xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศงานวิจัย ในเวที International Medical Student Research Conference (IMRC)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอแสดงความยินดีกับ 2 นักศึกษาแพทย์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนองานวิจัยในเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านการวิจัยของนักศึกษาแพทย์ (International Medical Student Research Conference : IMRC 2022) โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาแพทย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ด้านการวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาแพทย์ และสถาบันการศึกษาในส่วนรวม

สำหรับนักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้รับรางวัลจากการส่งผลงานร่วมประกวดในการจัดแข่งขันงานวิจัยสำหรับนักศึกษาแพทย์ระดับนานาชาติ ประจำปี 2565 ประกอบด้วย
1. นางสาววนภัส วชิรเดชกุล นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอผลงานวิจัยแบบ Oral presentation ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Best of Basic Science Research) โดยมีนักศึกษาผู้ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ นางสาวณัฐณิชา รางชัยกุล นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 และ อาจารย์ ดร.ปวินทร์ พงศ์กอปรสกล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย

โดยผลงานเข้าร่วมประกวดที่ได้รับรางวัล หัวข้อเรื่อง Inhibition of intestinal tight junction-dependent leak pathway permeability by gallic acid as a cellular basis for the pharmacological effect of Ocimum sanctum L. flower aqueous extract เป็นประเด็นงานวิจัย เกี่ยวข้องกับเซลล์ลำไส้ ที่มีโปรตีนกลุ่มไทต์จังชั่นที่ทำหน้าที่ป้องกัน ไม่ให้สิ่งแปลกปลอมจากในโพรงลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบตามมา ดังนั้นเพื่อคงไว้ซึ่งภาวะสมดุลของสิ่งแวดล้อมภายในลำไส้ โปรตีนกลุ่มไทต์จังชั่นจึงควรจะมีความเสถียร ทั้งนี้ความไม่เสถียรของโปรตีนกลุ่มไทต์จังชั่นในเซลล์ลำไส้อาจนำไปสู่การเกิดโรคลำไส้อักเสบ โรคท้องร่วงซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และโรคติดเชื้อในลำไส้ชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ออกฤทธิ์มุ่งเป้าที่ความเสถียรของโปรตีนกลุ่มไทต์จังชั่นโดยตรง การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงกลไกทางเภสัชวิทยาในระดับโมเลกุลของสารสกัดดอกกระเพรา และสารสำคัญจากดอกกระเพราอย่าง Gallic acid จากการศึกษาในเซลล์ลำไส้เพาะเลี้ยงพบว่า สารสกัดดอกกระเพรา และ Gallic acid มีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูผนังเซลล์ลำไส้โดยการรักษาและเพิ่มความเสถียรของโปรตีนกลุ่มไทต์จังชั่น (Tight junction) ของลำไส้ นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังส่งเสริมการพัฒนานำสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตรของประเทศไทยมาเพิ่มมูลค่าอีกเช่นกัน

2. นางสาว ณิชาภา จินดาดวงรัตน์ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอผลงานวิจัยแบบ Poster presentation ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Best of Basic Science Research) โดยมีนักศึกษาผู้ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ นางสาวณัฐณิชา กิตติอุดม นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 นางสาวธามม์ ลิมวัฒนานนท์ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 และ นางสาวณัฐกฤตา โชคสุขชลาลัย นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 และ อาจารย์ ดร.ปวินทร์ พงศ์กอปรสกล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย

โดยผลงานเข้าร่วมประกวดที่ได้รับรางวัล หัวข้อเรื่อง An agonist of a cannabinoid-sensing GPR55 enhances intestinal tight junction re-assembly via AMPK- and ERK-dependent mechanisms เป็นประเด็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาหรือสารสกัดที่มาจากกัญชาในการรักษาโรคลำไส้อักเสบแสดง ไม่ถึงศักยภาพเชิงเภสัชวิทยา อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการใช้กัญชาหรือสารสกัดที่มาจากกัญชาก่อให้เกิดความเป็นพิษ การศึกษาในระดับโมเลกุล และระดับเซลล์ รวมถึงตัวรับ (Receptor) จึงมีความสำคัญ ต่อการพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษาและลดความเป็นพิษ สำหรับงานวิจัยนี้ คือการศึกษาเชิงลึกในระดับโมเลกุลเกี่ยวกับบทบาทของตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อว่า G-protein coupled receptor 55 (GPR55) ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบว่าเป็นตัวรับของสารจำพวก Cannabinoid ที่มีการแสดงออกในลำไส้เป็นจำนวนมาก ในการศึกษานี้ ผู้วิจัยใช้สารสังเคราะห์ที่สามารถกระตุ้นการทำงานของ GPR55 อย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อจำลองสถานการณ์ทางเภสัชวิทยาของการกระตุ้น GPR55 จากผลการทดลองทำให้ทราบถึง GPR55 มีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูผนังของเซลล์ลำไส้ และค้นพบกลไกการออกฤทธิ์ของยาที่สามารถกระตุ้น GPR55 ต่อการเพิ่มความเสถียรของโปรตีนกลุ่มไทต์จังชั่น (Tight junction) ในเซลล์ลำไส้ การศึกษานี้อาจนำไปสู่การพัฒนายาที่มีเป้าหมายต่อความเสถียรของ Tight junction ในลำไส้ที่ยังไม่มีการค้นพบมาก่อน ทั้งนี้การช่วยเพิ่มความเสถียรของ Tight junction ในลำไส้นั้น มีประโยชน์ต่อการรักษาโรคลำไส้อักเสบ และ โรคท้องร่วงที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นต้น

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งหวังให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และมีทักษะความสามารถมากขึ้นกว่าการเรียนแพทย์ธรรมดาทั่วไป โดยจะเห็นว่าในปัจจุบันนอกจากการเรียนแพทย์ตามปกติ ต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางคลินิก ทักษะทางด้านวิจัยและกระบวนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเชิงลึกแล้ว เรายังส่งเสริมนักศึกษามีการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการสื่อสารระหว่างคนไข้กับหมอ หรือตัวคุณหมอเองกับวิชาชีพอื่น ซึ่งเราจะปลูกฝังแต่ปีต้นๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมพร้อม อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านงานบริการสาธารณะ อันจะเป็นการปลูกฝังในเรื่องการทำประโยชน์เพื่อสังคม ชุมชน และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป

ติดตามข่าวสาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ทาง https://www.facebook.com/PSCM.CRA และ http://pscm.cra.ac.th







กำลังโหลดความคิดเห็น