xs
xsm
sm
md
lg

The Gray Man: ล่องหนฆ่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



The Gray Man: ล่องหนฆ่า

วันเปิดฉาย: วันที่ 22 กรกฎาคมทาง Netflix

ผู้กำกับ: แอนโธนี รุสโซ และโจ รุสโซ

ผู้เขียนบท: โจ รุสโซ, คริสโตเฟอร์ มาร์คุส และสตีเฟน แมคฟีลี

สร้างจากนิยายเรื่อง The Gray Man ของมาร์ก เกรนนีย์

ผู้สร้าง: โจ ร็อธ, เจฟฟรีย์ เคิร์สเชนบอม, โจ รุสโซ, แอนโธนี รุสโซ, ไมค์ ลาร็อคคา และคริส คาสตัลดิ

ผู้อำนวยการสร้าง: แพทริค นูวอลล์, คริสโตเฟอร์ มาร์คุส, สตีเฟน แมคฟีลี, เจค ออสต์, แองเจลา​ รุสโซ-ออตส์ทอต, เจฟฟ์ เฮลีย์, แซ็ค รอธ และพาลัค พาเทล

นักแสดง: ไรอัน กอสลิง, คริส อีแวนส์, อนา เดอ อาร์มาส, เจสสิกา เฮนวิค, วากเนอร์ มูร่า, ดานุช, บิลลี่ บ็อบ ธอร์นตัน, อัลเฟร วูดาร์ด, เรเก-ฌอน เพจ, จูเลีย บัตเตอร์ส, เอมี อิควอคเกอร์ และสก็อตต์ เฮซ

เค้าโครงเรื่อง

เมื่อเจ้าหน้าที่มือฉมังของซีไอเอ ผู้ไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริงบังเอิญไปรู้ความลับดำมืดของหน่วยงานเข้า อดีตเพื่อนร่วมงานสุดอำมหิตจึงตั้งรางวัลค่าหัวเขา จนทำให้มือสังหารข้ามชาติออกไล่ล่าตัวเขาไปทั่วโลก

เรื่องย่อ
ชายล่องหนคือเจ้าหน้าที่ซีไอเอคอร์ท เจนทรี่ (ไรอัน กอสลิง) โดนัลด์ ฟิตซรอย (บิลลี่ บ็อบ ธอร์นตัน) อดีตหัวหน้าเป็นผู้ดึงตัวคอร์ทจากเรือนจำกลางมาร่วมงานด้วย เขาเคยเป็นนักฆ่ามือฉมังที่หน่วยงานส่งไปปฏิบัติภารกิจ ทว่าตอนนี้สถานการณ์กลับพลิกผัน ชายล่องหนหรือเจ้าหน้าที่ซีไอเอคอร์ท เจนทรี่ ตกเป็นเป้าสังหารและถูกไล่ล่าตัวไปทั่วโลกจากการสั่งการของลอยด์ แฮนเซ่น (คริส อีแวนส์) อดีตเพื่อนร่วมงานที่ซีไอเอผู้พยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัดเขาให้ได้ แต่เจ้าหน้าที่ดานี่ มิแรนด้า (อนา เดอ อาร์มาส) จะคอยให้ความช่วยเหลือในยามที่เขาต้องการ

ไรอัน กอสลิง​ รับบทเป็นชายล่องหน ส่วน​คริส อีแวนส์​ รับบทเป็นคู่อริสุดอำมหิตในผลงานระทึกขวัญที่ผลิตโดย Netflix และ AGBO ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยแอนโธนีและโจ รุสโซ นำแสดงโดยอนา เดอ อาร์มาส ร่วมด้วยเรเก-ฌอน เพจ, บิลลี่ บ็อบ ธอร์นตัน, เจสสิกา เฮนวิค, ดานุช, วากเนอร์ มูร่า และอัลเฟร วูดาร์ด โดยสร้างจากนิยายเรื่อง The Gray Man ของมาร์ก เกรนนีย์ ทีมผู้เขียนบท ได้แก่ โจ รุสโซ, คริสโตเฟอร์ มาร์คุส และสตีเฟน แมคฟีลี ทีมผู้สร้าง ได้แก่ โจ ร็อธ, เจฟฟรีย์ เคิร์สเชนบอม, โจ รุสโซ, แอนโธนี รุสโซ, ไมค์ ลาร็อคคา และคริส คาสตัลดิ ทีมผู้อำนวยการสร้าง ได้แก่ แพทริค นูวอลล์, คริสโตเฟอร์ มาร์คุส, สตีเฟน แมคฟีลี, เจค ออสต์, แองเจลา รุสโซ-ออตส์ทอต, เจฟฟ์ เฮลีย์, แซ็ค รอธ และพาลัค พาเทล

