xs
xsm
sm
md
lg

“ฉอด สายทิพย์” แจง “รากแก้ว” ไม่ได้สร้างภาพลบให้ LGBT อย่าพึ่งด่าขอให้ดูก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฉอด สายทิพย์” เปิดใจ! หลังปล่อยทีเซอร์ “รากแก้ว” แล้วถูกถล่มยับ ชี้นำทางเพศ นำเสนอด้านลบของ LGBT วอนอย่าตัดสินแค่ทีเซอร์เพียงไม่กี่นาที 

แค่ทีเซอร์เพียงไม่กี่วินาทีของ “รากแก้ว” ละครเรื่องแรกของผู้จัดคิวทอง “ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” และ “เอส วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย” จากค่าย Change2561 ที่ทำให้กับช่อง 3 โดยมี “คริส หอวัง” กับ “เก้า สุภัสรา” แสดงนำ ก็ถูกวิจารณ์ยับว่าเป็นการนำเสนอเรื่องเพศของ LGBT ในมุมที่ผิดไป จนบางคนถึงขั้นตั้งแง่ไม่เปิดรับ

ด้านผู้จัดคนดังกล่าวเปิดใจกับ MGR Online ถึงกรณีดังกล่าวว่า อย่าเพิ่งตัดสินจากทีเซอร์เพียงไม่กี่นาที ยอมรับคำวิจารณ์ได้แต่ไม่ขอดราม่า มั่นใจว่าตนเองมีความตั้งใจดีในการนำเสนอ และไม่ได้ชี้นำเรื่องเพศเป็นตัวตั้งแต่เส้นเรื่องคือความรัก พร้อมยังเล่าอีกว่า แก่นของเรื่องเป็นการนำเสนอการเลี้ยงดู เปรียบเสมือนถ้ารากแก้วถูกดูแลอย่างดี บุคคลนั้นก็ย่อมจะเติบโตมาได้ดีเช่นกัน

“ต้องบอกว่ากระแสที่เห็นตอนนี้มีทั้งสองทาง มีทั้งประเภทที่อยากดูจังเลย ทำไมช้าจัง เมื่อไรจะออน ต้องบอกว่าช่วงนี้เราทำงานได้ช้าหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่คงจะได้ดูเร็วๆ นี้ ตรงนั้นก็เป็นกระแสเชิงบวกที่บอกว่าน่าดูน่าสนใจเข้มข้น ส่วนกระแสในมุมลบ เราก็ได้อ่านบ้าง แต่ว่าสิ่งที่พูดมาไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ละครเป็น เพราะเราทำละครความยาว 24 ชม.ออกอากาศ 12 ตอน ปรับทีเซอร์ยาวไม่ถึง 1 นาที คนที่ดูตอนนี้แล้วไปสรุปใดๆ คือยังไม่ได้ดู ยังไม่รู้เลยว่าเราจะทำละครนี้อย่างไร เลยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ยังไม่เห็น และถ้าเจอกับคนที่แยกเรื่อง ความคิดเห็นกับข้อเท็จจริงยังไม่ออก ก็คิดว่ามันต้องเป็นแบบนี้ก็เลยลุกลามไปแบบนั้น เป็นแค่นี้จริงๆ”

