xs
xsm
sm
md
lg

สสว. ปั้น “SME ปัง ตังได้คืน” ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ย้ำได้คืนสองเด้ง หนึ่งเงินลงทุนพัฒนาสินค้า 50-80% สองจากยอดขายปัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสว. แถลงข่าวมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service อัดฉีดงบกว่า 400 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีใช้บริการพัฒนาธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) ตั้งเป้าปี 2565 ช่วยเอสเอ็มอีให้ได้กว่า 6,000 ราย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสวฺ.) กล่าวว่า “SME ปัง ตังได้คืน มีแนวคิดว่า เอสเอ็มอีเป็นผู้เลือกบริการที่ธุรกิจของตัวเองต้องการ เช่น อยากทำเรื่องมาตรฐาน ISO หรือถ้าเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กอาจสนใจเรื่องการทำสูตรอาหาร การพัฒนาฉลาก ตรงนี้มีค่าตรวจประเมินเบื้องต้น สสว.อยากช่วยเหลืองบในส่วนนี้ ดังนั้นเอสเอ็มอีจะได้คืนสองต่อ ต่อที่ 1 ได้คืนในส่วนที่ลงทุนพัฒนาสินค้าและบริการจาก สสว. 50 – 80% ไม่เกิน 200,000 บาท และตังได้คืนต่อที่ 2 สสว.เชื่อว่า หลังจากที่เอสเอ็มอีพัฒนาธุรกิจจนได้รับมาตรฐานต่างๆ ก็จะค้าขายดีขึ้น ปังและได้กำไรกลับมาให้สู่ธุรกิจ เอสเอ็มอีที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Business  Development Service  หรือ BDS”

ผอ.สสว. เผยอีกว่า ในปีนี้ สสว. ได้เตรียมงบประมาณเพื่อช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการกว่า 400 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการกว่า 6,000 ราย มุ่งเน้นการอุดหนุนพัฒนาใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด และการพัฒนาการตลาดต่างประเทศ

มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้พลิกฟื้นและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยเบื้องต้น สสว. พิจารณาผู้ประกอบการ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1. กลุ่มท่องเที่ยว (Restart) เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อพลิกธุรกิจขานรับนโยบายเปิดประเทศ 2. กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (Food) รวมไปถึงการผลิตยาและสมุนไพร 3. กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและเครื่องมือแพทย์ และ 4. กลุ่ม BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว กลุ่มเกษตรแปรรูป และการค้าและบริการอื่น ๆ

เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการได้คือ กลุ่มธุรกิจ Micro SME หรือรายย่อย มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปี จะได้รับสิทธิ์ในการช่วยเหลืออุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาไม่เกิน 80% สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท กลุ่มธุรกิจขนาดย่อม ในภาคการผลิต มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี และภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านบาท รับเงินสนับสนุนร้อยละ 50 - 80 สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยจะต้องดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปี ผลประกอบการกำไรหรือขาดทุนไม่สำคัญ ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 ราย

สำหรับผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในด้านการยกระดับมาตรฐาน ด้านการตลาด ที่ขึ้นทะเบียนบนระบบ BDS เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้มีจำนวนกว่า 80 หน่วยงาน และขึ้นบริการบนระบบแล้ว 100 บริการ ซึ่งบริการที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ บริการเตรียมความพร้อมเพื่อรับรองเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ บริการขออนุญาต อย. และบริการให้คำปรึกษาการจัดทำระบบมาตรฐานฮาลาล เป็นต้น คาดว่า หลังจากนี้ สสว. จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสและสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย

เอสเอ็มอีสามารถขอรับบริการและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS (https://bds.sme.go.th/) โดยขั้นตอนการรับบริการมีเพียง 3 ขั้นตอน คือ ยืนยันตัวตน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และทำสัญญาข้อตกลงกับ สสว.แล้วเริ่มการพัฒนากับหน่วยธุรกิจที่ได้เลือกไว้ เมื่อเสร็จสิ้นจึงนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่ายที่ สสว. สามารถยื่นขอรับการพัฒนาได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และพัฒนาจนเสร็จสิ้นภายใน 30 กันยายน 2565 สนใจดูรายละเอียดได้ที่ https://bds.sme.go.th/ โทร. 1301, 0 22983190, 0 2298 3050 หรือติดต่อที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (ศูนย์ OSS ประจำจังหวัดทุกจังหวัด)















กำลังโหลดความคิดเห็น