เป็นหนึ่งในคนยุคใหม่ที่ใช้สื่อโซเชียลสร้างงาน สร้างเงินได้เป็นกอบเป็นกำ สำหรับนักแสดงหญิงอย่าง “ก้อย อรัชพร โภคินภากร”
น่าสนใจทีเดียวว่า ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยกับมุมแง่ลบในหลายๆ ด้านของโลกมายาตรงนี้ แล้วเธอล่ะมองสังคมก้มหน้าในทิศทางไหนกันบ้าง?
“ก้อย นัตตี้ ดรีม เรามาด้วยจังหวะเวลาที่พอดีด้วย เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม โควิดเข้ามา คนไม่มีอะไรทำ เราเองก็ไม่มีอะไรทำ เลยหาทำ มันเป็นความโชคดีบวกกับเคมีที่ถูกต้องในการเป็นเพื่อนกันของเรา จนทำให้เรามาถึงจุดนี้...” นักแสดงหญิงเผยการผันตัวมาเป็นยูทูบเบอร์ของตนเองกับเพื่อนๆ ในรายการ “ถ้าหนูรับพี่จะรักป่ะ”
“พอเราทำโซเชียลมาได้จุดนึง เราจะคิดว่าเป็นตัวเอง จะทำอะไรก็ทำดิวะ เราก็แค่โชว์ความเป็นตัวเราที่เป็นทุกอย่างออกมา แต่วันนึงที่เราเจอกับดรามา และผ่านอะไรมาหลายๆ อย่าง เราก็ตกผลึกว่าจริงๆ แล้ว โซเชียลมีเดีย ยูทูบทุกวันนี้มันก็เทียบเท่าสื่อหลักไปแล้ว”
“มันเอฟเฟกต์กับผู้คนในสังคม เราพยายามคิดงาน คิดคอนเทนต์ที่มันยกระดับเขาบ้าง ทำให้มันผสมกันไป ไม่ได้ทำเอาเฮฮาปาหี่ไปวันๆ พยายามจะคิดคอนเทนต์ให้มันมีอะไรมากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าตัวเราเองเวลาดูสื่อ มันยังทำให้เราเติบโตมาเป็นเราทุกวันนี้เลยจากสื่อหลายๆอย่าง เราก็เชื่อว่า เราเองก็ถูกสื่อหล่อหลอมมาเหมือนกัน ก็เลยพยายามคิดคอนเทนต์ให้มันสร้างสรรค์ขึ้น”
“เราต้องเลือก ทำให้มันบาลานซ์กัน ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเราไปเปิดดูยอดรายได้การทำคอนเทนต์ มันอาจจะไม่ใช่บันเทิงจ๋า แต่มันก็จะดึงคนอีกแบบเข้ามาในช่องเรา คนที่เขาต้องการจะรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ยูทูบ 1 ช่องคุณสามารถทำรายการได้หลายแบบ บางคนชอบวาไรตี้ บางคนชอบมีความรู้หน่อยๆ เราเรียนมาด้านนี้โดยตรง เราก็พยายามจะใส่ข้อมูลคืนกลับไปให้คนที่มาดูช่องเราได้อะไรกลับไป”
ไม่ท้อทำคอนเทนต์ดีๆ แม้จะไม่โดนใจคน แต่ทำเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจตัวเอง
“บางคลิปเราอินมากเลยนะ แต่ไม่โดนคน มันก็มี เช่น คลิปพาแม่ไปกินข้าว เป็นคอนเทนต์น่ารักๆ คนก็จะกลางๆ คนจะชอบดูที่เราแซ่บๆ มันส์ๆ แต่เราก็รู้สึกว่าจะให้เราฟาดๆ แรงๆ ทุกคอนเทนต์ก็ไม่ไหว มันก็ต้องเป็นชีวิตบ้าง เป็นอะไรที่เราอยากทำบ้าง”
“เราสามคนมีคุยกันว่าคลิปไหนที่เราอยากจะทำกัน แล้วยอดมันอาจจะไม่ได้เวิร์ก มันคือการหล่อเลี้ยงตัวเราเอง ให้เรามีสิ่งที่เราอยากจะทำ ไม่ใช่ทำเพื่อเสิร์ฟว่าเราจะต้องล้านทุกคลิป มันก็คงจะไม่มีความสุข เราก็ต้องทำการบ้านหน่อย อะไรที่มันเป็นประเด็นสังคม ตอนนี้คนอยากรู้อะไร”
