“จ๋า อลิสา” ไม่หวงนางงาม และพร้อมสนับสนุน หากอนาคตกฎหมายเปลี่ยน แล้วอยากไปร่วม MUT บอกรู้สึกดีกับกฎใหม่และขอบคุณที่ให้โอกาส ไม่ได้มองว่าแย่งทาร์เก็ต เพราะเป้าหมายสูงสุดคือความเท่าเทียม ยันสาวข้ามเพศมีความพยายามสูงกว่าคนทั่วไป สู้จนลบปมด้อยตัวเอง
เป็นปรากฎการณ์ใหญ่เลยทีเดียว กรณีที่เวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ออกกฎใหม่ยอมให้ผู้หญิงข้ามเพศร่วมประกวดบนเวทีได้ งานนี้ “จ๋า อลิสา พันธุศักดิ์” เจ้าของเวทีมิสทิฟฟานี ก็ได้เปิดใจถึงประเด็นนี้ว่า
“เอาจริงๆ ความคาดหวังของคนเนี่ย จะมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราทำอะไร เราจะพยายามที่จะไปให้เท่าหรือมากกว่าความคาดหวัง เราต้องทำให้ดีที่สุดอยู่แล้วค่ะ มันเป็นหน้าตาของประเทศและของทิฟฟานี่โชว์ค่ะ ก็กำหนดแล้วเป็นเดือนมิถุนายนปีหน้า ถามว่ากฎเกณฑ์พิเศษจากเดิมมีไหม ก็ค่อนข้างที่จะยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากว่าแต่ละคนประเทศเขาเลือกมาก่อน เราไม่ได้มีกฎเกณฑ์นะ แต่เราเลือกเขายากขึ้นเนื่องจากว่าในหนึ่งประเทศถ้าเขาไม่ได้เป็นไลเซนส์ (license) เรา เราจะมีตัวเลือกเยอะมาก คนสวยเยอะมาก สิ่งที่ยากน่าจะเป็นกรรมการ ที่จะเลือกคนที่สวยที่สุดเข้ามา”
รู้สึกดีกับเวทีมิสยูนิเวิร์ส หลังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงข้ามเพศเข้ามาประกวดได้แล้ว
“จ๋าว่าดีนะ ถ้าในวันหนึ่งเราสามารถทำในจุดนั้นได้ ถือว่ามันเป็นความเท่าเทียม แล้วก็เป็นสิ่งที่เราโหยหามาตั้งนานแล้ว แล้วเวทีเราให้โอกาสคน ในการที่จะโชว์ศักยภาพ มีอาชีพที่ดี รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แล้วก็พยายามที่จะตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ในการทำงานที่มีความภาคภูมิใจกับตัวเองและครอบครัว อันนี้เป็นเวทีเรา ถ้าพูดถึงเรื่องการให้โอกาส แต่ถ้าเวทีอื่นจะให้โอกาสเพิ่ม แล้วก็กลายเป็นคนที่ไม่มีความแตกแยก ไม่มีเรียกว่า LGBTQ อันนั้นมันเป็นเป้าหมายสูงสุดของเวทีเรานะ เราตั้งมั่นว่ามันเป็นวัตถุประสงค์ของการประกวดมาตั้งแต่ต้น”
ขอบคุณที่ให้โอกาส ไม่ได้มองว่าจะมาแย่งทาร์เก็ต
“ไม่ๆ จ๋าจะขอบคุณด้วยค่ะ ที่ทุกคนให้โอกาสเด็กๆ มันเหมือนที่เราคิดไว้ตั้งแต่ต้น แต่มันอยู่ที่กฎหมาย เราถึงพูดว่าคนในประเทศก็ต้องมองว่า สิทธิของคนทุกคน ความสุขของคนอื่นเราก็ต้องยอมให้คนอื่นด้วย แล้วเวลาเราทำกฎหมาย ก็ไม่ใช่มองว่าเราจะเสียเปรียบอะไร เราจะต้องบอกว่ากฎหมายนี้จะเอื้อประโยชน์ให้คนที่เขายังไม่ได้สิทธิ์ยังไง”
ถ้าวันหนึ่งน้องๆ มิสทิฟฟานี่ ไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส ก็จะดีใจและช่วยสนับสนุน
“เราก็จะดีใจ กรี๊ด แล้วก็จะช่วยสนับสนุน แล้วก็เดี๋ยวคอยดู ว่าจะได้ที่หนึ่งของโลกไหม (ยิ้ม)”
น้อมรับถ้าคนจะมองว่า เวทีมิสทิฟฟานี่เป็นด่านแรกในการสแกน หากในไทยผู้หญิงข้ามเพศไปประกวดได้
“ใช่ๆ แล้วเวทีเรา ก็น่าจะทำได้ดีมากด้วย เพราะเวลาเราส่งไปประกวดที่ไหน เราก็ได้ที่หนึ่งมาตลอด จนต้องมานั่งทำเวทีเองแล้วเนี่ย”
