xs
xsm
sm
md
lg

ร้องไม่ถึง 7 คำ ก็อาจ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ได้! ดรามาร้อน “เพลงตั๊กแตน” แค่เช่าซื้อ ไม่ได้ขายขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยังคงเป็นคำถามที่คนทั่วไปบางส่วนยังคงสงสัย ว่าทำไม? “นักร้องถึงร้องเพลงตัวเองไม่ได้” เพราะถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ก็เขาเป็นนักร้อง และร้องเพลงนี้ จนบางทีเพลงนี้มันดังก็เพราะเสียงเขาด้วยไม่ใช่เหรอ? ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิด และเป็นสิ่งที่คิดได้ เพราะเปรียบเหมือนเราทำงาน เราก็ย่อมต้องได้รับผลตอบแทน แต่ลืมอะไรไปไหม? ว่ากว่าจะได้ 1 เพลงออกมานั้น นอกจาก “นักร้อง” เป็นองค์ประกอบแรกๆ แล้ว แต่ก็ยังมีทั้งทีมงาน อาทิ นักแต่งเพลง, คนทำดนตรี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายกว่าจะเป็นหนึ่งเพลง

ในกรณีของ “ตั๊กแตน ชลลดา” ที่ปล่อยโฮกลางยูทิวบ์ เมื่อผู้จัดการชื่อดัง “เอ ศุภชัย ศรีวิจิตร” ได้เอาสัญญาที่ไปซื้อลิขสิทธิ์เพลง “ตั๊กแตน ชลดา” มาให้ ซึ่งเป็นการเช่าซื้อ 1 ปี โดยมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งเอ ศุภชัยได้ให้เหตุผลว่าที่ซื้อให้ เพราะคุณพ่อเป็นคนชอบเพลงของตั๊กแตน โดยย้อนกลับไปจนกลายเป็นคลิปไวรัลใน tiktok ที่ตั๊กแตนได้พูดไว้ว่าร้องเพลงตัวเองได้ไม่เกิน 7 คำ เพราะไม่งั้นจะติดลิขสิทธิ์

แต่ถ้าอ่านเพียงแค่ผ่านๆ อาจจะเข้าใจว่า “เอ ศุภชัย” ซื้อลิขสิทธิ์เพลงตั๊กแตนจาก “แกรมมี่” ให้กับ “ตั๊กแตน” ร้อง แต่ถ้าอ่านเนื้อข่าวข้างใน สัญญาฉบับนั้นได้ระบุว่าร้องได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565  ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งต่างกับ “ใบเตย อาร์สยาม” สุธีวัน กุญชร ที่ควักเงินซื้อลิขสิทธิ์ทุกเพลงจาก “อาร์สยาม” มาเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว ด้าน “แกรมมี่” เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงตั๊กแตน ก็ได้ร่อนจดหมายชี้แจงว่าการที่เอ ศุภชัย ซื้อลิขสิทธิ์ไปนั้น เป็นเพียงการเช่าซื้อปีต่อปี ซึ่งใครสนใจจะซื้อไปร้องก็ได้เช่นกัน

“มีการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์เพลงของคุณตั๊กแตน ชลดา โดยเป็นการเช่าลิขสิทธิ์เผยแพร่งานดนตรีกรรม (คำร้องทำนองเพลง) นำเพลงไปขับร้องและแสดงสด รวมถึงการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์  ระยะเวลาปีต่อปี  มิใช่เป็นการขายขาดแต่อย่างใด เป็นการซื้อขายปกติตามหลักสากล  เนื่องจากการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงนั้น คืองานลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย  เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่คุ้มครองการสร้างสรรค์งานที่ถ่ายทอดออกมา โดยรายได้ที่จัดเก็บจะนำไปจัดสรรให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน  ไม่ว่าจะเป็นครูเพลง,  นักแต่งเพลง   ฯลฯ   อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งได้รับการยอมรับจากเจ้าของสิทธิ์ ผู้ใช้งาน และสาธารณชนโดยรวมครับ”

ด้านทนาย “เกริกฤทธิ์ เชาว์ปัญญานนท์” กรรมการผู้จัดการ Krirkrit&Associates Limited ก็ได้โพสต์ความรู้เกี่ยวกับกรณีเอาไว้เช่นกัน ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องร้องห้ามเกิน 7 คำหรือ 7 โน้ต เพราะถ้าร้องโดยการ ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ งานในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ก็อาจจะผิดลิขสิทธิ์เช่นกัน

