วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เปิดห้องเรียนหลักสูตรฟิสิกส์การแพทย์ ณ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แนะนำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ ให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมกระบวนการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานจากสถานที่จริง เพื่อให้ได้รู้จักบทบาทและหน้าที่ของ นักฟิสิกส์การแพทย์
อาจารย์ ดร.จีรศักดิ์ คำฟองเครือ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เปิดเผยว่า "ฟิสิกส์การแพทย์" เป็นสาขาวิชาที่นำความรู้และกระบวนการทางฟิสิกส์และการคำนวณมาประยุกต์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยด้วยรังสี ซึ่งนักฟิสิกส์การแพทย์ในโรงพยาบาลจะทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย รังสีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ และนักรังสีการแพทย์ ทั้งนี้ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ การวินิจฉัยและการรักษาชนิดใหม่ๆ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านฟิสิกส์การแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัย การรักษาผู้ป่วยด้วยรังสี เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงสุด
บทบาทและหน้าที่ของ “นักฟิสิกส์การแพทย์”
• คำนวณปริมาณรังสีที่ใช้ในการฉายรังสีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
• กำหนดระดับปริมาณรังสีและการควบคุมคุณภาพของภาพถ่ายรังสีให้มีความเหมาะสม
• ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพเครื่องกำเนิดรังสีและเทคนิคการฉายรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย
• วางแผนการรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์
• บริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางรังสี
• วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับงานทางด้านรังสีการแพทย์ โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านฟิสิกส์รังสีกับความรู้และเทคโนโลยีแขนงอื่น เช่น สถิติ คอมพิวเตอร์ และการประมาลผล ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ เพื่อรองรับการผลิตมหาบัณฑิตสาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนของประเทศ โดยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์ผลิตบุคลากรด้านฟิสิกส์การแพทย์ที่มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติที่ก้าวทันต่อวิทยาการด้านฟิสิกส์การแพทย์ และวิทยาการด้านอื่นๆ แบบคู่ขนาน สามารถทำการศึกษาวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมในสาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การเรียนการสอนในหลักสูตรจะส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Approach) ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐาน การตั้งคำถาม การประยุกต์ใช้ความรู้ในการออกแบบแผนการปฏิบัติและการประเมินผล อีกทั้งผลักดันการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณ ควบคู่ไปกับส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านปฏิบัติการเชิงคลินิก และการพัฒนานวัตกรรม
นักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดความรู้พื้นฐานทางด้านฟิสิกส์การแพทย์ อีกทั้งจะได้เข้าร่วมและลงมือฝึกปฏิบัติจริงทางคลินิก โดยเครื่องมือที่ทันสมัยและครบครันที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งจะได้ฝึกทักษะทางคลินิกตั้งแต่วันแรกหลังจากการเรียนปรับพื้นฐาน นอกจากพัฒนาองค์ความรู้และทักษะต่างๆ แล้วนั้น นักศึกษายังจะได้เรียนรู้ด้านการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้เท่าทันเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาทางคลินิกควบคู่กับด้านวิชาการที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาวิศวกรรมสาขาต่างๆ อาทิ รังสีฟิสิกส์การแพทย์ รังสีชีววิทยา ฟิสิกส์การแพทย์ และรังสีแพทย์ ที่สามารถพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเชิงบูรณาการแบบสหสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความร่วมมือทางด้านการเรียนการสอนและวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยชั้นนำและภาคเอกชนและต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เยอรมนี สวีเดน และญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การทำงานจริงทั้งในและต่างประเทศ และสามารถทำงานวิจัยที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่การเป็นนักฟิสิกส์การแพทย์ ที่ในอนาคตจะมีแนวคิดที่เป็นนวัตกรรม สามารถสร้างเครื่องมือหรือระบบต่างๆ ใช้งานได้ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพการรักษาและระบบสาธารณสุข รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น มีพลังความตั้งใจ มาเป็นส่วนหนึงในการร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ไทยและสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2676-6700 ต่อ 8483 (ในวันและเวลาราชการ), medicalphysics.pscm@cra.ac.th และ https://pscm.cra.ac.th/