นักแสดงหญิง เผยว่า 2 ปี ในการเป็นยูทูบเบอร์ รายได้มหาศาล สร้างตัว เลี้ยงดูครอบครัวให้สุขสบายได้ แต่ก็แลกมาด้วยดรามามหาศาลเช่นกัน...“ก็ยอมรับว่า เราสามารถสร้างชีวิตเราได้เลย ตั้งตัว เลี้ยงครอบครัวได้เลย แต่เดี๋ยวนี้คนทำกันเยอะ รายได้ก็ถูกแชร์ออกไปเยอะมาก”
“การที่เราทำสิ่งนี้มันทำให้เราเติบโตขึ้นในทุกด้านเลยนะ จากการที่เราไปเจออะไรระหว่างทาง เราทำไป พูดแบบนี้ คนมองยังไง เราทำไป คนไม่ชอบ เราจะจัดการยังไง เราเคยโกรธชิบหายเลยที่คนมานั่งด่าเรา แต่แล้วไง เหมือนเราก็โตขึ้นไปกับมัน”
“มันมีหลายอารมณ์มากๆ ตอนนั้นคือโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ มาด่าอะไรหนักหนา มาด่าพ่อล่อแม่กันเลย แล้วเราก็เป็นคนที่มีพื้นฐานไม่ยอมคน ไม่มีใครชอบให้คนมาด่าหรอก ตอนนั้นเราเหมือนคนเป็นบ้า เราคะนอง เราอยากอธิบายให้คนได้รู้จักเราจริงๆ ใครเมนต์อะไรมาตอนนั้นคือก้อยตอบทุกคอมเมนต์”
“ก้อยเคยโทรไปคุยกับคนที่มาด่าก้อยด้วยนะ เราเมนต์ไปให้เขาส่งเบอร์มา ก็คุยกันตั้งแต่ 3-4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า และนั้นคือแค่คนเดียว การได้คุยกันเสร็จสิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ นี่เราทำให้คนแค่คนเดียวเข้าใจเรานะ แล้วถ้าคนเป็นพันเป็นแสน คงต้องใช้เวลาทั้งชีวิต”
“รู้สึกว่ามันเหนื่อยมากเลยวะกับการที่ทำให้คนๆ เดียวเข้าใจในตัวเรา แต่ก็จบลงด้วยดีนะ เขาก็เข้าใจเรามากๆ แต่เราได้รู้ว่าเราทำสิ่งนี้กับทุกๆ คน ไม่ได้จริงๆ จากนั้นร่างกายมันก็เกิดระบบภูมิคุ้มกันสิ่งนี้ขึ้นมาเอง วันนี้เขาด่าเรา เราก็รู้ แล้วก็จบไป อ๋อโอเค โลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ”
มาถึงจุดนึงการดึงตัวตนของตัวเองออกมาเพื่อเป็นรายได้ มันมีวันที่เหนื่อยเหมือนกันนะ
“มันเหนื่อยเหมือนกันนะ โชคดีที่เราทำกับเพื่อน มีคนแชร์ โดนด่าก็แชร์กัน คนชมก็แชร์กัน ใครเฟลก็ช่วยกัน ตัวก้อยถ้าช่วงไหนหมดแพชชันกับโซเชียล ก้อยก็จะฉีกตัวเองไปทำอย่างอื่น ไปเล่นละครเวที ไปอ่านหนังสือ ก้อยก็ต้องไปหาสิ่งที่มันจะเติมเต็มเราให้เรากลับมาได้”
“การที่ตัวเราในโซเชียล มันไม่ได้ถูกแพลนว่าเราจะเป็นแบบไหน ทุกอย่างที่เห็นมันมาจากการที่เป็นตัวเราที่ใช้พลังงานสูงหน่อย แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา มันก็เป็นเราในพาร์ทนึง เราก็ไม่ได้โชว์ความเป็นตัวเองออกมาทุกด้านขนาดนั้น มันมีเหมือนกันนะวันที่เราเหม็นโซเชียล”
