หลายคนยังคงมีความสงสัยเกี่ยวกับขอบเขตของ “พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า pdpa (Personal Data Protection Act) ที่กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมว่าสรุปแล้วว่าทำได้แค่ไหน และแค่ไหนคือการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เพราะตอนนี้ที่ทุกคนเข้าใจกันว่าแค่การถ่ายรูปแล้วติดหน้าคนอื่นเข้ามาในเฟรม และบุคคลนั้นไม่ยินยอมก็ถือว่าผิด แต่ก็ต้องไปตีความในบริบทกฎหมายอีกว่าความตั้งใจจริงๆ แล้วนั้นจะละเมิดสิทธิของคนอื่นหรือเปล่า แต่ถ้าถูกบุคคลอื่นมาละเมิดสิทธิเรา แถมเป็น “ข้อมูลส่วนตัว” ที่มีเพียงเราเท่านั้นที่รู้ และถ้าข้อมูลเหล่านั้นหลุดมาจากแพลตฟอร์มที่เราลงทะเบียนไปนั้น ถูกนำมาเผยแพร่ ถือว่าเราถูกละเมิดสิทธิตาม พ.ร.บ. ไหม
โดยเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงใน 2-3 วันที่ผ่านมา สำหรับเพจดังอย่าง “ข่าวปด สุดสัปดาห์” กับคอนเซ็ปต์ “ปด ประชด แดกดัน รับชมความปดและประชดแบบจิกกัดแสบๆ คันๆ” ที่ได้ถูกหนึ่งในแฟนคลับไปคอมเมนต์ถาม เมื่อเพจลงข่าวเกี่ยวกับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ พร้อมประโยคที่ว่า “ขำไปเถอะ เดี๋ยวหมายศาลร่อนถึงหน้าบ้านแล้วจะขำไม่ออก” หรือ “คงคิดว่าไม่มีใครตามตัวได้ใช่ไหม เลยไม่กลัว แต่คราวนี้ไม่เหมือนกัน” ซึ่งถ้ามองในมุมปกติก็อาจจะเป็นการเมนต์ซัปพอร์ตศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น จากนั้นบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “ตี๋กมล (อ้างอิงมาจากเพจ ข่าวปด สุดสัปดาห์)” ก็ได้ระบุรายชื่อ “ภีระ / ครรชิต / ธนพร / ภูวทัต” แล้วตามด้วยข้อความ “อ่านชื่อเฟซคุณอ่านไม่ออกอ่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าใครตอบ ธนพร ครรชิต หรือภูวธัตอะ? ขอเช็กกิจกรรมล่าสุดบนเพจแป๊บนะ” ซึ่งทั้ง 4 ชื่อที่กล่าวมานั้นทางแอดมินยืนยันว่าเป็นชื่อของแอดมินที่ดูแลเพจ ซึ่งถ้าบุคคลไหนจะรู้ทั้ง 4 ชื่อนี้ก็ต้องเป็นหนึ่งในแอดมิน (ซึ่งภายหลังเพจดังกล่าวก็ได้ชี้แจงว่า บัญชีทั้ง 4 ที่ถูกตั้งเป็นแอดมิน มีคนเดียวดูแล 1 ใน 4 ของบัญชี เป็นบัญชีที่แปะไว้กรณีฉุกเฉิน ไม่มีการนำไปโพสต์ แชร์ โพสต์ของเพจใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากผมไม่มีใครที่จะสามารถเห็นหน้าบทบาทในเพจได้ ดังนั้นผู้ที่สามารถรู้ได้ว่ามีบัญชีที่ชื่อว่า “ครรชิต” เป็นแอดมินได้ ก็แปลว่าจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิ์เข้าถึง) และคนที่จะเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ก็ต้องเป็นเฟซบุ๊กเท่านั้นตามที่เพจดังได้กล่าวไว้
จากนั้นก็ได้มีเคลียร์กันใน “กล่องข้อความ” แอ็กเคานต์ที่ชื่อว่า “ตี๋กมล” ก็ได้บอกว่าตนเองได้พ้นสภาพมาแล้ว 1 ปี ออกมานานแล้ว ยืนยันว่ารายชื่อที่พูดไปเป็นการพูดหว่าน พร้อมบอกว่าจะไม่ตอบอีกแล้ว และถ้าใครฟ้องมา ก็จะฟ้องกลับเพราะตนเองถูกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่ได้ทำ ทั้งที่มั่วชื่อขึ้นมาทั้งหมด เพียงแต่แอดมินเพจดังกล่าวร้อนตัวไปเองเท่านั้น
ด้านเพจดังก็ไม่หยุด เดินหน้าหาความจริงต่อ เพราะสิ่งที่แอ็กเคานต์ “ตี๋กมล” ทำนั้น เป็นการลักลอบนำข้อมูล Private ของเพจออกมาให้กับผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทาง Meta หรือคำสั่งของรัฐ โดยเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน Policy ของ Facebook รวมไปถึงกฎหมาย PDPA จนสรุปมาเป็นข้อๆ ว่า
