xs
xsm
sm
md
lg

Thai PBS ขับเคลื่อน VIPA  เป็น Creative Hub สนับสนุน Content Creator ไทยสู่ตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



VIPA แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงสัญชาติไทย อีกก้าวของไทยพีบีเอสสะท้อนการปรับตัวครั้งสำคัญในยุคดิจิทัล ที่พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนจากหน้าจอทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น พร้อมวางแผนยกระดับบทบาทให้ VIPA เป็น Creative Hub ส่งเสริม Content Creator ให้มีโอกาสเติบโตไปในตลาดระดับโลกมากขึ้นด้วย

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส กล่าวว่าโจทย์ใหญ่ของสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสไม่ใช่แค่ทำคอนเทนต์ที่ดี  แต่ต้องครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่ม Audience และเข้าถึงได้ง่าย  ยิ่งสถานการณ์ในวันนี้ กลุ่มคนดูจำนวนมากเริ่มย้ายการบริโภคสื่อไปจากหน้าจอทีวี รวมถึงเทรนด์การเติบโตของคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ ที่สร้างสรรค์ตามรสนิยมและไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้น ไทยพีบีเอสจึงต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองที่จะทำสื่อตอบโจทย์เฉพาะบุคคลหรือ Personalized เพื่อรองรับกลุ่มคนดูเหล่านี้ที่มีความต้องการเปลี่ยนไป

นี่คือที่มาของ VIPA (Vision & Passion) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ที่ไทยพีบีเอสเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ดูฟรี แบบไม่มีโฆษณา และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม แม้ปัจจุบันคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงยังอยู่ในกลุ่มบันเทิง ละครซีรีส์ และสารคดี แต่ในอนาคต VIPA จะเพิ่มบทบาทการเป็น Creative Hub ส่งเสริมให้ Content Creator ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ หรือคนในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานของตนเอง และมีโอกาสเติบโตไปในตลาดระดับโลก

“เราคิดว่าหน้าที่ของสื่อสาธารณะควรถูกออกแบบมาเพื่อให้มีบทบาทนี้ด้วย ไม่ใช่แค่ทำแพลตฟอร์ม หรือผลิตคอนเทนต์มาเพื่อดึงคนมาดูเท่านั้น แต่มีหน้าที่ส่งเสริมการเติบโตของ Content Creator ในบ้านเรา ถ้าเราทำได้แข็งแรงขึ้น เราฝันที่จะเป็นตัวแทนในการแข่งขันกับ Global Streaming”

แน่นอนว่าเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทาย หากต้องแข่งกับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีทั้งงบประมาณ และ Economies of Scale ดังนั้นไทยพีบีเอสต้องคิดต่าง โดยมีแผนการนำโมเดลที่น่าสนใจจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างประเทศมาทดลองใช้กับ VIPA

“เราศึกษาสตรีมมิงแพลตฟอร์มต่างประเทศพบว่า มีโมเดลการสนับสนุน Content Creator ที่น่าสนใจ โดยทำในลักษณะ Crowdfunding เช่น การเชิญ Content Creator ทำคลิปวิดีโอ หรือเขียนบทความต่าง ๆ หรือบันทึกเสียง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในมุมมองของตัวเองต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ แล้วแชร์บนแพลตฟอร์มนั้น ๆ ให้คนเข้ามาเสพและกดโหวตว่าชอบผลงานชิ้นไหน ผลงานที่ได้รับการโหวตมากที่สุดจะได้รับเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากผู้ดูแลแพลตฟอร์ม เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานต่อเป็นซีรีส์ หรือสารคดีขนาดยาวมากขึ้น”

โมเดลนี้จึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  เพราะเชื้อเชิญทุกคนเข้ามาร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เป็นผู้ชม ผู้โหวต หรือผู้สนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งเป็น Content Creator ในคน ๆ เดียวกันด้วย

รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า โมเดลนี้จะเริ่มเปิดตัวให้เห็นในปีหน้า โดยเชื่อว่า Content Creator ที่นำคอนเทนต์มาไว้ในแพลตฟอร์ม VIPA มีโอกาสได้ไปต่อในระดับโลกมากกว่า เพราะไทยพีบีเอสเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่มีแบรนด์ย่อย หรือ Sub-Brands กลุ่มต่าง ๆ มากมาย แต่ละ Sub-Brands ก็มีฐานแฟนคลับของตัวเอง เข้ามาช่วยกันทำกิจกรรมดึงดูดคนที่สนใจในประเด็นต่าง ๆ เข้ามาเป็น Content Creator ที่สำคัญไทยพีบีเอสยังมีพันธมิตร หรือ Co-Partner อาทิ กลุ่มสนับสนุนงานสร้างสรรค์ กลุ่มทำงานกับต่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐอย่าง กสทช. ที่พร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินทุนให้ Content Creator ไปผลิตต่อ หรือผลักดันให้ Content Creator ไปสู่ตลาดโลกได้


“ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสสั่งสมความร่วมมือกับเครือข่ายสื่อสาธารณะสากลมานานหลายปี อาทิ BBC ของอังกฤษ NHK ของญี่ปุ่น และ EBS ของเกาหลี เป็นต้น ผ่านการร่วมผลิตคอนเทนต์ และแลกเปลี่ยนคอนเทนต์ นอกจากนี้ ปัจจุบันเรายังร่วมผลิตสารคดีธรรมชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน และอีก 2-3 ปีจากนี้ เราวางเป้าที่จะขยายความร่วมมือไปในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยขยายช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์จากขอบเขตอาเซียนต่อยอดไปสู่ระดับโลกได้”

แต่ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาอีกในอนาคต ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสยังตอกย้ำการเป็นสื่อสาธารณะที่เข้าถึงทุกคน ดังนั้นทิศทางการทำงานต่อจากนี้ไป จึงไม่ใช่ One to Many อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเพิ่มเติมด้วย One to One และ Many to Many มีทุกคอนเทนต์ ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อทุกคน

เว็บไซต์ https://www.VIPA.me App:VIPA YouTube:VIPAdotMe Facebook:@VIPAdotMe Twitter:@VIPAdotMe TikTok:@VIPAdotMe





กำลังโหลดความคิดเห็น