“ดังนั้นใดๆ ก็ตามในความเป็นละครรากแก้วคือ หนึ่งมันเป็นบทประพันธ์ที่นานแล้ว เหมือนอย่างทุกๆ เรื่องที่เราเอามา อย่าง หลงไฟเป็นหญิงขายตัวสมัยนั้น เราก็เอามาปรับเป็นยุคนี้ด้วยการเป็นนักศึกษาสาวไซด์ไลน์ เราไม่ได้ทำละครพีเรียด ทุกอย่างจึงถูกปรับให้เข้ากับวันนี้ พอเราปรับด้วยเทคโนโลยี วิธีคิดมันก็จะเปลี่ยนไป นั่นเป็นที่มาของละคร CHANGE ที่เรามีคาแรคเตอร์ของเรา กราบขอบพระคุณผู้ประพันธ์ที่อนุญาตให้เราเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มันเป็นวันนี้ เช่นเดียวกับเรื่องรากแก้ว ที่จะมีฟีดแบ็คเกี่ยวกับ LGBTใดๆ ก็ตาม ซึ่งเคลียร์ก่อนว่าโดยพื้นฐานของเราเอง เราเป็นคนไม่เคยรู้สึกถึงความแตกต่างใดๆ ทางเพศเลย บริษัทเรามี LGBT มากกว่าผู้หญิงผู้ชายซะอีก ซึ่งพวกเค้ามีความเก่งและมีความสามารถมาก หรือ พี่กู่ เอกสิทธิ์ ผู้กำกับเรื่องนี้ก็เป็น LGBT พี่กู่ก็แฮปปี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีเหตุผลในเรื่องนี้ที่เราจะทำให้เพศใดๆ ออกมาดูไม่ดี อีกประเด็นนึงเราทำละคร เราไม่ได้ทำละครเรื่องเพศ เราทำละครเรื่องความรัก เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องของความรัก มันไม่ได้เป็นเรื่องของใคร หรือเป็นเพศใดๆ ทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เราจับประเด็นในการทำงานกัน”

ทุกเพศมีสิทธิ์ที่จะรัก และผิดพลาด พร้อมความเท่าเทียมในความรัก
“และด้วยความที่ส่วนตัวเราไม่ได้เป็นคนแบ่งแยกเพศใดๆ ก็ตาม และเป็นคนที่ทำงานเรื่องของความรัก ฟังเรื่องราวของทุกเพศ ทุกวัยมานาน เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้คนเราทุกคนเท่ากันคือ เวลาที่มีความรัก ทุกคน รักได้ เจ็บได้ ร้องไห้เป็น เหมือนกันหมด เราทุกคนมีโอกาสทำผิด ทำชั่วทำเลวเกี่ยวกับเรื่องของความรักได้หมดเท่ากัน เพราะฉะนั้นตัวละครในเรื่องไม่ว่าจะเป็นเพศใดๆ เขาก็คือคนธรรมดาคนนึง เพราะฉะนั้นทุกคนมีโอกาสที่จะมีความรัก มีโอกาสทำผิด ทำไม่ดีหรือทำดีใดๆ ก็ตามเรื่องความรักเท่าเทียมกัน"

"ถ้ามองภาพว่าทำไมเอาเพศนั้นมาทำไม่ดี เราว่าอย่างนั้นต่างหากที่เป็นการแบ่งแยก ถ้าเราบอกว่าทุกเพศเท่าเทียมกันในความรัก  ทุกคนก็มีสิทธิทำถูกทำผิดเท่ากันในความรักแต่ที่สำคัญคือทุกคนมีเหตุผล ที่มาที่ไปของตัวเองในการทำผิดนั้น ซึ่งละครเราทุกเรื่อง จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จะไม่มีตัวละครใดลุกขึ้นมาร้ายหรือดีแบบไม่มีเหตุผล รากแก้วก็จะเป็นเรื่องที่มีทุกอย่างครบถ้วน แต่อยากย้ำว่าถ้าใครที่ยังไม่ได้ดู เราทำละครเรื่องความรัก เราไม่ได้ทำละครเรื่องเพศ เพราะฉะนั้นตัวละครใดๆ ถ้าเขาทำผิดทำชั่วใดๆ ก็เพราะเขามีความรักและปัญหาของการที่ตัวละครอีกตัวไม่รักตัวละครอีกตัว ไม่ได้เป็นเพราะเขาเป็นเพศอะไร แต่ไม่รักเพราะเขาไม่รัก”

