หลายคนเห็นภาพ “เอิร์น จิรวรรณ ชัยรุ่งเรือง” หรือ “จิรวรรณ เตชะหรูวิจิตร” นักร้องยุค 90 และผู้บริหารโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี เป็นลูกคุณหนู ร่ำรวย สร้างคฤหาสน์พันล้าน ที่เธอคาดหวังว่าจะสามารถอยู่ไปได้ถึง 100 ปี เรื่องความร่ำรวย เอิร์นไม่ปฎิเสธ แต่เอิร์น ได้เล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เธอยึดถือเป็นคัมภีร์ชีวิต ที่อยากจะส่งต่อกับทุกคนนั้นก็คือ เรื่องของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เธอบอกว่าแม้โลกจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังนำมาใช้ได้เสมอ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เหมาะกับทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่แยกแยะ เชื้อชาติ ศาสนา คนรวย คนจน เพราะความพอเพียงเป็นรากฐานของทุกอย่างในชีวิต
“คำว่าพอเพียง มันคือพอดี มันคือรากฐานของทุกอย่าง อะไรก็ตามที่ขาด อะไรก็ตามที่เกิน มันไม่ดี บางคนใส่ทุกอย่างไปเต็ม แต่มันเกิน มันก็ไม่ดี ทุกอย่างมันต้องเริ่มต้นจากการที่เรารู้ว่า ความพอเพียงคืออะไร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พ่อของแผ่นดิน ท่านได้คิดค้นหลักการนี้ และเราได้เรียนรู้จากความพอเพียงมาจากท่าน เมื่อเราศึกษาถึงคำว่าพอเพียงของท่านแล้ว เราจะรู้ว่าท่านไม่ได้บอกว่าให้เรามัธยัสถ์ ประหยัด ตระหนี่ในทุกๆ เรื่อง แต่เราจะต้องรู้ว่าเรามีเท่านี้เราจะต่อยอดยังไง
อยากให้ทุกคนได้ศึกษา ถ้าเราได้ไปรู้ทฤษฎีความพอเพียงของท่านจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่หมายความถึงการที่เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด และไม่ใช่การใช้ชีวิตที่ดีที่สุดคือการ มัธยัสถ์ แต่คำว่าพอเพียงคือใช้ในสิ่งที่พอดีกับตัว แล้วมีความสุข ส่วนที่เรามีเหลือเฟือเราก็เอาไปแบ่งปัน ส่วนที่เราขาด เราก็ต้องเรียนรู้ว่าเราจะทำยังไงเพื่อเอาไปต่อยอด นี่คือสิ่งสำคัญ ที่เอิร์นมองว่า ความพอเพียงมันคือรากฐานของทุกอย่าง”
ใช้ ปรัชญาความพอเพียง เป็นคีย์เวิร์ดสำหรับชีวิต
“มันใช่เลยสำหรับเอิร์น ตั้งแต่ที่มีแนวทางการเรียนรู้นี้ขึ้นมา ท่านสอน ปรัชญาความพอเพียง คืออะไร แต่เราต้องเข้าใจมันจริงๆ ก่อน อย่าตีความไปเองว่าพอเพียง = ความประหยัด ให้เราพอเพียง ประหยัดทุกวันจะได้มีเงินเก็บ แบบนั้นมันไม่ใช่นะ ที่ถูกคือ ถ้าคุณมี 100 คุณใช้ 80 ที่เหลือคุณเก็บออม อันนั้นมันก็ดี มันเป็นส่วนที่คุณจะเอาไปต่อยอดได้ แต่ถ้าคุณจะใช้หมด ท่านก็ไม่ได้บอกว่านี่คือการสุรุ่ยสุร่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องรู้จักว่าสิ่งที่มันพอเพียงกับชีวิตเรามันคืออะไร แบบไหน
ฉะนั้นเราต้องศึกษาและทำความเข้าใจก่อนว่าปรัชญาความพอเพียงคืออะไร รู้ให้ลึกซึ้ง จะทำให้เราได้รู้จริงๆ ว่า ความพอเพียงมันคือรากฐานของทุกอย่างจริงๆ ซึ่งโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี ที่เอิร์นบริหาร เราใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอดแทรก เรียนรู้ไปกับการเรียนการสอน เราวางรากฐานกันตั้งอนุบาล”
“เอิร์น จิรวรรณ” เล่าให้ฟังว่าหลังจากที่ได้ถอดบทเรียนความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ซึ่งตอนนั้นตัวเองก็บริหารโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี จึงนำปรัชญานี้เขาไปสอดแทรกกับการวางแผนหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน
“จุดเริ่มต้น หลังจากที่เราได้ศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างลึกซึ้งแล้ว เราจึงอยากปูรากฐานนี้ให้กับเด็กๆ ก็คือลูกๆ ของเราในโรงเรียนให้ได้ซึมซับไปด้วย อย่างแรกเลยคือเขาได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ได้ดูการเจริญเติบโตของสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละวัน ว่าสัตว์เขาเติบโตในแต่ละวันอย่างไรบ้าง เขาจะได้เห็นจริงๆ และสามารถเดินไปดูได้ตลอดทุกวัน ซึ่งการที่เด็กๆ ได้อยู่กับสัตว์และธรรมชาติทำให้เด็กๆ มีจินตนาการ ได้ปลดปล่อย ให้ธรรมชาติบำบัด เรามีม้า วัว ควาย ไก่ เป็ด แกะ ปลาในบ่อ ให้เด็กๆ ได้คอยดูแล บางคนไปนั่งวาดรูป นั่งมองท้องฟ้า เรามาพื้นที่ธรรมชาติไว้ให้เด็กๆ สำหรับเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เรามีสวนเมล่อนไว้ให้เด็กๆ ทำโปรเจกต์ เด็กๆ ได้เป็นผู้เริ่มกระบวนการของห่วงโซ่เลย ตั้งแต่หว่านเมล็ดเอง รดน้ำ ดูแลทุกวันจนเมล่อนสามารถเก็บเกี่ยวผลไปกินได้ ใช้เวลาประมาณเกือบ 3 เดือน เด็กๆ จะภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ลงมือทำ ได้เลี้ยงดู เฝ้าคอยดูการเจริญเติบโตของผลเมล่อน ตั้งแต่มันยังเป็นเมล็ดจนมันกินได้
สิ่งเหล่านี้มันเป็นเนื้อหาในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เรามองว่าเด็กๆ สามารถซึมซับได้ง่าย และมันส่งผลทั้งการเรียนรู้ทั้งการให้ความรู้และจิตใจของเขา ทำให้เด็กๆ ละเอียดอ่อน ช้าลง มองโลกจากหัวใจของเขา นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ความรู้ที่จะอยู่ให้เป็นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน”
ในปัจจุบันพบเด็กๆ มีภาวะเข้มแข็งทางอารมณ์น้อยลง
“หลายๆ บ้านพยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก เด็กคนนึงกลายเป็นเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์ (ลักษณะนิสัยของคนที่รักความสมบูรณ์แบบ) ทุกอย่างเป๊ะเหมือนออกมาจากแคตตาล็อก แต่เมื่อเขาได้มาเจอกับความผิดหวัง หรืออะไรก็ตามที่มันไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง เขาจะเฟล บางคนก็รู้สึกว่าเสียใจแหละ แต่เขาจะรู้วิธีฮีลตัวเองจากความทุกข์ ทำให้ตัวเองมีอารมณ์ดีขึ้น แต่กับเด็กที่ไม่เคยเจอแบบนี้ เขารับมือไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ ถ้าผู้ใหญ่ดูแลได้ทันท่วงทีก็โชคดีไป เรื่องแบบนี้มันมีให้เห็นเยอะมากในสังคมปัจจุบัน เราพบเด็กๆ ที่มีสมาธิสั้น ไบโพล่าร์ ซึมเศร้า สภาวะอย่างนี้เยอะมากถ้าพบเร็ว รักษาเร็ว เด็กๆ มีสิทธิ์หายได้เร็ว”
ภาวะปัญหาทางอารมณ์ต่างๆ เป็นภัยเงียบที่กำลังสะสม และส่งผลต่อเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ
“ทางครอบครัวต้องร่วมมือกับทางโรงเรียน ถ้าทางโรงเรียนเจอ แล้วแจ้งไปทางครอบครัว และแอ็กชั่นแก้ปัญหาทันที สามารถจบได้เร็ว เด็กๆ จะมีความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ แต่ในกรณีเดียวกัน เราเจอช้าหรือเจอในขั้นที่เขาอารมณ์รุนแรงแล้ว มีนะ เด็กบางคนที่เขาดูปกติทุกอย่าง แต่เมื่อพูดเรื่องใดเรื่องเดียวที่เขาไม่ชอบเลย อารมณ์เขาจะเป็นอีกคนนึงเลย เป็นด้านมืดอีกด้านนึง ปกติหงุดหงิด 1-20 แต่เด็กกลุ่มนี้เขาดีดไปถึง 100 ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต่อไปเมื่ออารมณ์เขาดีดไปถึง 100 เขาจะมีรีแอ็กชั่นยังไงกับเพื่อน ถ้ายิ่งแก้ไวยิ่งดีกับตัวเด็ก
ปัญหาพวกนี้มันสะสม และหล่อหลอมเด็กๆ ในยุคนี้ มาจากปัจจัยหลายสิ่งอย่าง สิ่งที่สำคัญ เราต้องทำยังไงก็ได้ ให้เด็กๆ ไม่มองเราเป็นมนุษย์ป้า เจ้าป้า ให้เขามองเราเป็นคนๆ นึงที่เขาสามารถปรึกษาเราได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่คนที่พร้อมจะลงโทษลูก แต่เป็นคนที่พร้อมจะชี้แจงให้เขาเห็นว่าถ้าเราทำแบบนี้มันไม่ดีกับเรายังไง”