มันสมองของเรื่อง: บทสัมภาษณ์โจ รุสโซ และแอนโธนี รุสโซ ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานเรื่อง THE GRAY MAN

ความน่าสนใจของนิยายเรื่อง THE GRAY MAN 

แอนโธนี รุสโซ: ผมกับโจเป็นแฟนผลงานแอ็คชั่นตัวยง แล้วเราก็เริ่มทำงานมากมายหลากหลายอย่างในแวดวงภาพยนตร์ในช่วงต้นของเส้นทางอาชีพอิสระของเรา ตอนที่เราโด่งดังจากผลงานคอมเมดี้อย่างซีรีส์เรื่อง Community, ครอบครัวเพี้ยนหลุดโลก (Arrested Development) และ Happy Endings ผู้สร้างคนหนึ่งที่รู้ใจเราดีแนะนำให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ พอเราได้อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือระดับความละเอียดในงานเขียนของมาร์ก เกรนนีย์ เขาค้นคว้าข้อมูลเยอะมากจนคุณสัมผัสได้ถึงรายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของเขาในการคิดสถานการณ์และปมปัญหาที่น่าสนใจสำหรับตัวละคร เห็นแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเกิดจากการค้นคว้าข้อมูลที่มากมายมหาศาลในชีวิตจริง ซึ่งเรารู้สึกชื่นชอบมาก

ประการที่สองคือผมกับโจมักจะมองหาสิ่งที่น่าสนใจและฉีกแนวออกไป สายลับทุกคนล้วนเป็นคนลึกลับ สายลับทุกคนต้องใช้ชีวิตแบบปิดบังตัวตน และต้องไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีใครเห็น สังเกต หรือจดจำได้ และสิ่งที่ทำให้หนังสือชุด Gray Man น่าสนใจก็คือชายล่องหนเป็นสายลับของสายลับอีกที เขามาจากโครงการที่มีชื่อว่าเซียร์ร่า ซึ่งอนุญาตให้นักโทษพักโทษเพื่อมาทำงานให้กับซีไอเอ นี่คือไอเดียที่เรานำมาถกกัน แต่หนังสือเล่มนี้ช่วยจุดประกายไอเดียว่านี่คือผลงานแนวสายลับขั้นเทพเลย แล้วเราก็รู้สึกว่า “โอเค เรื่องราวแบบนี้ มันดูเป็นงานยากอยู่นะ แต่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะได้ลองสำรวจเนื้อหาแนวที่เคยทำกันมาในอดีตนี้ แล้วนำมาพลิกแพลงดู”

นั่นทำให้เราเลือกไรอัน กอสลิงมาคัดตัว เพราะว่าเราต้องการสร้างภาพยนตร์จากตัวนักแสดงที่มีแววจะเป็นชายล่องหนได้ แล้วไรอันก็เป็นดาราเจ้าบทบาทที่เล่นน้อยแต่มาก เขาสามารถสะท้อนชีวิตภายในที่ซับซ้อนออกมาได้โดยไม่ต้องเล่นใหญ่ นั่นเป็นพรสวรรค์ที่วิเศษและหายากจริงๆ

เส้นทางจากหน้าหนังสือสู่หน้าจอ

แอนโธนี รุสโซ: เราใช้เวลาพัฒนาเรื่องนี้ถึง 9 ปีด้วยกัน เพราะง่วนอยู่กับการทำผลงานของมาร์เวล ผมคิดว่าทุกโปรเจ็กต์จะออกมาดีถ้าเรามีเวลาเหลือเฟือในการคิด ทุ่มเท และค่อยๆ พัฒนามันขึ้นมาอย่างเรื่อง The Gray Man