“รากแก้ว” สื่อถึงการเลี้ยงดู มากกว่าเจาะจงการนำเสนอเรื่องเพศ อย่าตัดสินแค่ทีเซอร์
“เราถึงบอกว่าอยากให้ดูก่อน ถ้าเราคิดไปก่อนแบบนี้ คิดว่าการที่ตัวละครนำเด็กมาเลี้ยงจนโต เพื่อสนองตัวเองนั้น เราว่าเรื่องอะไรก็ผิดหมด เราสามารถคิดเรื่องอะไรก็ได้ให้มันถูกหรือผิด อยากบอกว่ากว่าเราจะทำงานแต่ละชิ้นออกมา เราผ่านการคุยกันคิดกันไม่ได้มาคิดตื้นๆ ถ้ามองว่าอันนี้ไม่ควรทำมันผิด แล้วสังคมจะดูอะไร"

"เราต้องยอมรับว่าสังคมวันนี้อย่างที่บอกว่าเวลาเราทำเรื่องนอกใจ ก็มีคนพูดว่าไปส่งเสริม แต่สังคมวันนี้มันเป็นแบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำมันอยู่ที่เป้าหมาย วัตถุประสงค์ อย่างเรื่องรากแก้ว คุณกฤษณาได้เขียนเอาไว้ว่า คนเราจะโตขึ้นมาเป็นอย่างไร มันอยู่ที่รากแก้ว ก็คือการเติบโตของแต่ละคน การอบรมเลี้ยงดู การให้น้ำให้อาหาร ขึ้นมาเป็นรากแก้วตรงกลางนั้นต้องแข็งแรงมั่นคง ถ้าเรามีรากแก้วที่ไม่แข็งแรง เราก็เติบโตเป็นต้นไม้ที่มันไม่สมบูรณ์แค่นี้เอง การที่บอกว่าเอาเด็กมาเลี้ยงหรืออะไรมันไม่ได้เป็นบริบทสำคัญ มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเรื่องเท่านั้น”

“แล้วแต่คนคิด บางคนอาจจะคิดว่ามีกระแสแล้วดี วันนี้อาจจะมีคนในสังคมคิดแบบนี้ แต่เราแค่รู้สึกว่า ถ้ามีโอกาสทำความเข้าใจกันก็อยากเล่าทำความเข้าใจ เราไม่ได้แค่ทำๆ ไป ก่อนจะทำเราคิดมาเยอะมากแล้ว มุมใดๆ ที่มาว่ากันอย่างนี้เราคุยกันมาหมดแล้ว เราก็เคารพในบทประพันธ์และจำเป็นต้องปรับให้อยู่ในบริบทสังคมวันนี้  การทำเรื่องอะไร วัตถุประสงค์ใดมันผ่านกระบวนการขั้นตอนการ defend กันมาแล้ว แต่อย่างที่บอกว่ามันยากมากสำหรับวันนี้ กับสังคมที่มองแค่นี้แล้วก็ตัดสินเลย ถ้าเราต้องตัดทีเซอร์ออกมาให้ดูดีงาม มันก็ยากไป ยกตัวอย่างเรื่อง บังเกิดเกล้า ออนไป 2-3 ตอน ก็โดนตลอดว่า เป็นความรุนแรงในครอบครัว แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็มีกระแสบอกว่าเรื่องนี้ต้องได้รางวัล จริงๆ มันเพียงแค่ ขอแค่ดูให้จบก่อน จะด่าก็ได้ มันไม่ได้ถูกผิดดีเลวหรอก มันเป็นเรื่องความคิดเห็น และการหยิบบทประพันธ์ที่เขียนมา 30 กว่าปีมาทำนั้น บางทีเราก็ปรับเปลี่ยนให้มันเข้ายุคสมัยนี้ เรามองว่าวันนี้อะไรเคลื่อนตัวบ้าง เทคโนโลยี วิธีคิดคนยุคนี้ ยุคก่อนไม่เหมือนกัน บริบทของสังคมมันเปลี่ยนไป”













กำลังโหลดความคิดเห็น