xs
xsm
sm
md
lg

หนังอื้อฉาวแห่งอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฟ้าธานี



เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีหนังอินเดียที่ชื่อว่า Gangubai เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ด้วยทุนสร้างระดับพันล้านรูปี คิดเป็นเงินไทยก็ไม่ใช่น้อยๆ คือเหยียบ 400 ล้านเหรียญฯ เป็นหนังที่มีโปรดักชั่นใหญ่โต ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 72 และนำแสดงโดยนางเอกชื่อดังของอินเดีย

แต่สุดท้ายหนังที่เล่าเรื่องราวชีวิตของโสเภณีชาวอินเดียที่กลายมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิ์ผู้ค้าบริการทางเพศเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนัก หนังทำเงินในอินเดียไปประมาณ 1,500 ล้านรูปี มากกว่าทุนสร้างนิดหน่อย อาจจะพูดได้ว่าขาดทุนนิดหน่อยด้วยซ้ำ


แต่ใครจะเชื่อว่าหนัง ที่มีชื่อภาษาไทยว่า” หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” เรื่องนี้กลับประสบความสำเร็จ แบบสุดๆ ในการมาฉายผ่านระบบสตรีมมิ่งในเมืองไทย สร้างกระแส ได้อย่างที่ไม่เคยมีหนังอินเดียเรื่องใดทำได้มานานหลายสิบปีแล้ว

หญิงแกร่งแห่งมุมไบ เป็นหนังที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเดียอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่เนื้อหาที่พูดถึงอาชีพผู้ให้บริการทางเพศ จนทำให้หนังถูกครอบครัวของบุคคลที่เป็นต้นฉบับของตัวละครในหนังฟ้องร้องว่าหนังเรื่องนี้กำลังสร้างความเสื่อมเสียให้กับครอบครัวของพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของ คังคุไบ ที่ทายาทยืนยันว่าไม่ได้มีอาชีพเป็นโสเภณีแต่หนังกำลังทำให้ทุกคนเข้าใจผิดกันหมด แต่สุดท้าย ศาลก็ยกฟ้องไปเพราะคนที่อ้างตัวว่าเป็นทายาทไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเอง เป็นทายาทของ คังคุไบ จริงๆ


ความเชื่อหลากหลาย, การเมืองตึงเครียด หนังโดนประท้วงเป็นว่าเล่น

อินเดียอาจจะดูเป็นประเทศที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่วงการหนังที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐของที่นั่นก็สามารถสร้างหนังที่มีเนื้อหาอื้อฉาวออกมาได้เป็นประจำ 

อย่างหนังฟอร์มใหญ่ที่ชื่อว่า ปัทมะวาตี ที่มีเนื้อหาความรักระหว่างราชินีชาวฮินดู กับผู้ปกครองมุสลิม ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ ก็ถูกประท้วงจากกลุ่มผู้เคร่งศาสนาอย่างหนักถึงกับมีการขู่ฆ่าตัดคอนางเอกของเรื่อง หนังเรื่องนี้ถูกแบนในหลายประเทศแต่กลับเข้าฉายในอินเดียได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย

หนังอินเดีย ยังคงเอกลักษณ์เดิมอย่างฉากร้องเพลงและฉากเต้น แต่เนื้อหาของหนังหลายๆเรื่องต้องยอมรับว่าไปไกลกว่าที่หลายคนคิดอย่างหนังดังเมื่อ 10 ปีก่อนที่ชือว่า อะรักชาน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ระบบการรับนักเรียนนักศึกษาและระบบการรับคนเข้าทำงานด้วยการอ้างอิงวรรณะ ที่เป็นระบบที่อยู่กับสังคมอินเดียมาอย่างยาวนาน 

หนังเรื่องนี้ถูกวิจารณ์หนักมากจนถูก แบนในหลายแคว้นของอินเดีย และเกือบจะไม่ได้ฉายในหลายจุดของประเทศแต่สุดท้ายหนังก็เอาชนะในชั้นศาลจนได้ฉายในที่สุด

ส่วน ''นิชาบด์' เป็นหนังที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของชายวัยหกสิบกับหญิงสาววัย 18 ที่เป็นเพื่อนของลูก โดยได้รับแรงบัลดาลใจจากหนังฮอลลีวูดอย่าง American Beauty ก็มีเนื้อหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาก แต่ก็ได้รับเสียงชมในเรื่องการแสดงเช่นเดียวกันน่าเสียดายที่หลังจากเข้าฉายเพียงไม่กี่ปี จิอาห์ ข่าน นางเอกของเรื่องกลับต้องมาจากไปด้วยการฆ่าตัวตายเพราะปัญหาชีวิตส่วนตัว