แรงบันดาลใจ

โจ รุสโซ: เราเติบโตมาและหลงรักผลงานระทึกขวัญในยุค 70 พ่อของเราเป็นแฟนตัวยงของผลงานแนวนี้ เราก็เลยได้ดูเป็นประจำและเกิดความรู้สึกผูกพัน เรามักจะมองหาเรื่องที่สร้างความตื่นเต้นระทึกใจไม่ยั้งแบบที่เรารู้สึกเมื่อได้ดูเรื่อง The French Connection เป็นครั้งแรก ความระห่ำเร้าใจและช่วงเวลาที่บีบคั้นที่ทำให้คุณลุ้นจนนั่งไม่ติดขณะติดตามดูเรื่องราวนั้น The Gray Man มีคุณสมบัติเหล่านี้เยอะจนผู้ชมจะต้องลุ้นตามเลยทีเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าทึ่งและมีเนื้อหาแน่นหลายซับหลายซ้อน เหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

ธีมเรื่องของภาพยนตร์

โจ รุสโซ: ภาพยนตร์จะทรงพลังที่สุดถ้ามีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็แตะประเด็นสัจธรรมสากลที่โดนใจคุณเต็มๆ ทำให้ดูแล้วรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวคุณ ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ายุคเข้าสมัยมาก โดยเฉพาะตัวชายล่องหนเองที่มาจากยุคทางการเมืองสุดซับซ้อนและลุกขึ้นมาต่อต้านระบบ เขาเชื่อว่าระบบมีแต่ความทุจริตโสมม ขณะที่เขาก็มีหลักปฏิบัติที่ตัวเองยึดถืออยู่

ผมกับแอนโธนีทุ่มเทอย่างหนักในการปรับแก้บทและร่วมมือกับทีมนักแสดงเพื่อนำเสนอไอเดียที่ทันสมัยและสดใหม่ แล้วเราก็ชื่นชอบผลงานระทึกขวัญเหล่านี้ตรงที่มันมีความซับซ้อนของธีมเรื่อง และ The Gray Man ก็เหมาะสมลงตัวที่สุด เพราะมีทั้งตัวละครหลักที่ซับซ้อน ตอนจบที่ซับซ้อน และตั้งคำถามให้ฉุกคิดตลอดเรื่องว่าคุณจะไว้ใจใครได้บ้าง และคุณจะไว้ใจองค์กรได้หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีธีมเรื่องโลกสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับความสลับซับซ้อน อันตราย และความยากที่จะเข้าใจว่าใครต้องการอะไรบ้าง แล้วเราก็สะท้อนความรู้สึกกลัวที่เรามีต่อโลกใบนี้ออกมาในเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าตัวละครตัวใดก็ตามในเรื่องเปรียบเสมือนผู้บอกเล่าเรื่องราวที่จะช่วยพาเราไปสำรวจธีมที่แตกต่างกันเหล่านี้ได้

ทีมนักแสดงชื่อดังในเรื่อง

แอนโธนี รุสโซ: การคัดตัวนักแสดงเป็นองค์ประกอบสำคัญไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ไหนก็ตาม เราต้องการให้เรื่องนี้เป็นผลงานเชิงจิตวิทยา ด้วยตัวละครที่ดูไกลตัวแบบนี้ คุณต้องหานักแสดงที่ถ่ายทอดบทบาทออกมาได้อย่างสมจริง เราโชคดีเหลือเกินที่ได้ร่วมงานกับทีมนักแสดงในเรื่องนี้ นี่คือปัจจัยสำคัญเลยเพราะว่าเรื่องราวนี้สะท้อนโลกที่เต็มไปด้วยหลากหลายตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราต้องการนักแสดงระดับนี้เพื่อเนรมิตโลกที่เราจินตนาการขึ้นมาให้เป็นจริง

