เป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอยู่ในตอนนี้สำหรับพืชอย่าง "กัญชา" หลังรัฐบาลได้มีการประกาศปลดล็อคจากการเป็นสิ่งเสพติดไปหมาดๆ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คนในสังคมออนไลน์เองต่างก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ในวงกว้าง และส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเห็นแต่ด้านดีๆ ของกัญชา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Benya Nandakwang ซึ่งเป็นของ "เบญญา นันทขว้าง" อดีตผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ได้มีการโพสต์ข้อความเตือนสติถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า...
"น้ำพุ พี่ชายฉันที่เสียชีวิตไป ก็เริ่มจากกัญชานี่ละค่ะ ไม่จำเป็นก็อย่าลองจะดีที่สุด"
...
"น้ำพุ" เป็นชื่อเล่นของ "วงศ์เมือง นันทขว้าง" เกิดเมื่อวันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 เป็นบุตรของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียน, นักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง กับ ทวี นันทขว้าง อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 253
โดยเจ้าตัวเป็นลูกชายคนเดียวจากจำนวนพี่น้อง 4 คน(มีพี่สาว 1 คน น้องสาว 2 คน) ซึ่งหลังจากพ่อแม่หย่าจากกัน น้ำพุก็ได้ไปอาศัยอยู่กับมารดา
ด้วยความสนใจในเรื่องศิลปะทำให้เจ้าตัวตัดสินใจเข้าเรียนโรงเรียนช่างศิลป์(วิทยาลัยช่างศิลปกรมศิลปากรในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนไหวจากครอบครัวที่แตกแยกและที่บ้านมีแต่ผู้หญิง ทำให้เจ้าตัวติดเพื่อนและใช้ยาเสพติดเป็นที่พึ่ง กระทั่งท้ายที่สุดเจ้าตัวก็ต้องมาเสียชีวิตเพราะเสพเฮโรอีนเกินขนาดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ด้วยวัยเพียง 18 ปี 2 เดือน 15 วันเท่านั้น
ช่วงหนึ่งของชีวิตในระหว่างที่เข้ารับการบำบัดที่ถ้ำกระบอก น้ำพุได้เขียนจดหมายถึงมารดาเป็นเรียงความสั้นๆ เรื่อง พฤติกรรมของวัยรุ่น, ครอบครัวของข้าพเจ้า ก่อนที่จะถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือระลึกงานฌาปนกิจของตัวเอง
เรื่องราวชีวิตของน้ำพุกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2527 โดยบริษัทไฟว์สตาร์ กำกับการแสดงโดย ยุทธนา มุกดาสนิท โดยมี อำพล ลำพูน รับบทเป็น น้ำพุ และ ภัทราวดี มีชูธน แสดงเป็น สุวรรณี สุคนธา จากนั้นได้ถูกสร้างเป็นละครทางช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2545 กำกับการแสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช, จิรายุส วรรธนะสิน, ตะวัน จารุจินดา และ เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์
ทั้งนี้ที่ผ่านมาชื่อของน้ำพุนั้นได้ชื่อว่าเป็นภาพจำของการชี้ให้เห็นโทษของสิ่งเสพติดมาโดยตลอด
ที่สำคัญไม่ใช่เพียงเจ้าตัวเท่านั้น เพราะการเสียชีวิตของนักเขียนชื่อดัง สุวรรณี สุคนธา เจ้าของงานเขียนอย่าง เก้าอี้ขาวในห้องแดง, เขาชื่อกานต์ ฯ ผู้เป็นมารดาของเขาในอีก 10 ปีต่อมา (เสียชีวิตวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527) ก็เป็นเพราะถูกวัยรุ่นทำร้ายเนื่องจากพยายามชิงรถยนต์ไปขายเพื่อเอาเงินไปซื้อยามาเสพนั่นเอง
...
คลิกไปที่โพสต์ต้นเรื่อง