“เอกชัย ศรีวิชัย” เตรียมดึงอัตลักษณ์ วัวชน ปักษ์ใต้ มาสร้างหนัง มนต์รักวัวชน เล่าหนังแมสผ่านอัตลักษณ์แม้จะเล่าถึงวิถีชีวิตคนใต้ แต่คนทั้งประเทศก็ดูได้ด้วย น้อยใจคนตั้งกำแพงกับหนังไทย ด่าก่อนชมทีหลัง ลั่นหนังไทยมีดีแต่คุณไม่รับเอง
เป็นผู้กำกับหนังที่ถูกตั้งแง่ก่อนหนังฉายเสมอ สำหรับ “เอกชัย ศรีวิชัย” แต่เมื่อได้ชมผลงานแล้ว ต่างก็ชื่นชมที่สามารถดึงอัตลักษณ์ของภาคใต้มาเล่าได้สนุกครบรส ถ้าพูดถึงหนังอีสาน นึกถึง “หม่ำ จ๊กม๊ก” เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา แต่ถ้าเป็นหนังภาคใต้ ก็ต้องนึกถึง เอกชัย ศรีวิชัย นี่แหละ และล่าสุดค่าย M39 เตรียมดันภาพยนตร์ที่เชิดชูอัตลักษณ์ภาคใต้ เรื่อง “มนต์รักวัวชน” ที่กำกับโดย เอกชัย ศรีวิชัย ที่จะบอกเล่าถึงวิถีชีวิตคนปักษ์ใต้ ที่คนภาคอื่นก็สามารถดูได้อรรถรส เช่นกัน
“เรื่องนี้ก็เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ตัวเองรู้สึกว่าได้ทำงานเพื่อความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นปักษ์ใต้ เป็นตัวตนของคนใต้ก็คือการนำเอาวัวชนมานำเสนอ คนอาจจะมองวัวชนเป็นการพนัน แต่จริงๆ แล้วต้นกำเนิดมันมาจากนักเลงวัวชน เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง เอาไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในสมัยก่อน การพนันมาทีหลัง แต่เราปฎิเสธไม่ได้ว่ามันมีอยู่จริง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
วิธีการเล่าเรื่องของเราก็คือเอาเส้นเรื่องของตัวละครมาทำให้แข็งแรง ไม่ได้เดินแบบซีเรียส ให้การชนวัวเป็นกิมมิก ทุกครั้งที่ดูการชนวัวที่ผ่านมามันไม่เคยถูกเล่าผ่านหนังเลย จะเป็นสารคดี ผมว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ตอบโจทย์มาก เรานั่งดูแล้วตื่นเต้นกับการชนวัวเลย มันคือกิจกรรม มันคือกีฬา มันคืออาชีพของคนปักษ์ใต้เลย”
เล่าถึงการดึงเสน่ห์อัตลักษณ์ภาคใต้และภาษาถิ่นที่จะทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจได้ไม่ยาก
“ทางค่าย M39 เป็นคนให้โจทย์มาก่อน แล้วเราจะทำแบบไหนได้บ้าง วิธีการเดินเรื่อง จะมีคอมเมดี้ตลอดอยู่แล้วโดยความเป็นเรา พล็อตเรื่องจะพาไปเข้าโหมดดรามาเอง คนดูก็จะได้อรรถรส ได้ฟังเพลง ได้หัวเราะ ได้เส้นเรื่องที่แข็งแรง ทางค่ายจะเป็นคนหยิบนักแสดงที่เป็นตัวทำตลาดมาให้เราเอง
ผมมองว่าอัตลักษณ์ของทุกๆภาคมันเป็นภาษากาย มันสามารถเรียนรู้กันด้วยภาษากายได้ ทำไมเราดูหนังอินเดียเราถึงเข้าใจได้ละ เวลานี้ภาษาไม่ได้เป็นตัวบอกว่าฉันฟังภาษาอีสานไม่เป็น ฉันฟังภาษาใต้ไม่เป็น มนต์เสน่ห์ของดนตรี บทกวี ภาษาถิ่น มันเป็นอะไรที่คนไทยเข้าใจกับมันได้”
แม้เป็นหนังที่ทำให้คนใต้ก่อน และคนทั้งประเทศก็ดูได้ มันแมสผ่านอัตลักษณ์ที่นำเสนอ
“เงิน 50 ล้านในภาคใต้กับเงิน 50 ล้านในกทม. มันมีค่าเท่ากันนะ ฉะนั้นถ้ามันจะประสบความสำเร็จที่ภาคใต้ไปเลยก็ไม่เห็นเป็นไร เราตั้งใจทำให้คนทั้งประเทศดู ถ้าภาคอื่นไม่ดูแล้วจะรู้เหรอว่าคนภาคใต้เขาใช้ชีวิตกินอยู่กันยังไง เรามองว่าทุกอย่างที่เราทำ มันแมสผ่านอัตลักษณ์ ผมกำกับมาแล้ว 7-8 เรื่อง ให้เปรียบเทียบก็คือเพลงทั่วไป ยังไม่ถึงขั้นเพลงหมากัด ถ้าเมื่อไหร่หนังขึ้น 100 ล้าน เมื่อนั้นผมจะเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงขึ้น แต่หนังที่เราทำมา 7-8 เรื่องก็ไม่มีเรื่องไหนขาดทุนเลย