“👉ทีนี้ขออธิบายเรื่องร้องเพลงเกิน 7 คำ ละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือ?
.
ในทางกฎหมาย ไม่มีการกำหนดว่าต้องร้องไม่เกิน 7 คำ 7 พยางค์ หรือ 7 ตัวโน้ต
.
สิ่งที่กฎหมายกำหนดคือ "ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการ ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ งานในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ"
.
ซึ่งอาจจะเกิน หรือไม่เกิน 7 ตัวโน้ตก็ได้ ตรงนี้ดูเป็นกรณีๆไป เช่น
.
🍒ออ เจ้า เอย... เคย รู้ หรือ ไม่ ..
.
ขึ้นมาท่อนเดียว 7 พยางค์ 7 ตัวโน้ตเป๊ะ แต่ฟังแล้ว เป็นท่อนที่ทำให้คนจดจำเพลงได้ ก็อาจจะถือเป็นสาระสำคัญของเพลงได้เหมือนกัน [เป็นข้อสังเกตนะครับ]
.
👉 ประเด็นต่อมา ซื้อลิขสิทธิ์ vs ขออนุญาตใช้สิทธิ
.
ธุรกิจวงการดนตรีสมัยใหม่ จะอิงกับรูปแบบการจ่ายเงินเพื่อฟัง การจ่ายเงินเพื่อนำเพลงไปใช้มากขึ้น
.
หลายๆ กรณีที่เราจะได้ยินคำว่า "ซื้อลิขสิทธิ์" แต่ความจริงอาจจะต้องดูที่เนื้อหา ว่าจริงๆ แล้วเป็นรูปแบบใด
.
การซื้อลิขสิทธิ์ จะมี 2 ความหมายใหญ่ๆ คือ
.
1. ซื้อแล้วได้รับการโอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาด
.
2. ซื้อแล้วได้รับสิทธิในการนำเพลงมาใช้ (มีลักษณะคล้ายๆ การเช่าใช้)
.
สำหรับเงื่อนไขที่ คุณ อ. ผู้จัดการศิลปินซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาให้ คุณ ต. นักร้องนำมาร้องคือแบบที่ 2 ที่สามารถนำเพลงมาใช้ได้เป็นระยะเวลา 1 ปี (License to use) ซึ่งมักจะเป็นลักษณะการซื้อสิทธิแบบ ไม่ได้ให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (non exclusive license) ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าค่ายจะนำลิขสิทธิ์เพลงชุดเดียวกันไปให้ผู้อื่นใช้สิทธิอีกต่อๆ ไปเพราะไม่ใช่การขายขาด
.
👉 ข้อสังเกต สิ่งที่อาจจะต้องระวังคงจะเป็นเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาว่า [สัญญานี้ใครเป็นผู้รับสิทธิ]
.
สัญญานี้ทำระหว่าง ค่ายเพลง และคุณ อ. ผู้จัดการศิลปิน ค่ายเพลงเป็นผู้ให้สิทธิแน่นอน แต่ในส่วนของผู้รับสิทธิ คงต้องดูว่า คุณ อ. ตัวผู้จัดการหรือ คุณ ต. ศิลปินเป็นผู้รับสิทธินำเพลงไปใช้ได้
.
ถ้าตามสัญญาระบุว่าคุณ อ. เป็นผู้รับสิทธิก็คงต้องไปดูเงื่อนไขดีๆ ว่าคุณ อ. มีสิทธิ ส่งต่อ/อนุญาตช่วง (sub license) ให้คุณต. นำไปใช้ได้หรือไม่
.
อย่างไรก็ตามผม [เชื่อ]ว่าคุณ อ. อยู่ในวงการมานาน ดูแลดารานักร้องมาก็เยอะ ต้องดูรูปแบบสัญญาศิลปินอย่างถี่ถ้วนแล้ว ต้องมั่นใจแล้วว่าสามารถนำมาให้นักร้อง นำไปร้องได้ตามกรอบของสัญญานั้น : )”

ซึ่งการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในยุคนี้ กับกฎหมายฉบับใหม่ คนได้ผลประโยชน์ก็คือบุคคลเบื้องหลัง คือคนที่ทำเพลงนั้นขึ้นมา เพราะในส่วนของนักร้องก็ได้ค่าโชว์ตัวไปแล้ว แต่คนที่อยู่เบื้องหลังนั้น เขาก็ยังมีสิทธิ์ในเพลงนั้นๆ โดยผ่านคำว่า “ลิขสิทธิ์” รวมไปถึงค่าลิขสิทธิ์ที่จัดเก็บนั้น ก็จะมีราคาตามที่ต้นสังกัดนั้นกำหนดเอาไว้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าผู้ที่เช่าซื้อไปจะใช้ในแง่ไหน ซึ่งส่วนมากถ้าในแง่พาณิชย์ ก็มักจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นเรื่องปกติทั่วไป











กำลังโหลดความคิดเห็น