เปิดแถลงการณ์ "พคธ." ก่อน "อมธ." ประกาศยกเลิกใช้เพลงพระราชทานยูงทองทำกิจกรรม เผยเจตจำนงต้องการรักษาสมบัติคณะราษฎรผู้ก่อตั้ง อ้าง "ยูงทอง" เป็นการใช้อำนาจนำ แถมเนื้อหาเพลงที่สอนให้คนรัก-สามัคคีกันเป็นการลดคำว่าการเมือง สิทธิและเสรี ด้านชาวเน็ตวิจารณ์หลากหลาย
ภายหลังจากที่องค์การ น.ศ.ธรรมศาสตร์ หรือ "อมธ." ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทน "เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง" ในทุกกิจกรรมที่ อมธ. จัดโดยอ้างว่าเป็นมติจากการสำรวจของคนจำนวนกว่า 5,168 คน
(อ่านข่าว องค์การ น.ศ.ธรรมศาสตร์ ประกาศใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยฯ แทน "เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง")
ทั้งนี้้เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ในแฟนเพจเฟซบุ๊กพรรคคนธรรมศาสตร์ (พคธ.) ได้มีการเผยแพร่ข้อความเสนอให้เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเพลงยูงทอง ไปเป็นเพลงมอญดูดาว โดยระบุเหตุผลว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัยสะท้อนให้เห็นเจตนาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้ดีกว่า รวมถึงยังเป็นการดำรงไว้ซึ่งสมบัติของคณะราษฎรผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ตรงข้ามกับเพลง "ยูงทอง" ที่ถูกประพันธ์ขึ้นในยุคที่มีเผด็จการ "ถนอม กิตติขจร" ต้นเหตุของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ระหว่างเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเนื้อหาที่มุ่งให้ชาวธรรมศาสตร์นั้นควรรักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีกันไว้ แถมการเปลี่ยนมาใช้เพลงนี้ยังแสดงถึงการใช้สร้างอำนาจนำ ลดคำว่าการเมือง สิทธิ เสรี ออกไปจากบทเพลงของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
โดยเนื้อหาที่มีการเผยแพร่นั้นระบุว่า...[พคธ.เสนอ ใช้เพลงมอญดูดาวแทนเพลงยูงทองในการทำกิจกรรมของ อมธ.]
เพลงยูงทองปัจจุบันมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพลงยูงทองนั้นเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ 9 ทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2506 ซึ่งผู้ขอพระราชทานเพลงดังกล่าวมีหลักฐานระบุว่าลงชื่อของจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
ด้านเนื้อหาของเพลงเป็นเพลงที่เกลี้ยกล่อมให้รักมหาวิทยาลัย คำร้องในเนื้อเพลงดังกล่าวนี้ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการที่ “เรา” ชาวธรรมศาสตร์นั้นควรรักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีกันไว้ ทั้งยังรำลึกและเทิดไว้ซึ่งสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับมหาวิทยาลัย เช่น สีประจำมหาวิทยาลัยเหลืองแดง ตราธรรมจักร ตึกโดม กระทั่งต้นยูงทองที่เพิ่งถูกปลูกในช่วงปีที่พระราชทานทำนองเพลง