โจ รุสโซ: เราได้ทีมนักแสดงที่ยอดเยี่ยมมาก เราต้องการสร้างโลกที่ผู้ชมจะดำดิ่งเข้าไปสัมผัส ตัวละครแต่ละตัวมีรายละเอียด ความรู้สึกนึกคิดและปูมหลังที่แตกต่างกันไป ผมกับพี่ชายชอบวายร้ายที่มีปม เราชอบวายร้ายที่สวมบทเป็นฮีโร่ในเรื่องราวของตัวเอง เราชอบฮีโร่ที่ดูซับซ้อนและไม่ได้ดีหรือร้ายไปเสียทั้งหมด และทุกคนก็มีผลประโยชน์ที่ขัดกัน และผลประโยชน์เหล่านั้นก็คือสิ่งที่สร้างตัวตนของตัวละคร

มันคือศึกวัดใจจริงๆ เรามีทีมนักแสดงมากฝีมือที่มาเติมเต็มโลกใบนี้ให้มีมิติ ชีวิตชีวา ชวนขบคิดและน่าตื่นตาตื่นใจ และไม่ว่าจะเป็นตัวละครตัวไหนก็พาคุณเข้าไปสัมผัสเรื่องราวหรือท่องไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ของโลกใบนี้ได้

การถ่ายทำฉากแอ็คชั่นสุดยิ่งใหญ่ในปราก

แอนโธนี รุสโซ:  มันเป็นเส้นทางที่หนักหนาและยาวไกลมาก จุดเริ่มต้นมาจากไอเดียที่ยอดเยี่ยมในหนังสือตอนที่ชายล่องหนถูกตำรวจปิดล้อมและล็อกตัวอยู่ตรงจัตุรัสกลางเมืองจนหนีไปไหนไม่ได้ ขณะที่นักฆ่าที่อันตรายที่สุดในโลกคนอื่นๆ กำลังไล่ฆ่าเขาอยู่ นั่นเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงมากๆ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกใจเรา เราชอบความรู้สึกโดดเดี่ยวที่สัมผัสได้เพราะตัวตนส่วนหนึ่งของชายล่องหนกำหนดให้เขาต้องอยู่อย่างเดียวดายและสันโดษ แน่นอนว่าเส้นทางชีวิตช่วงหนึ่งของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้จะต้องเข้าไปพัวพันกับคนอื่นๆ และยึดมั่นในความสัมพันธ์นั้น ด้วยเหตุนี้มันจึงน่าจะเป็นฉากที่ยอดเยี่ยม เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าในผลงานแอ็คชั่น เรามักจะพยายามสำรวจตัวละครในบางแง่บางมุมภายในกรอบความคิดที่วางไว้ในฉากนั้นๆ แล้วดูว่าจะนำเสนอออกมาได้อย่างไร จากนั้นผมกับโจก็ใช้เวลานานในการวาดฝันมันขึ้นมา และคิดว่าเราจะนำสิ่งที่อยู่ในหนังสือออกมารังสรรค์ให้อลังการได้อย่างไร

ทันทีที่ได้บทที่ถูกใจแล้ว เราก็เริ่มก้าวไปสู่ขั้นตอนการถ่ายทำ และประชุมร่วมกับทีมงานสร้างสรรค์กลุ่มใหญ่ขึ้นเพราะว่าการจะสร้างฉากแอ็คชั่นได้ต้องอาศัยคนจำนวนมากที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหนและจะทำออกมาได้อย่างไร

เราเริ่มต้นจากศิลปินนักวาดสตอรี่บอร์ด จากนั้นก็ประสานงานกับทีมเทคนิคภาพและเทคนิคพิเศษของเรา และร่วมงานกับทีมสตั๊นท์อย่างใกล้ชิด โดยพูดคุยถึงจังหวะจะโคนของฉากผาดโผน เราจะจัดฉากนี้ขึ้นมาในหลายเวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปหรือลองถ่ายทำฉากนี้ออกมาเป็นเวอร์ชันย่อยๆ

จากนั้นเราก็มาใช้เวลาเลือกสถานที่ โดยคิดว่าเราจะดำเนินเรื่องราวของฉากนี้ในสถานที่นั้นอย่างไร แล้วมีโอกาสหรือข้อจำกัดใหม่ๆ อะไรบ้าง มันเป็นกระบวนการที่ยาวนานมากโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนเขียนบท จนเข้าสู่ช่วงเขียนบท กระบวนการก่อนถ่ายทำทั้งหมด เรื่อยไปจนถึงกระบวนการระหว่างถ่ายทำและหลังการถ่ายทำ