ไม่หวงเด็กเวทีตัวเอง หากในอนาคตจะมีกฎหมายใหม่ อนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้า แล้วน้องๆ อยากจะไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส
“ไม่หวงเลยค่ะ ขอให้โอกาส แล้วก็ขอให้กฎหมายมันทันสมัย มีความเท่าเทียม มีสแตนดาร์ดในเรื่องของการให้โอกาส วันนี้เราต้องการแค่โอกาส”
คิดว่ากติกาการตัดสิน ของเวทีที่มีผู้เข้าประกวดทั้งผู้หญิงและผู้หญิงข้ามเพศ คือทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน และกรอบตั้งไว้ต้องชัดมาก
“จ๋าว่ามันต้องเป็นเรื่องของกระบวนการในการคัดเลือก จริงๆ ทุกคนต้องเป็นผู้หญิงนะ เวทีเราเองเราก็เน้นในเรื่องของความเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นในลักษณะร่างกายและจิตใจ เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นผู้หญิง คนที่มาทำกติกาตรงนี้ในเวทีโลก ที่สามารถที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ เขาก็ต้องมองเรื่องเดียวกัน ในเรื่องของวิธีปฏิบัติ แล้วก็บุคลิกภาพ เราอยากได้คนคุณภาพ เราก็ต้องสร้างคุณภาพให้กับเขา จ๋าคิดว่าหลักก็สำคัญ วิธีการทำงานประกวด เราต้องมีหลัก เราต้องชัดและเซ็ตสแตนดาร์ดไว้ให้ดี เพราะเราก็ไม่อยากจะทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าอ้าว... เราถูกทำให้ไม่เท่าเทียมอีก แต่มันก็อยู่ที่เราเซ็ตค่ะ กรอบของเรามันต้องชัดมาก”
บางคนอาจจะมองว่า ผู้หญิงข้ามเพศได้เปรียบเรื่องของความสูงและรูปร่างกายภาพที่ดีกว่าหญิงแท้
“โอ้ย…แต่เขาก็มีเรื่องที่เสียเปรียบเยอะมาก โดยที่ว่าต้องมาถามเราหน่อย ว่าทำยังไงที่เราจะช่วยปกปิดในความที่เป็นข้อเสียเปรียบ คนที่ชนะคือคนที่ทำให้ข้อเสียเปรียบมันมองไม่เห็น มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด คนทุกคนไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือเป็นทรานส์เจนเดอร์มีข้อบกพร่องหมด แต่ใครที่ทำให้เพอร์เฟกต์ที่สุดเท่านั้นเอง”
มีคิดอยากให้ผู้หญิงแท้ มาร่วมบนเวทีมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีนบ้าง แต่คงมีน้อยคนที่สนใจ เพราะเขามีเวทีของตัวเองอยู่แล้ว
“โอ้ย…จ๋ามีความรู้สึกว่าจ๋าก็อยากนะ แต่จ๋ามองว่าของเรามันสเปเชียลไลฟ์มาก แล้วมันก็น้อยคน ที่เขาจะอยาก เพราะมันมีเวทีของเขาอยู่แล้ว มันค่อนข้างที่จะเฉพาะกลุ่ม บางคนเขาก็ไม่อยากไปประกวดกับผู้หญิงก็มี เวทีนี้ก็เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เขาตลอดไป ว่าถ้าอยากประกวดเป็นหนึ่งในตองอูของระดับทรานส์เจนเดอร์ ยูก็ต้องมาที่นี่อะไรแบบนี้”
ความพิเศษของผู้หญิงข้ามเพศและสาวประเภทสอง คือการมีความพยายามที่มากกว่าคนปกติ
“ความพยายาม ความพยายามเขาจะมากกว่าคนปกติ คนที่ขึ้นมาบนเวทีนี้ เขาจะมีความพยายามที่สูงมาก เพราะฉะนั้นเรานับถือความพยายามของเขานะ เขารู้ตัวตน เขารู้ว่าเขามีปมด้อยเรื่องอะไร แต่เขาสู้ผ่านมาจนวันนี้ เรารู้สึกว่ามันคุณภาพ แล้วก็ภูมิใจแทนพ่อแม่หรือครอบครัวเขา แล้วเขาก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทุกคน ในครอบครัวอื่นๆ ที่มีลูกเป็นทรานส์เจนเดอร์ค่ะ”