xs
xsm
sm
md
lg

สวค. วางโมเดลศาสตร์ด้านวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ จัดการทรัพยากรสุขภาพในรพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ศาสตร์ทางวิศวกรรม ในการจัดการทรัพยากรสุขภาพของโรงพยาบาล” เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  โดยมีผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้บริหารการพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม ทางonline และonsite กว่า 100 คน

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 หน่วยบริการด้านสาธารณสุข ได้มีการนำ ระบบเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข ในบางพื้นที่ เช่น ระบบการฉีดวัคซีนที่จังหวัดนครราชสีมา ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลของโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น การหาเตียงว่าง หาเครื่องเอกซเรย์ปอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์ที่เกิดการระบาดโควิด-19  จำเป็นต้องใช้ศาสตร์และองค์ความรู้หลายด้านมาใช้ในการจัดการทรัพยากรสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ช่วงแรก ที่ขาดแคลนชุดพีพีอี  เราก็ได้สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอเข้ามาช่วยเหลือ แล้วก็มีเรื่องระบบดิจิตอล อย่างไรก็ตาม หากเกิดสถานการณ์แบบเดิม และมีการระดมกำลัง หากใช้ระบบสาธารณสุขแบบเดิมๆ   ก็จะเหน็ดเหนื่อยกันมาก จึงมองว่าถ้านำศาสตร์ด้านวิศวกรรมอุตสาหกรรม ที่ใช้ในการวางแผนทรัพยากร เข้ามาช่วย  น่าจะเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งการสัมมนาในวันนี้  จะมีการถอดบทเรียน นำไปทำเป็นโมเดล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ งานด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงประสิทธิผลที่ประชาชนจะได้รับด้วย” นายแพทย์โสภณ กล่าวและว่า จากโมเดลการบริหารจัดการโดยใช้หลักวิศวกรรม ที่ผ่านการถอดบทเรียน เชื่อว่า  หากเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่างโรคฝีดาษวานร ที่กำลังวิตกกัน ในขณะนี้ ระบบสาธารณสุของประเทศไทยสามารถที่จะรับมือได้

    ดร.กฤษดา แสวงดี หัวหน้าทีมนักวิจัยและ อุปนายกสภาการพยาบาล  กล่าวว่า จุดเด่นที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทย ประสบความสำเร็จ  คือสังคมมีการตื่นตัวและมีความเข้าใจสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถึงตอนนี้ ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่า การรักษาโรคไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ในภาวะวิกฤติ ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ต่างให้ความสนใจการใช้สื่อออนไลน์ และจากบทเรียนของบุคลากรทางการแพทย์ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสกิล(skill) ในการรักษา ทำให้สามารถทำงานรักษาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว
“นอกจากนี้ยังพบว่าการบรรจุสิทธิ์บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 30,000 ตำแหน่งเป็นข้าราชการ ทำให้เกิดขวัญและแรงจูงใจในการทำงานหนัก ไม่เช่นนั้นเราอาจประสบกับปัญหาบุคลากรลาออก ทำให้ไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลน อย่างไรก็ตามจุดอ่อนที่พบตอนนี้คือที่ผ่านมาใช้วิธีการขยายงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรเหนื่อยล้า เราจึงคาดหวังว่า ศาสตร์ด้านวิศวกรรม ที่จะใช้ในการวางแผนทรัพยากร และการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญ”

สำหรับตัวอย่าง การใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรม ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสุขภาพ ได้แก่ 1.การคาดการณ์ผู้ป่วยโควิด -19 เพื่อเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการรับมือ 2.การสร้างแบบจำลองเพื่อดูแลการให้บริการฉีดวัคซีน 3.แนวทางการรับมือ การระดมทรัพยากร หรือที่เรียกว่า surge capacity ด้วยการขยายหน่วยย่อย icu พร้อมทรัพยากรและกระบวนการทำงานที่จำเป็น 4. การจัดตารางเวรเจ้าหน้าที่ด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ เป็นต้น

ด้าน ดร.นพ.ฑิณกร โนรี สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าวว่า ภายหลังจากการสัมมนาครั้งนี้ จะได้มีการนำเอาแนวคิดและวิธีการของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม มาประยุกต์เพื่อใช้ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรต่อไป
 





กำลังโหลดความคิดเห็น