xs
xsm
sm
md
lg

"ทอม ฮาร์ดี้" ยืนหนึ่งผลโหวตดาราพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผลการสำรวจจาก Preply ที่ระบุว่านักแสดงหนุ่มคนดัง "ทอม ฮาร์ดี้" (Tom Hardy) คือดาราที่คนอเมริกันฟังเจ้าตัวพูดแล้วไม่รู้เรื่องมากที่สุด แน่นอนว่าผลการสำรวจดังกล่าวยังส่งผลให้ซีรีส์เรื่อง “Peaky Blinders” ที่เขาร่วมแสดงยังถูกโหวตให้กลายเป็นซีรีส์ทางทีวีที่เข้าใจยากที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน

โดยผลการสำรวจที่ออกก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดสำหรับแฟนๆ ของ ทอม ฮาร์ดี้ เนื่องจากที่ผ่านมานักแสดงชาวอังกฤษวัย 44 ปีคนนี้มักจะถูกวิจารณ์ว่าพูดเหมือนพึมพัมๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากจากบทบาทใน “Peaky Blinders” ซีซั่นที่หก รวมไปถึงใน “Havoc” ของ แกเร็ธ อีแวนส์ ที่จะออกมาในปลายปีนี้

ขณะที่คนดังอื่นๆ ที่ติดอันดับเข้ามาก็ประกอบไปด้วยนักแสดงชาวอังกฤษอย่าง ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery), ไมเคิล เคน (Michael Caine), เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ (Benedict Cumberbatch), ไอดริส อัลบา (Idris Elba) และ เจมส์ แมคเอวอย (James McAvoy)

รวมถึงนักแสดงที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาอังกฤษอย่าง โซเฟีย เวอร์การา (Sofia Vergara), อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) และ เฉินหลง แจ็คกี ชาน (Jackie Chan)

นอกจากนี้ก็ยังมีนักแสดงชาวอเมริกันสองคนที่ติดอันดับพูดและคนอเมริกันกลับฟังไม่รู้เรื่องคือ จอห์นนี เดปป์ และ แบรด พิตต์ ซึ่งน่าจะมาจากการที่ทั้งสองได้รับบทบาทเป็น แจ็ค สแปร์โรว์ ใน Pirates of the Caribbean และ มิกกี้ โอนีล นักมวยชาวไอริชที่เข้าใจยากใน “Snatch” ตามลำดับนั่นเอง

ขณะที่ในส่วนของซีรีส์นั้นนอกจาก “Peaky Blinders” ที่ผู้ชมชาวอเมริกันเผยว่าพวกเขามีช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในการทำความเข้าใจแล้ว ก็ยังมี “Derry Girls”, “Game of Thrones”, “Outlander” และ “Downton Abbey” ติดโผเข้ามาด้วย

แม้จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางและได้ชื่อว่าประชาชนไม่ค่อยชอบจะอ่านซับไตเติลมากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงหลังๆ นั้นชาวอเมริกันได้หันมาพึ่งซับไตเติลในการเสพความบันเทิงมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยวัตถุประสงค์ของการสำรวจครั้งนี้ก็เพื่อติดตามพฤติกรรมผู้ชมภาพยนตร์และโทรทัศน์ชาวอเมริกันต่อการพึ่งพาซับไตเติ้ลในการรับชมต่างๆ ก่อนจะพบว่าจากการสำรวจผู้คน 1200 คน พบว่า 50% ของคนอเมริกันมีการอ่านคำบรรยายเป็นส่วนใหญ่ และในจำนวนนั้นพบว่ากลุ่มคนดูที่มีอายุน้อยจะยิ่งมีการพึ่งพาซับไตเติลมากถึง 70%

แบบสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่คนอเมริกันหันมาใช้การอ่านซับไตเติลซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่าเพื่อความเข้าใจในเนื้อหาของรายการที่พวกเขาดู 72% และ 61% ระบุว่ามีปัญหาในการทำความเข้าใจสำเนียงของนักแสดง รวมถึงเหตุผลอื่นๆ เช่นการพยายามดูรายการอย่างเงียบๆ, การใช้คำบรรยายเพื่อจดจ่อกับหน้าจอเดียว รวมถึงการใช้คำบรรยายเพื่อเรียนรู้ภาษาใหม่

แบบสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าผู้ดูที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะบริโภคเนื้อหาในที่สาธารณะบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนมากขึ้น การชมการแสดงในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การขนส่งสาธารณะ ทำให้คำบรรยายมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับผู้ชมหลายๆ คนด้วยเช่นกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น