- “ตี๋กมล” (เพศหญิง นามสมมติ) เคยทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่รับเป็นซับคอนแทคให้กับทางบริษัทเมต้า เจ้าของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก / อินสตาแกรม โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ซัปพอร์ต ซึ่งมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของเพจ แต่ปัจจุบันได้พ้นสภาพพนักงานไป 1-2 ปี โดยบริษัทดังกล่าว ปัจจุบันรับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากเฟซบุ๊ก เช่น อินสตราแกรม, แกร็บ ฯลฯ
- การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเพจ หรือหลังบ้าน “ตี๋กมล” จะใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับเจ้าหน้าที่ ที่ยังทำงานในบริษัทดังกล่าว ให้ทำการเข้าถึงข้อมูลของเพจ ที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลและนำมาให้กับตี๋กมล ได้รับทราบ
- สิ่งที่มัดตัว “ตี๋กมล” ว่าได้เห็นข้อมูลดังกล่าวอย่างแน่นอน คือสามารถรู้ได้ว่าหนึ่งในบัญชีที่เป็นแอดมิน ใช้ชื่อบัญชีเป็นภาษาอังกฤษ (Peera - ตี๋กมลสะกดว่า ภีระ) โดยยืนยันจากสิ่งที่ ตี๋กมล พิมพ์ข้อความว่า “ว่าไงภีระ? อ่านชื่อเฟซคุณเป็นไทยไม่ออกอะ”
-พบหลักฐานที่ยืนยันว่า “ตี๋กมล” เคยทำงานอยู่ในบริษัทดังกล่าวเป็นรูปถ่ายที่ลงในเฟซบุ๊ก เพื่อนร่วมงาน ในงานเลี้ยงที่มีการแท็กบัญชีเฟซบุ๊กของ ตี๋กมล โดยหนึ่งใน # คือ #cnxfb ที่ไม่ได้แปลว่า เชียงใหม่fb แต่เป็นชื่อย่อของบริษัทและตามด้วยส่วนหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่ง ตี๋กมล คือคนที่รับผิดชอบดูแลแพล็ตฟอร์มของเฟซบุ๊ก
- ตอนนี้มีการเข้าไปสอบถามถึงบริษัทดังกล่าวในกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งยังคงไม่ได้รับคำตอบใดๆ ออกมาว่ามีการดำเนินการอย่างไร ที่มีพนักงานฝ่าฝืนสัญญาของบริษัทที่ให้เซ็นสัญญาก่อนเริ่มงาน เรื่องการรักษาความลับและรักษา Policy ของลูกค้า (ในที่นี้คือบริษัท Meta) และตอนนี้สมาชิกบางส่วนของเพจก็ได้ทำจดหมายไปถึง เฟซบุ๊ก สำนักงานใหญ่ที่สิงค์โปร์ ถึงการทำผิดจรรยาบรรณในครั้งนี้
เพจดังยังยืนยันต่อว่าไมได้อาฆาตหรือโกรธแต่อย่างใด เพียงแต่บุคคลดังกล่าเฟียสและปล่อยโป๊ะเกินไป รวมไปถึงแค่ทางเพจโพสต์ถึงศิลปินของตัวเองแล้ว เพียงแต่ตัวเองอาจจะไม่พอใจ จึงใช้มาตรการไล่ล่ารวมกับตามล่าผู้ก่อการร้าย และการที่ตี๋กมล อดีตพนักงานที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ย้ำว่าเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ได้แบบนี้ การที่คุณไปมีเรื่องกับบุคคลนั้นๆ และทำงานในแพลตฟอร์มนั้น อะไรมันจะเกิดขึ้นกับคุณ รวมไปถึงถ้าเกิดขัดแย้งกับรัฐโดยใช้เพจเป็นเครื่องมือในการปิดบังตัวตน อาจจะเพื่อเปิดเผยข้อมูล หรือแม้กระทั่งโจมตีรัฐบาล และรัฐพบว่าการซื้อตัวพนักงานให้แอบส่งข้อมูลให้ดีกว่าการใช้วิธีที่ถูกต้องตามกระบวนการ มันจะเป็นยังไง เพราะข้อมูลของพวกคุณครึ่งชีวิต ถูกบรรจุไว้ในเฟซบุ๊ฎที่พนักงานสามารถที่จะล้วงมันออกไปให้ใครก็ได้ แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไง ขนาดเรื่องปัญญาอ่อนแบบนี้มันยังสามารถหาข้อมูลมาได้
และยังทิ้งท้ายว่าขนาดเพจโกงเงิน / เพจมิจฉาชีพ / เพจล้มเจ้า เฟซบุ๊กไทยแลนด์ยังปฏิเสธการให้ข้อมูลถ้าไม่ได้มีคำสั่งจากศาล หรือหนังสือจากบริษัทแม่ที่อเมริกา แต่เพียงข้อมูลแค่นี้ทำไมถึงกลับมาให้กันง่ายๆ