แสดงว่าหนังที่เราทำอยู่ได้ แล้วไม่ได้อวยตัวเองนะ ไปดูคอมเมนต์ต่างๆ เวลาที่หนังเราฉายไปแล้ว ก่อนหน้าหนังจะฉาย ทีเซอร์ออก เมนต์กันหนังแบบนี้ไม่ดูหรอก พอหนังฉายมาเลย มีหนังแบบนึ้ในประเทศไทยด้วยเหรอ เราดีใจจัง ทำไมเราไม่เคยรู้ ก็คุณไม่รับเองไง หลายๆ เรื่องจะเป็นอย่างนั้น อีหล่าเอ๋ย เป็นหนังอีสาน ซึ่งใครจะคิดว่าผมเป็นคนใต้แล้วผมจะไปเป็นคนกำกับเอง ผมร้อยเพลงอีสาน เอามุกเอาวัฒนธรรมของอีสานมาใส่ไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ พอไปฉายในเน็ตติดเทรนด์อันดับ 1 อยู่ 3 เดือนขึ้น เวลานั้นทำไมมันมีหนังแบบนี้ด้วย ไม่รู้กัน คุณไม่รับเอง”
น้อยใจคนตั้งกำแพงกับหนังไทย
“อยากรวบรวมคนพวกนี้ทั้งประเทศแล้วผมจะไป ปาฐกถาให้ฟัง จะได้อธิบายให้เขาตาแจ้งซะหน่อย เวลาที่คุณบอกว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมโปรดักชั่นแบบนี้ บางคนรู้ไปถึงกล้อง 4 เค 3 เค ทำซีจี คือรู้มาก ทำเองเลย มาทำเองเลย
ผมไม่ได้ต้องการทำตรงนี้เพื่ออวดใครว่าผมทำหนังแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ตลอดเวลาที่ผมทำหนังปฎิเสธไม่ได้เลยว่าผมเป็นคนที่แบกอัตลักษณ์ของใต้มาตลอด และทุกเรื่องของผม แม้กระทั้งภาษาพูดของผม เจ้านายบอกให้พูดภาษากลางเยอะๆ ผมบอกไม่เอา ต้องพูดใต้ ถ้าตัวละครพูดกลางก็พูดกลาง ผมจะเอาสิ่งที่ผมอยากนำเสนอ ยืนหนึ่ง ปักษ์ใต้ครับ ถ้าคนบอกฟังไม่รู้เรื่อง เรามีซับไตเติ้ลให้ตลอดอยู่แล้ว ถ้าจะน้อยใจจะน้อยใจสื่อที่ไม่นำเสนอทุกแง่ทุกมุม สื่อบางที่ก็ไม่ได้รู้ด้วยนะว่าในตัวตนของอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมันมีจุดเด่นอะไรอยู่บ้างที่ควรจะนำมาเสนอ”
ขอบคุณ M39 ที่เปิดโอกาสทำหนังท้องถิ่น ลั่นการที่ตนประสบความสำเร็จในฐานะผู้กำกับไม่ใช่รายได้ แต่เป็นอัตลักษณ์ในหนังที่ถูกเชิดชูจากคนดู
“ในบริบทชีวิตประจำวันมันมีครบทุกอย่างอยู่แล้ว เหมือนคนกรุงเทพฯ แหละ กิน ทุกข์โศก เสียใจ ประสบความสำเร็จ ไม่ประสบความสำเร็จ เราจะหยิบอะไรมาก็ได้ ที่มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด อย่าลืมว่าทุกวันนี้โรงภาพยนตร์เขาขยายไปในอำเภอแล้ว แปลว่าเรามีโอกาสเสิร์ฟสิ่งที่เหมือนเป็นคันนาไว้ใกล้บ้านเขา การดักกุ้ง แล้วมาอยู่ในจอภาพยนตร์ มันเป็นการสะท้อนกลับไปหาชาวบ้าน ซึ่งเรามองว่าคนที่บ้านกงหรา พัทลุงกับคนที่อยู่เซ็นเตอร์พอยท์ กรุงเทพฯ มีโอกาสตาสัมผัสเท่ากัน แต่มือสัมผัสไม่เท่ากัน อินเตอร์เน็ตมันไปทั่วหมดแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เอารถไฟฟ้าไปฉายข้างบ้านคน มันไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ฮิตเท่า ผมเลยมองว่าตรงนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งที่ควรนำเสนอ และขอบคุณผู้ใหญ่ที่เล็งเห็นความสำคัญของคนต่างจังหวัดว่าบริบทของเด็กวัยรุ่นต่างจังหวัด เขาได้สะท้อนมุมมองในสิ่งที่เขาเป็นอยู่
วันนี้ถ้าผมยังไม่รู้จักกับ M39 ผมไปนำเสนอหนังใต้คนก็ให้กล้วยผม ใครจะดูหนังมึง กล้วย! ผมก็ต้องแบกกล้วยนั้นออกมา เขาก็บอกว่าหนังมันไม่สามารถทำงานได้ในแง่ของภาคกลาง เพราะมันเป็นภาษาถิ่น แล้วคุณเห็นหนังอีสานที่มันเป็นภาษาถิ่นไหม ทำไม่ได้ แล้วภาคใต้ไม่เคยมีใครอนุมัติให้ผมทำหนังใต้ มีแต่ที่ M39 นี่แหละ ผมว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่มองการณ์ไกลมาก วันนี้เขายึดตลาดภาคใต้ได้แล้ว ภาคอีสานเขาก็ยึดได้แล้วผ่านพี่หม่ำ จ๊กม๊ก แล้ววันนึง มันเป็นหนังอีสานกับหนังใต้มารวมกันขึ้นมา ซึ่งมันก็ยังอยู่ในโปรเจกต์ที่เรามองว่ามันทำงานกันได้
การที่ผมจะประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่อยู่ที่การที่ผมสร้างอะไรขึ้นมาแล้วอัตลักษณ์ตัวนั้นถูกนำมาเชิดชูต่อ และขับเคลื่อนโดยเด็กรุ่นใหม่ แค่เพียง 3 คนผมก็ดีใจแล้ว”