อินเดียยังมีหนังที่สร้างมาจากเหตุการณ์จลาจลใหญ่ในประเทศอย่าง Black Frida นอกจากนั้นก็ยังมี Fire หนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ลึกซึ้งของหญิงสาวสองคน

และหนังอื้อฉาวในตำนานอย่าง Bandit Queen ที่มีทั้งคำหยาบ,เรื่องราวทางเพศ และความรุนแรง กับการเล่าเรื่องชีวิตของบุคคลทื่อื้อฉาวสุด ๆ อย่าง พูลาน เทวี นางพญาโจรที่เกิดในวรรณะต้อยต่ำ และก่อคดีมากมาย แต่สุดท้ายกลับกลายมาเป็นผู้เรียกร้องสิทธิให้กับคนวรรณะต่ำในสังคมอินเดีย


เมื่อศาลหัวก้าวหน้ากว่ากองเซนเซอร์

เหตุผลที่ทำให้หนังอินเดียมีหนังอื้อฉาวเข้าฉายอยู่เรื่อยๆ ก็อาจจะเป็นเพราะ แม้จะมีเนื้อหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่หนังหลายเรื่องก็มีโอกาสได้เข้าโรงภาพยนตร์ฉาย อย่างตอนที่หนังเรื่อง “อุดรปัญจาบ” ที่เราเรื่องเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในเขตภาคเหนือของอินเดียถูกกองเซ็นเซอร์สั่งแบน แต่สุดท้ายหนังกลับไปชนะในชั้นศาล

โดยผู้พิพากษาก็เลือกที่จะตัดสินให้หนังสามารถฉายได้ และยังบอกไปที่หน่วยงานตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของอินเดียเอาไว้อย่างเจ็บแสบว่า อย่าทำตัวเป็นคุณยายอยู่อีกเลย เวลามันเปลี่ยนไปแล้ว กองเซนเซอร์ไม่ควรอ่อนไหวกับงานศิลปะเกินควรแบบนี้อีก 

ศาลยังบอกอีกว่ากองเซนเซอร์ไม่ควรบั่นทอนกำลังใจของคนทำหนัง ด้วยการไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์กันแบบนั้น จนทำให้หนังสามารถเข้าฉายได้แบบไม่มีปัญหาอะไร

หรือแม้แต่หนังตลกไซไฟ PK ที่มีเนื้อหาวิจารณ์ถึงศาสนาต่างๆ อย่างรุนแรง ก็เคยถูกองค์กรเคร่งศาสนาอย่าง กองพลหนุมาน และฮินดูปาริชาดออกมาประท้วงหนังอย่างรุนแรง ทั้งเนื้อหาของหนัง นอกจากนั้นกลุ่มสิทธิมนุษยชน แห่งอินเดีย และกลุ่มแนวหน้าเพื่อความยุติธรรมทางสังคม ก็ยังออกมาประท้วงโปสเตอร์ที่พระเอก อามีร์ ข่าน ถ่ายภาพเปลือยกายว่าเป็นการสนับสนุนสื่อลามกอนาจาร

นอกจากนั้นก็ยังมีองค์กรจากศาสนาอิสลามทีเรียกร้องให้มีการตัดฉากที่ "ละเอียดออกออกจากหนัง" แต่สุดท้ายศาลสูงอินเดียได้ตัดสินให้อนุญาตให้หนังฉายได้ตามปกติ

ไม่ใช่แค่ศาลเท่านั้น แต่ก็ยังมีหน่วยงานราชาการนายกเทศมนตรีแห่งรัฐอุตตรประเทศ และรัฐพิหาร ที่ถึงขั้นออกมายกเว้นภาษี ให้กับหนังเรื่อง PK เพื่อให้ผู้สร้างและโรงภาพยนตร์ลดราคาตั๋ว "ประชาชนมีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้ให้มากที่สุด" ด้วยเหตุผลที่ว่า "ถ้ายังไม่ได้ดูก็ควรจะไปดูหนัง แล้วก็จะเข้าใจเหตุผลของเราเอง"

อินเดียเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนทางการเมือง, เชื้อสาย และศาสนามากมาย ปัจจุบันก็ยังมีหนังทั้งของอินเดียเองและหนังต่างชาติที่ถูกแบนด้วยเหตุผลที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ศาลอินเดียเลือกที่จะตัดสินใจที่จะปล่อยหนังเข้าฉายเพื่อให้ประชาชนไปตัดสินกันเอง







กำลังโหลดความคิดเห็น