ว่ากันตามจริง คนวงในมีการพูดถึงเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว แต่เพิ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ผ่านการแถลงการณ์โดยตรงจากแฟนเพจของทางค่าย “นาดาวบางกอก” เมื่อเช้าวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับการ “ยุติบทบาทบริษัท” ทั้งการเป็นบริษัทผลิคอนเทนต์ดนตรี, ซีรีส์, ละคร และบริษัทพัฒนา-ดูแลศิลปิน โดยมีผลตั้งแต่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป
เป็นการปิดตำนานของ “นาดาวบางกอก” ไว้เพียง 12 ปี แห่งความสำเร็จ
“นาดาวบางกอก” ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท
เริ่มเป็นที่รู้จักจากซิรี่ส์ “Hormones วัยว้าวุ่น” ที่เปิดหัวแหวนในปี 2556 และสร้างต่อเนื่องมาจนถึงซีซันสุดท้ายในปี 2558 ทำให้มีรายได้ทะลุไปถึง 117 ล้านบาท คิดเป็นตัวเลขกำไรกว่า 5 ล้านบาท
ต่อเนื่องมาถึงปี 2559 พบว่า บริษัทมีรายได้กว่า 165 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 17 ล้านบาท และก็สามารถทำกำไรอย่างต่อเนื่องได้ทุกปี
พีกสุดๆ ก็คือในปี 2562 ที่สามารถกวาดกำไรได้ถึงกว่า 40 ล้านบาท จากยอดรายได้ทั้งหมดประมาณ 392 ล้านบาท เรียกว่าสามารถทำกำไรสูงขึ้นจากปี 2561 ถึง 87.73% ซึ่งก็เป็นผลมาจากความสำเร็จของซิรี่ส์ “Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ” และ “My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” โดยเฉพาะเรื่องหลัง ที่นอกจากซิรี่ส์จะดังเปรี้ยงปร้างแล้ว ยังต่อยอดไปถึงเพลง อย่าง “รักติดไซเรน” ที่ทั้งเพลง ทั้งท่าเต้น ก็ฮิตถล่มทลายทั่วบ้านทั่วเมืองเช่นกัน
แต่พอปีถัดมา ก็ต้องยอมรับว่าวิกฤตไวรัสโควิด – 19 ที่รุนแรงไปทั่วโลก กระทบกระเทือนถึงภาพรวมของภาคธุรกิจทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจบันเทิง ทำให้รายการของ “นาดาวบางกอก” ลดฮวบลงมาอยู่แค่ 313 ล้านบาท เหลือกำไรเพียงแค่ 29 ล้านบาท หรือแปลว่าน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 27.36% กระนั้นก็ยังถือว่าทำกำไรได้อยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว คือภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ภายใต้ชื่อ “นาดาวบางกอก” ก็เป็นบริษัทที่ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด แม้จะมีซวนเซบ้างในช่วงโควิด-19 แต่ก็ไม่ถึงกับต้องติดบัญชีตัวแดง เหมือนกับหลายๆ บริษัท ที่ไปต่อไม่ไหว !!!
แสดงว่า “นาดาวบางกอก” ไม่ได้ยุติบทบาทในฐานะบริษัท เพราะว่าขาดทุน
แต่น่าจะเป็นเรื่องการหมด passion มากกว่าหรือไม่ ? อย่างไร ?
เพราะเมื่อย้อนกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” ในฐานะกรรมการผู้จัดการ “นาดาวบางกอก” ในเว็บไซต์ The Cloud เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ก็สามารถจับใจความได้ว่า เบื้องต้นแล้ว ตัวเขาเองไมได้มุ่งหวังอยากจะเป็นผู้บริหารตั้งแต่แรก เพราะเติบโตมาในสายงานของโปรดักชั่น แต่ก็ยินดีที่จะรับตำแหน่งบริหารงานให้กับนักแสดงในสังกัด ตามการชักชวนของ “จินา โอสถศิลป์” ผู้บริหารบริษัท GTH ในสมัยนั้น ที่รับปากว่า ให้เขาบริหารบริษัทในแบบของเขา
และอะไรคือการบริหารในแบบของเขา !!???
นั่นก็คือ.....ยังคงความเป็นพี่เป็นน้องกับนักแสดงเอาไว้
แต่จากจุดเริ่มต้นที่มีนักแสดงในความดูแลเพียงแค่ 13 คน จนขยายมาเป็น 32 คนในปัจจุบัน
อาจจะดูน้อย ถ้าเทียบสเกลในฐานะบริษัทพัฒนาและบริหารงานศิลปินอื่นๆ แต่ก็นับว่ามากเกินกว่าที่จะใช้การปกครองแบบพี่-น้อง ในแบบฉบับที่ ย้ง ปักธงไว้ตั้งแต่ต้น
สำนวนที่ว่า....มากคน มากความ....ยังคงใช้ได้ดีในกรณีนี้
การบริหารนักแสดงที่จำต้องมีการกำหนดกฎกติกาไว้อย่างชัดเจน เพื่อควบคุมดูแลให้ทุกคนอยู่ในกรอบ อยู่ในระเบียบ ที่กำหนด จึงไม่ใช่แนวทางอย่างที่เขาอยากทำ
ประกอบกับตัวของนักแสดงเอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็อยากที่จะเลือกเส้นทางการเติบโตตามแนวทางของตัวเอง มากกว่าจะอยู่ในกรอบของทางต้นสังกัด ดังจะเห็นได้จากระยะหลังมีข่าวคราวการไม่ต่อสัญญาของศิลปินในสังกัดออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งก็สอดคล้องกับเนื้อหาในแถลงการณ์ของ ย้ง นั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อต้นสังกัดประกาศยุติบทบาทความเป็นบริษัท แน่นอนว่าพันธะสัญญาของบรรดาศิลปินที่ผูกพันอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นอันถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แล้วแต่ว่าใครจะตัดสินใจไปต่อกับที่ไหน
ที่รู้แน่ๆ ในตอนนี้ ก็คือ “พีพี- กฤษฏ์ อำนวยเดชกร “ ถูกช้อปไปอยู่ภายใต้การดูแลของทีม “พี่หวานเจี๊ยบ” ผู้จัดการส่วนตัวของ “ชมพู่-อารยา” , “คริส หอวัง” , ดิว-อริศรา” เรียบร้อยแล้ว
ส่วนพี่ใหญ่ อย่าง “ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร” ก็เป็นนักแสดงในสังกัดช่องวันเต็มตัว
อย่างไรก็ดี “นาวดาวบางกอก” ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการบันเทิงไทย ด้วยผลงานที่สร้างชื่อเสียง และเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญมากมาย
และแม้วันนี้จะยุติบทบาทของตัวเองลงไปอย่างถาวร แต่ชื่อเสียง และผลงาน ก็จะยังคงถูกบันทึกไว้เป็นบทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงไทยตลอดไป
ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2565