“เอิร์น จิรวรรณ” ยังชี้ให้เห็นอีกว่า แม้แต่ความรักเองก็ยังต้องรักษาระดับให้อยู่ในระดับที่พอเพียง ไม่อึดอึดกับผู้ได้รับความรัก
“อีกเรื่องที่สังคมทุกวันนี้จะมีการพูดถึงกันคือ เรื่องของการที่คนรุ่นใหม่มองการเลี้ยงดูพ่อแม่ว่ามันเป็นภาระ เป็นตรรกะที่เขารู้สึกไม่โอเค เขารู้สึกโดนบีบให้กตัญญู เขารู้สึกว่าเขาอยากจะไปมีชีวิตของเขา เอาจากมุมของเอิร์นที่เป็นแม่คนก่อนนะคะ ต้องบอกว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าเมื่อเราแก่เฒ่าแล้วลูกจะต้องมาดูแล แต่ถ้าเขาดูแลนั่นคือสิ่งที่เป็นที่สุดของชีวิตพ่อแม่คนนึงแล้ว แต่ถ้าเขารู้สึกเบื่อพ่อแม่ ไม่อยากเลี้ยงดู อันนี้ก็ต้องสุดแต่เขา
จริงอยู่ที่เราเป็นพ่อแม่ เราต้องเลี้ยงดูปลูกฝังเขา แต่การปลูกฝังที่มากเกินไป มันก็จะกลายเป็นต่อต้านได้ ให้เขาได้รับความรักที่พอดี ให้เขาได้รับการปลูกฝังที่มันเป็นไปอย่างธรรมชาติ ได้เห็นจากเราเป็นตัวอย่าง ที่เราเองก็ดูแลพ่อแม่ ที่เป็นปู่ย่าตายายของเขา เด็กเขาจะเห็นและเลือกรับเอง เป็นการทำที่มาจากใจเขา แม่รักฉันมากเลย โตขึ้นฉันต้องดูแลเขา ฉันมีความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ฉัน การเดินไปบอกว่าแบบนั้นแบบนี้คิดว่าใช้ไม่ได้ผล เพราะมันเป็นความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เขาต้องทำ
ลูกเกิดมาเขาก็คือลูกเรา ไม่มีวันไหนที่เขาไม่เป็นลูกเราเลย แต่ชีวิตทั้งหมดมันเป็นชีวิตของเขา เอิร์นคิดว่ามันลิงก์กับการที่เราดูแลและปลูกฝังเขาตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเขาได้รับความรักในระดับที่พอเพียง เด็กบางคนได้รับความรักในระดับที่เกิน มีนะ แล้วมันจะกลายเป็นว่าความรักไปรัดเขาจนแน่น ทำให้เขาอึดอัด เมื่อเขาเติบโตพอที่เขาจะออกไปจากตรงนี้ ที่เขารู้สึกอึดอัด เขาก็จะรีบพุ่งตัวออกไป ฉะนั้นเอิร์นขอบอกเลยว่าความพอเพียงเป็นเหตุและปัจจัย เป็นทุกสิ่ง เป็นรากฐานของชีวิตคนๆ นึงจริงๆ เรารักลูกเรามากแหละ แต่การดูแลเขา มันต้องพอดีและพอเพียงกับตัวเขา อย่าให้ความรักเราไปทำให้ลูกเรารู้สึกอึดอัด”
ความพอเพียงสอนให้รักตัวเราที่เป็นเรา
“นอกจากนั้นในความพอเพียงยังทำให้เรารู้ตัวรู้ตน รู้ว่าเราเป็นเรา เรามีจุดยืน เราภาคภูมิใจในความเป็นเรา ทุกคนถ้าคิดได้ว่าฉันเป็นฉันวันนี้แล้วฉันรู้สึกภูมิใจจังเลย ฉันมีความสุขจังเลย นั่นคือคุณมีความสุขแล้ว ในวันๆ นึงเราไม่ใช่คนดีตลอด 24 ชั่วโมง คนจะคิดว่าเอิร์นโชคดีจัง แต่เอิร์นก็ไม่ใช่คนที่โชคดีที่สุดในโลก แต่ถ้าเอิร์นไปคิดอีกแบบนึงไปมองคนอื่นที่เขาโชคดีกว่าเอิร์น แล้วอยากจะมีทุกอย่างแบบเขา จะทำทุกอย่างเหมือนเขา แต่ความเป็นจริงในสังคม คนเราล้วนต่างและไม่เหมือนกัน มันก็จะเกิดเป็นความทุกข์ให้กับตัวเอง ฉะนั้นความคิดของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญในโลกปัจจุบัน
ความคิดของวัยรุ่นเปราะบางเพราะเป็นวัยที่เขาอยากรู้อยากลอง บางอย่างเขาไม่กล้าพูดต่อหน้า มันก็กลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน ที่เขากล้าไปแสดงออกในพื้นที่ที่ไม่ต้องเห็นหน้าตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เราควรจะคิดให้ได้ในทุกๆ วันในทุกเช้าที่เราลืมตาตื่นขึ้นมาก็คือเราควรมองโลกในแง่บวก และให้กำลังใจตัวเอง ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าฉันมีความสุขจังเลย มันก็จะมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ชีวิตเราจะมีความสุขในทุกๆ วัน และรู้จักคำว่าปล่อยวาง ชีวิตเราก็จะไม่พบกับอารมณ์สวิง”