชายแต่งชุดขุนนางชั้นล่างสุดระดับ 9 เป็นชุดเจ้าบ่าวได้ ส่วนฝ่ายเจ้าสาวก็แต่งตัวเต็มยศตามอย่างสตรีบรรดาศักดิ์ ที่เรียกว่า มิ่งฟู กันทั่วหน้า

ชาวจีนเปอรานากันนั้นรักษาธรรมเนียมไว้อย่างเต็มที่ เจ้าสาวแต่งชุดจีนเต็มยศ มงกุฎอาจจะทำจากทองคำ หรือเงินชุดทอง แล้วประดับด้วยขนนกกระเต็น ที่เรียกว่าเตี่ยนชุ่ย แม้ต่อมาชุดวิวาห์จะเป็นเสื้อคลุมแบบมาเลย์ สายสะพายจะหายไป แต่มงกุฎยังคงอยู่ แม้จะผันรูปเป็นมงกุฎดอกไม้ไหวตามแบบชาวมาเลย์ก็ตาม ต่อมาเมื่อชาวจีนเปอรานากันรับอิทธิพลตะวันตก มงกุฎดอกไม้ไหวได้เปลี่ยนรูปอีกครั้ง กลายเป็นเทียร่าอย่างฝรั่ง สำหรับชุดแต่งงานอย่างตะวันตก

ส่วนมงกุฎดอกไม้ไหวที่สาวปอยจะใส่นี้ผลิตขึ้นในไทย โดย “คุณปิยณัฏฐ์ อิสสระสงคราม” และกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณจังหวัดระนอง ทางกลุ่มได้เล่าเรื่องของที่มาของมงกุฎทองนี้ว่า

“มงกุฎดอกไม้ไหว (ฮัวก๋วน) ทองคำ ของคุณตรีชฎา มาลยาภรณ์ ที่จะใช้วิวาห์บาบ๋า ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ทางกลุ่มหัตถศิลป์ดิ้นโบราณจังหวัดระนอง ได้รับเกียรติให้จัดทำมงกุฎเจ้าสาวบาบ๋าทองคำ โดยวัสดุทั้งหมดทางคุณปอยจัดส่งมาให้ผลิตทั้งหมด ทราบว่าเป็นทองคำแท้ ทั้งดิ้นและดอกไม้ทอง ทางกลุ่มใช้เวลาทำ 3 เดือน รูปแบบมงกุฎทำจากความต้องการภาพสเก็ตของเจ้าสาว เป็นมงกุฎทรงโบราณ ที่มีดอกไม้ละเอียดยิบ ตามภาพเจ้าสาวโบราณ

ในอดีตมงกุฎดอกไม้ไหวมิได้ประกอบเป็นวงสำเร็จอย่างปัจจุปัน แต่อยู่ในรูปแบบปิ่นปักผมเป็นชิ้นๆ เมื่อแต่งตัวเจ้าสาวจึงมาประดับผมให้เป็นทรงมงกุฎ แต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการสวมใส่ จึงนำมายึดติดกับโครงลวด มงกุฎเจ้าสาวดอกไม้ไหวของชาวบาบ๋าปีนัง และชาวบาบ๋าอันดามันของไทย รูปทรงมงกุฎมีความใกล้เคียงกันแต่แตกต่างกันในรายละเอียด คือของปีนังนั้นทำจากโลหะ มีค่าเช่นทองหรือเงินกาไหล่ทอง ของไทยนั้นประดิษฐ์จากดิ้นโปร่งและดิ้นข้อ ซึ่งพบเห็นทั่วไปในวิวาห์บาบ๋าฝั่งอันดามันของไทย ภูเก็ต พังงา ระนอง สตูล กระบี่

สำหรับมงกุฎของคุณปอย ตรีชฎานั้น ทำตามความต้องการของเจ้าสาว คือมีความผสมผสานระหว่าง ปีนังและไทย คือใช้ทั้งงานโลหะมีค่าคือทองคำ และดิ้นโปร่งและดิ้นข้อ ฝรั่งเศส”











กำลังโหลดความคิดเห็น