สำหรับฉากตอนไรอันอยู่บนรถราง เรารังสรรค์ฉากนี้ออกมาโดยให้มีรถรางในเมืองของจริงที่วิ่งบนรางในปราก แล้วก็มีรถบัสติดล้อที่ดูเหมือนรถรางเป๊ะๆ เพียงแต่มีล้อและไม่ได้วิ่งบนราง เพราะว่าบางครั้งเราต้องควบคุมรถให้เร็วขึ้นหรือแล่นไปบนถนนบางสายที่ไม่มีราง จากนั้นเราก็หาพื้นที่โล่งนอกอาคารตรงบริเวณอื่นในปราก แล้วจำลองรถรางขึ้นมาให้จอดนิ่งๆ อยู่กับที่ โดยไม่โคลงเคลงหรือโยกไปมา เพื่อถ่ายทำบางฉากในนั้น ดังนั้นเราจะมีรถรางหลากหลายเวอร์ชันมาก

เราต้องมองว่าฉากแอ็คชั่นแบบนี้รวมถึงฉากอื่นๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเลย เพราะว่ามันทั้งยิ่งใหญ่และเจาะจงมาก

โจ รุสโซ: ผมไม่แน่ใจว่าเราขอปิดลานจัตุรัสในปรากได้อย่างไร แต่ว่าเราถ่ายทำฉากยิง ปาระเบิดและรถชนกันบริเวณนั้นเป็นเวลาถึง 10 วัน ซึ่งน่าจะทำให้ชาวเมืองปรากไม่รักก็เกลียดเราไปเลยล่ะ

แอนโธนี รุสโซ: คริส โลว์ (ผู้กำกับศิลป์) พลิกโฉมพื้นที่บริเวณนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างที่คุณเห็นอยู่ตรงกลางจัตุรัสเป็นผลงานที่ฝ่ายผลิตสร้างขึ้นมา จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ลานสนามหญ้า

แอนโธนี รุสโซ: มันคือความวินาศสันตะโรโดยแท้

โจ รุสโซ: เรามีทั้งทีมงานและอุปกรณ์มากมายก่ายกอง นี่เป็นฉากที่มีความยุ่งยากในการถ่ายทำมาก เพราะเราตั้งใจให้ออกมาดูลุ้นระทึกและสมจริงมากๆ ฉากนี้ซับซ้อนที่สุดในเรื่องเลยก็ว่าได้ เราต้องใช้นักแสดงประกอบนับร้อย ยานพาหนะและรถรางหลายคัน กับของอีกสารพัดอย่างท่ามกลางวิวของปราสาทปรากที่แสนเพอร์เฟ็กต์

การผสมผสานระหว่างแอ็คชั่นโลดโผนและความตลกขบขัน

โจ รุสโซ: เราแทรกอารมณ์ขันในบทเยอะมาก เรื่องราวของเรามีทั้งความเข้มข้น รุนแรง และสิ้นหวัง แต่แฝงความตระหนักรู้ในตนเองและความสนุกสนานเอาไว้ด้วย ชายล่องหนรู้ดีว่าตัวเองคือใคร มีที่ทางตรงไหนในโลกใบนี้ และมีอดีตเป็นอย่างไร เขาเหมือนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับซิซีฟัส เมื่อยอมรับบทบาทหน้าที่ในซีไอเอ

แอนโธนี รุสโซ: เรามักจะต้องการความสมดุลในการสร้างภาพยนตร์ เมื่อพูดถึงโทนเรื่อง เรามักจะมองตัวเองเหมือนนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ย้อนกลับไปตอนที่เน้นทำผลงานคอมเมดี้ เราขึ้นชื่อในเรื่องการใส่ใจตัวละครและอารมณ์ ดังนั้นเราจึงหาจุดสมดุลระหว่างแอ็คชั่นและดราม่าในทำนองเดียวกันด้วยการหาจังหวะสอดแทรกความตลกขบขัน เวลาไปโรงภาพยนตร์ เราต้องการสัมผัสครบทุกอารมณ์ของมนุษย์ และก็พยายามจะสร้างความหลากหลายนั้นผ่านการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันไป

















กำลังโหลดความคิดเห็น