“พลัสเตอร์” เผยสภาพจิตใจ “แพรวา ณิชาภัทร” ดีขึ้นแล้ว หลังเลิก “หน่อง ธนา” ลั่นอยู่เคียงข้างให้กำลังใจ บอกโกออนเลยมึง ชี้ผู้หญิงควรยึดแพรวาเป็นแบบอย่าง พร้อมวอนอย่าสับสน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่เหมือนสมรสเท่าเทียม จะเป็น LGBTQ คู่แรกที่แต่งงาน?
เป็นเพื่อนสนิท “แพรวา ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์” ที่คอยให้กำลังใจช่วงที่แพรวาเลิกรากับ “หน่อง ธนา ฉัตรบริรักษ์” โดย “พลัสเตอร์ พรพิพัฒน์ พัฒนเศรษฐานนท์” เผยว่า แพรวาสตรองมาก และผู้หญิงควรยึดเป็นแบบอย่าง ตอนนี้สภาพจิตใจดีขึ้นมากแล้ว
“โอเคเลยครับช่วงนี้แอ็กทีวิตี้เยอะ แพรวาเป็นคนที่มีมายด์เซ็ตค่อนข้างโกออน โกออนในเรื่องที่เอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตมาผลักดันในชีวิตเขา คงจะทราบในหลายๆ รายการที่เขาไปออก อย่างรายการของคลับฟลายเดย์ว่าแพรวาเองเจออะไรมาบ้าง พลัสก็อยู่ในเหตุการณ์ที่เขาได้เจอสิ่งนี้มา เรารู้สึกว่าถ้าเป็นเราในเหตุการณ์นั้นเราก็คงจะปิดชีวิตไหม แต่นั่นก็ไม่ใช่การแก้ และมันก็ไม่ใช่ทางออก เพราะท้ายที่สุดแล้วคนข้างหลังที่ใช้ชีวิตหลังจากนี้ถ้าไม่มีเขาจะต้องทำยังไง อย่างแพรวาก็เป็นเคส Study นะครับ สำหรับผมเองด้วย เขาค่อนข้างเก่งแล้วก็สตรองมาก ผู้หญิงควรจะเอาเป็นแบบอย่างนะครับ
เราก็ให้กำลังใจ โกเลยมึง โกให้ได้มากที่สุดครับ คือนาทีนั้นมันขาดแค่คนเข้าใจ ขอแค่มีคนเข้าใจเขา อย่างเรา เราเข้าใจเขาว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็ให้กำลังใจและคอยอยู่ข้างๆ แค่นี้ เขาต้องการแค่นี้จริงๆ ตอนนี้ชีวิตเขาก็แฮปปี้ครับ ผมคิดว่าพร้อมที่จะรับงานมากขึ้น”
วอนอย่าสับสน พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่เหมือน สมรสเท่าเทียม
“พ.ร.บ. คู่ชีวิตก็ไม่เหมือนกับสมรสเท่าเทียม ต้องแยกแยะให้ออกก่อน ก็มีหลายคนที่เข้าใจในประเด็นนี้ผิด คือประเทศไทยขาดอย่างหนึ่ง คือขาดเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียม และเข้าถึงทุกคน ทำให้หลายคนสับสนเรื่อง พ.ร.บ. คู่ชีวิตแล้วก็กฎหมายสมรสเท่าเทียม จริงๆ ก็เป็นหนึ่งเสียงในการผลักดันให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมันไม่เหมือนกันกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต สิทธิทุกอย่างมันไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด
อาจจะต้องทำความเข้าใจใหม่ สมรสเท่าเทียมชื่อมันก็บอกแล้วว่ามันเท่าเทียมทุกเพศจริงๆ ไม่ว่าจะคู่ชายชาย หญิงหญิง หรือคู่ไหนไหนที่กฎหมายยังไม่รองรับ ตรงนี้ก็จะมาตอบโจทย์พวกเขา เชื่อว่าหลายๆ คนก็อยากจะเป็นกระบอกเสียง ซึ่งในวงการบันเทิงก็มีผลักดันในเรื่องนี้ด้วย แต่ว่าหลายคนก็พูดไม่ได้ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ แต่วันนี้เราออกมา call out ขนาดนี้ก็ยินดีที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านไปสักที อย่าได้เลื่อนมันปัดตกเลยครับ
ถามว่าคิดว่ายังมีข้อไหนที่ยังทำให้สมรสเท่าเทียมมันไม่ผ่าน พูดถึงต้นขั้วก่อนนะครับ ต้นขั้วก็จะเป็นการพูดถึงความรักซะส่วนใหญ่ คือคู่ชายหญิงเป็นแฟนกันแต่งงานกันจดทะเบียนกันมีสิทธิในการ อย่างเช่นทำศพ ไกล่เกลี่ยเรื่องมรดก แต่อันนี้ลองคิดดูนะครับว่าถ้าคนคนหนึ่งตายไป แต่ไม่มีสิทธิ์ในคู่ของตัวเองเลย แล้วคนตายพูดไม่ได้ เราก็เห็นอยู่ในหลายๆ เคสว่าคนตายพูดไม่ได้จริงๆ ก็อยากจะฝากไว้ จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นแค่คนติดตาม แต่ก็เป็นคนเชียร์เรื่องนี้ด้วย เพราะถ้าพูดถึงในอนาคตก็อาจจะเป็นตัวเรา เราไม่รู้หรอกว่าวันนี้เราอาจจะขอแฟนแต่งงานหรือพรุ่งนี้เราจะขอเขาแต่งงาน ก็อยากจะให้มีอะไรที่รองรับ อย่างน้อยก็เป็นมันอาจจะเป็นประโยชน์ให้กับหลายๆ คู่รุ่นใหม่”