“พอเรารู้ตัวเราก็ไปทำอย่างอื่น ก้อยจะไปเรียนแอคติ้ง ซึ่งการไปเรียนแอคติ้งของก้อยไม่ได้เพื่อมาแอคติ้ง ก้อยรู้สึกว่าการเรียนแอคติ้งมันเป็นการบำบัดของเรา เรารู้แค่ว่าเราชอบทำอะไร เราก็จะวิ่งไปหาสิ่งนั้นและใช้เวลากับสิ่งที่เราอยากทำมันมากๆ มันก็เติมพลังให้เรากลับมา หรือบางทีการที่เราไม่ทำอะไรเลย มันก็เป็นการบำบัดอย่างนีง อยู่เฉยๆ แฟบๆไป มันก็โอเค เราก็แค่ต้องบาลานซ์มันให้ได้”
การบาลานซ์เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะในชีวิตโซเชียล หรือว่าโลกส่วนตัวจริงๆ
“อย่างถ่ายรายการเที่ยว แรกๆ ถ่ายตลอดเวลา เพราะฟิตไง แต่หลังๆ คือต้องมีการวางแพลนก่อนเดินทาง วางถ้าตรงนี้เก็บนะ แล้วมีช่วงให้เรารู้สึกว่าเราได้พักผ่อนจริงๆ ด้วย เพราะถ่ายตลอดมันเท่ากับเราไม่ได้เที่ยว เราไม่ได้ชื่นชมและอยู่กับบรรยากาศตรงนั้นจริงๆ การหยิบกล้องขึ้นมามันจะเป็นอีกฟีลนึงเลยนะ”
“มันมีนะ ที่ทำไปแล้วทุกคนจะต้องมาถึงจุดที่ต้องยอมรับกันให้ได้ว่าไม่มีทางที่เราจะอยู่บนยอดตลอดไปอยู่แล้ว ตอนแรกที่มันตก มันมีแหละที่เราจะหาทาง จะทำยังไงจะทำอะไรดี แต่สุดท้ายเราทำอะไรไม่ได้หรอก เพราะนี่มันคือตัวตนเรา สุดท้ายเราก็ต้องทำในสิ่งที่มันเป็นตัวตนเรา และพยายามหาอะไรแปลกใหม่ที่ตัวเราอินไปเรื่อยๆ ถ้าคนอินกับเราเขาก็ดู เราก็จะพยายามพัฒนาคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ”
ในยุคที่คนใครก็เป็นยูทูบเบอร์ได้ “ก้อย อรัชพร” แนะนำและให้แง่คิดว่า...“ก้อยสนับสนุนตลอด ยูทูบมันเป็นช่องทางที่ง่ายในการที่เราจะพรีเซนต์อะไรบางอย่าง แค่คุณชอบแต่งรถ คุณก็แต่งรถลงยูทูบได้ คุณไม่ต้องไปคาดหวังยอดวิว แต่มันจะมีคนที่ชอบสิ่งเดียวกับคุณมารวมตัวกัน”
“ก้อยเห็นบางช่องยอดหลักหมื่น แต่มันเป็นหลักหมื่นที่ลูกค้าก็เข้า เพราะตรงกับทาเกตกับสิ่งที่ลูกค้าเขาจะทำจริงๆ ก้อยรู้สึกว่ามันเป็นการลงทุนที่น้อย คุณแค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วเป็นตัวเองไป ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรเสียหาย วันนึงถ้ามันไปโดนใจคนที่ตรงกับคุณ คุณก็จะมีฐานขึ้นมา ก็เป็นพื้นที่ที่เราได้แชร์ตัวตนกับคนอื่นๆดี ก้อยสนับสนุนให้คนทำยูทูบนะ การทำยูทูบคือคนดูอยากดูไลฟ์สไตล์ คนดูอยากดูความจริง”
“การถ่ายยูทูบก็คืองานๆ นึงของเรา ก้อยพูดกับเพื่อนเสมอว่ามันเป็นสิทธิพิเศษด้วยซ้ำ เรามีทุกวันนี้มาได้ด้วยสิ่งนี้ แม้ตอนนี้จะมีงานของตัวเอง แต่เราควรให้คุณค่ากับสิ่งนี้ มันเป็นงานแต่มันเป็นงานที่ทำกับเพื่อน คนเลยจะรู้สึกดูเหมือนว่ามันไม่ใช่งาน มันเป็นความโชคดีของเรา”