‘บ้านหม้อคำตวง’ สถานพำนักสุดท้ายของชีวิต ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา "จรัล มโนเพ็ชร" ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต จรัลใช้บ้านหม้อคำตวงเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมชิ้นสุดท้ายให้กับวงการเพลงไทย นั่นคืออัลบั้มชุด ‘ล้านนาซิมโฟนี’ สร้างสรรค์ผลงานซิมโฟนีสองชิ้น ชิ้นแรกชื่อ ‘อินทนนท์ซิมโฟนี’ ชิ้นที่สองชื่อ ‘แม่ปิงซิมโฟนี’ ความยาวชิ้นละ 23 นาที โดยจรัล ได้ทำการบันทึกเสียงและผลิตมาสเตอร์เอง เป็นผลงานซีดีและเทปคาสเซ็ทท์ออนดีมานท์ ผลิตด้วยมือทีละแผ่นทีละม้วน เพื่อนำรายได้ไปสร้างหอศิลปสล่าเมือง
ภายหลังที่จรัลเสียชีวิต มานิด อัชวงศ์ ผู้จัดการส่วนตัวคนแรกและคนเดียวของจรัล ได้ปรับเปลี่ยนบ้านหม้อคำตวง เป็น ‘จรัลมิวเซียม’ เพื่อเก็บผลงานและเครื่องดนตรีต่างๆ ของจรัล เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าเยี่ยมชม และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางด้านดนตรี ศิลปะให้เด็กและเยาวชน
ในเย็นย่ำค่ำคืนยันดึกดื่นของวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา คืนที่ฟ้าเปิดให้ดวงดาวและดวงจันทร์ได้ส่องแสง ทำให้บ้านหม้อคำตวงได้กลับมีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยความอบอุ่นและอบอวลด้วยมิตรภาพ จากบรรดาผู้ที่มีความรัก ความผูกพันกับจรัล มโนเพ็ชรและมานิด อัชวงศ์ อย่างเนืองแน่น ท่ามกลางบรรยากาศงานรำลึก 21 ปีแห่งการจากไป ผู้ที่มาร่วมงานหลากรุ่นหลายวัน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้อง เคยร่วมงานใกล้ชิดกับจรัลและมานิด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบจากการหว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะและดนตรีของจรัลและมานิดตั้งแต่วัยเยาว์ โตเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว-ศิลปินที่มีคุณภาพของสังคม
ในวันที่สองบุคคลสำคัญที่สุดของชีวิตจากลา น้องไม้-ไตรศุลี มโนเพ็ชร ทายาทคนเดียวของจรัล รับหน้าที่ดูแลบ้านหม้อคำตวงหรือจรัลมิวเซียม ได้เปิดบ้านต้อนรับญาติสนิทมิตรสหาย ดูแลแขกเหรื่ออย่างไม่ขาดตกบกพร่อง บ้านหม้อคำตวงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ท่ามกลางเสียงเพลงของจรัล จากการบรรเลงของศิลปินรุ่นใหม่ผู้ที่มีความรักและศรัทธาต่อจรัล
บทเพลงรำลึก 21 ปี จรัล มโนเพ็ชร เริ่มในยามเย็มด้วยการทักทายบนเวทีของสองพิธีกรที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับจรัลและมานิด นั่นคือ อ๊อด-จักรกฤษ ศิลปชัย และ ปิยะนุช พรหมทอง ก่อนที่ศิลปินกลุ่มหอกดาบ ผลิตผลจากการจัดกิจกรรมอบรมการสร้างสรรค์ดนตรีและบทเพลงของจรัลมิวเซียมจะบรรเลง ตามด้วยบทเพลงพี่สาวครับ ขับร้องโดยพระเอกละครไทยหัวใจลูกทุ่ง ฟิวส์-กิติกร โพธิ์ปี เพลงสาวเชียงใหม่โดยนักร้องลูกทุ่งสาว หน่อย-สุธิษา ดีสวัสดิ์ ต่อด้วยการบรรเลงโฟล์คซองคำเมืองสืบสานบทเพลงจรัลจากวงกลิ่นเอื้องเสียงซึงพร้อมกับอ้อม ไม้เมือง กับบทเพลงกลิ่นเอื้องเสียงซึง, น้อยใจยา, เอื้องผึ้งจันผา, ดอกไม้เมือง, เอื้องผึ้งจันผา, แกงเนี้ย, ฮานี้บ่าเฮ้ย จากนั้นตัวแทนครอบครัวมโนเพ็ชร กิจจา มโนเพ็ชร, น้องไม้-ไตรศุลี มโนเพ็ชร กล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงานด้วยบทเพลง มิดะ, บ้านบนดอย, ลืมอ้ายแล้วกา, หนุ่มเชียงใหม่, สาวมอเตอร์ไซค์, ลูกข้าวนึ่ง
บทเพลงที่ไม่มีวันตายของจรัลยังคงมีชีวิตจากการสืบสานของศิลปินรุ่นใหม่ โดยเฉพาะลูกศิษย์คนสุดท้ายของจรัลเดินทางไกลจากเชียงใหม่เพื่อมาขับขานบทเพลงรำลึกถึงครูผู้ยิ่งใหญ่ โดย เล็ก-เลิศยศ ขันติธรรมวงศ์
ขณะสายลมพัดมาอย่างบางเบา ดอกไม้แห่งบ้านคำตวงโชยกลิ่นหอม ต้อนรับการกลับมาเยือนของศิลปินคู่ใจจรัล ผู้ยืนเคียงข้างขับขานบทเพลงล้านนาตลอดห้วงเวลา 25 ปีที่จรัลมีชีวิตอยู่ เป็นหนึ่งในตำนานโฟล์คซองคำเมืองของเมืองไทย นั่นคือ สุนทรี เวชานนท์ ขณะบทเพลง ‘ซึงสุดท้าย’ และ ‘ซอขาดสาย’ บรรเลง น้ำตาแห่งความคิดถึงจรัล มโนเพ็ชร ไหลอาบแก้มทั้งผู้ร้องและผู้ฟัง บรรยากาศบ้านหม้อคำตวงยามนี้เงียบสงบรำลึกการจากไปอันเป็นนิรันดร์ของศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียวของเมืองไทย จรัล มโนเพ็ชร