แต่ในเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำนองมอญดูดาว หรือที่คุ้นกันในชื่อของ เพลงมอญดูดาว บทเพลงที่เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในปี พ.ศ.2477 มุ่งพูดถึงอุดมการณ์ที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง พัฒนาการเมือง ให้แก่ประเทศไทย ซึ่งหากเรามองในแง่ของวาทกรรมทางการเมือง การเปลี่ยนมาใช้เพลงยูงทองอาจเป็นการใช้สร้างอำนาจนำ ลดคำว่าการเมือง สิทธิ เสรี ออกไปจากบทเพลงของมหาวิทยาลัย และใช้วาทกรรมอื่น ๆ สร้างความหมายของมหาวิทยาลัยที่ลดทอนคุณค่าความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และประชาชน ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรรคคนธรรมศาสตร์ (พคธ.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มองเห็นว่าเราควรธำรงซึ่งจิตวิญญาณธรรมศาสตร์และการตระหนักถึงปลายทางที่เรานักศึกษาชาวธรรมศาสตร์กำลังมุ่งไปว่ามิได้เรียนจบเพียงแค่ใบปริญญาบัตร แต่ระลึกไว้ว่าเราเรียนจบไปเพื่อเป้าหมายของการไปพัฒนาประเทศ พวกเรามองว่าสิ่งเหล่านี้คือเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดีและคณะราษฎร ผู้ริเริ่มประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ริเริ่มไว้และถูกปลูกบนแผ่นดินธรรมศาสตร์แห่งนี้มิว่าสถานที่นั้นจะอยู่ ท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปาง หรือพัทยา หากแต่เจตนารมณ์นี้คือการสร้างผู้คนออกไปเพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคม ดังนั้นแล้วเราจึงเสนอให้มีการเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากเพลงยูงทอง ไปสู่เพลงมอญดูดาวในอดีตที่ธำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์
(คลิกอ่านข่าว)
ทั้งนี้หลังเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวออกมาก็ได้เป็นประเด็นทำที่ให้คนในสังคมออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นกันพอสมควร โดยเฉพาะบรรดาศิษย์เก่า ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่บางส่วนก็มองว่าเรื่องนี้หลักๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาบางกลุ่มที่มีความคิดไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า
โดยความเห็นในสังคมออนไลน์ก็มีทั้ง ความคิดคนรุ่นใหม่แต่ดันกลับไปใช้ทำนองเพลงเก่า, เพลงยูงทองเพราะกว่าทันสมัยกว่าอีก, รสนิยมดี ชอบของเก่าก็ไม่บอก, จะเปลี่ยนทั้งทีทำไมไม่จัดประกวดแต่งเพลงใหม่ไปเลย, อยากรู้จังว่าพวกที่โหวตๆ นี่มันรู้จักหรือร้องเพลงที่มันโหวตได้มั้ย, ปีๆ นึง อมธ. มีกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้เพลงนั้นเพลงนี้,สงสัยกลัวถูกด่าเลือกตั้งแล้วไม่มีงานฮ่าๆๆๆ, ความคิดกีบวนเวียนกับเรื่องแค่เนี้ย, ก็แค่ชมรมนึงถ้ามหาลัยเปลี่ยนก็ว่าไปอย่าง
ไหนๆ ก็โหวตเปลี่ยนเพลงแล้วก็เปลี่ยนชื่อ ม.ไปด้วยเลยมั้ย ขอเสนอ เนรคุณศาสตร์และการเมือง, คืนที่ดินมหาลัยที่เป็นที่ดินพระราชทานไปด้วยล่ะ, ดีครับ เปลี่ยนๆ ซะบ้าง, เป็นประชาธิปไตยดีมีการสำรวจความคิดเห็นก่อน, สลิ่มเดือดร้อนกันใหญ่ บางคนไม่ได้เรียนที่นี่ด้วยซ้ำ, เพลงมันขึ้นต้นว่ายังไงนะ, ชอบๆ มีเอื้อนด้วยดูเป็นไทย(เดิม)ดี, เนื้อหาโอเคแต่ทำนองโบราณไป, ชื่อเพลงชัดเจนดีแสดงถึงความสร้างสรรค์ เพลงประจำมหาวิทยาลัย ก๊ากๆๆ ฯลฯ
สำหรับ "เพลงประจำมหาวิทยาลัย (ทำนองมอญดูดาว)" เป็นเพลงที่ใช้ทำนองเพลงไทยเดิม "มอญดูดาว" ประพันธ์เนื้อร้องโดย "ขุนวิจิตรมาตรา" (สง่า กาญจนาคพันธุ์ : คนเขียนเนื้อร้องเพลงชาติไทยฉบับแรกสุดในปี พ.ศ. 2475)ที่แต่งขึ้นตั้งแต่มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีพ.ศ. 2577
ขณะที่เพลง "ยูงทอง" นั้นผู้ที่ประพันธ์เนื้อร้องก็คือ "จำนงราชกิจ" (จรัล บุณยรัตพันธุ์) โดยเป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506
- คลิกฟังเพลง "ยูงทอง"
- คลิกฟังเพลง "เพลงประจำมหาวิทยาลัย"