ลุ้นวันที่ 15 มิ.ย. ร่าง พ.ร.บ.จะเข้าสภา
"ก็ลุ้นครับ ถ้ามีวาระแล้วก็อยากจะให้มันเกิดขึ้นจริง อย่าให้เรื่องมันถูกปัดตกเลยครับ เราเองเป็นคนในกระแส และในยุคของเรามันแรงมากในเรื่องของกระแส ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ทวิตเตอร์หรือจะเป็นเรื่องผลักดันในการลงชื่อต่างๆ สุดท้ายแล้วก็อยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ อยากจะฝากไว้แล้วกันครับ ถ้าวันนี้ข่าวนี้ประชาสัมพันธ์ออกไปก็อยากจะให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้คนที่เขากำลังต่อสู้กับเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”
จะเป็น LGBTQ คู่แรกที่แต่งงาน? พ้อไม่มีกฎหมายรองรับไม่พอ สิทธิอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง วอนหยุดบูลลี่เรื่องเพศ
“(หัวเราะ) เคยถามเหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะขอเราแต่งงานหรือว่าจะให้เราขอดี จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเพศอย่างเรา LGBTQ ไม่มีกฎหมายรองรับไม่พอ สิทธิอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง ทั้งที่ก็จ่ายภาษีเท่ากัน แล้วการที่คนๆ นึงจะต้องขอแต่งงาน มันก็ไม่ใช่เป็นอะไรที่สำคัญมากนะครับ แต่มันก็เป็นพิธีกรรมนึงที่คู่ชายหญิงก็มี พ่อแม่ก็อยากให้มี มันก็คงเป็นพิธีกรรมที่หาคนมาเป็นสักขีพยานหน่อย ประกาศว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อกัน ก็เป็นอะไรที่โหยหาและอยากให้มี ผมอาจจะหัวโบราณ แต่เชื่อว่าเด็กๆ ก็อาจจะเข้าใจในเรื่องของการสมรสเท่าเทียม ไม่งั้นจะผลักดันกันไปทำไม ทุกคนก็คงจะอยากเท่าเทียมกันหมด แม้แต่เราเองยังอยากจะให้ทุกคนเท่าเทียมกับเราเลย เพื่อนมนุษย์ก็ช่วยๆ กันครับ
ถามว่าถ้าผ่านขึ้นมาเราจะเป็นคู่แรกๆ เลยไหมที่แต่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของระยะเวลาแล้วกันครับ ทุกวันนี้ก็ยังแฮปปี้ดี ถ้ามีเรื่องของการสมรสเข้ามาจริงๆ คือต้นขั้วจริงๆ ต้องให้ความรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเจนไหนก็ตาม อย่างคู่ของพลัสเองอาจจะเข้าใจ พ่อแม่พลัสอาจจะเข้าใจ แต่ฝั่งแฟน พ่อแม่แฟนอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ การเปลี่ยนแปลงมันยากครับ แต่เลือกที่จะเปลี่ยนตัวเองด้วย ช่วยๆ กันแพร่กระจาย ค่อยๆ ป้อนไป วันนี้อาจจะไม่ยอมรับ แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะมีโอกาสก็ได้ในเรื่องของครอบครัว ผมเชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมันดีเสมอ
จริงๆ แล้วไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไรนะครับ แต่อยากจะเป็นกระบอกเสียงให้หนึ่งเสียงของเรามีค่ามากที่สุดและอยากให้ทุกคนเข้าใจ อย่างน้อยก็บอกให้หลายๆ เจน หรือเพื่อนคนรอบข้างให้เข้าใจในตรงนี้ โลกมันก็จะน่าอยู่มากขึ้นถ้ามันเท่าเทียมกันทั้งหมด"
ถามว่าสิ่งที่มันควรจะเท่าเทียมมากกว่านี้มันมีอะไรบ้าง จริงๆ แล้วถ้าเป็นการเจอกับตัวก็จะเป็นในเรื่องของการอยู่ในสังคม อย่างน้อยกฎหมายมันยังไม่ได้รองรับ การบูลลี่มันก็เป็นสิ่งที่เราควรจะรณรงค์ไม่ให้มันเกิดขึ้น บางครั้งปัญหาเล็กๆ มันไม่มีคนเข้าใจหรอก อย่างเช่นคนเป็นโรคซึมเศร้า ผมเข้าใจได้ว่าปัญหาเล็กๆ ของเรามันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ ของเขาเอง เพราะฉะนั้นอยากให้รณรงค์ช่วยกันเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกันดีกว่า มันจะได้เกิดการเท่าเทียมกันจริงๆ หยุดบูลลี่เรื่องเพศเถอะนะครับ ปีไหนแล้ว”