xs
xsm
sm
md
lg

มอบความสุขสู่ชาวภูเก็ตด้วยงานวิจัยอัตลักษณ์เมืองเก่าภูเก็ตที่โดดเด่นจากกองทุนส่งเสริมววน. สกสว. และบพข.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินหน้าขับเคลื่อนภูเก็ตหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ตอกย้ำจุดหมายการท่องเที่ยวโลก ด้วยผลงานวิจัยชิ้นสำคัญการเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จากม.ราชภัฏสงขลาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริม ววน. สกสว. บพข. ร่วมส่งต่อความสุขสู่ชาวภูเก็ต เผยผลงานวิจัยด้านอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของอาคารสถาปัตยกรรม อาหารพื้นถิ่น อาภรณ์พื้นเมืองสไตล์บาบ๊า-ย่าหยา อารมณ์สุนทรีย์จากศิลปะการแสดงต่างๆ ของพื้นที่ เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว โดยมีสว.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์และผู้ว่าฯภูเก็ตร่วมในการรับมอบ
#เคลื่อนไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
#สกสว
#สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
 
เดินมาสู่เป้าหมายกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้โครงการวิจัย “การเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ ดร.ปิยะนุช พรประสิทธิ์ จากวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อศึกษาการเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตบนฐานอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับและเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต

พร้อมทั้งเสนอแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้การใช้กลไกของการวิจัยที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน

จากการดำเนินงานวิจัยของคณะผู้วิจัยในระยะที่ผ่านมา คณะวิจัยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ทั้งในและนอกพื้นที่ อาทิ สำนักงานจังหวัดภูเก็ต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพัฒนาการจังหวัดภูเก็ต  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พิพิธภัณฑ์ไทยหัว มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โรงเรียนสตรีภูเก็ต เป็นต้น

จากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่างๆ ดังกล่าว จึงส่งผลให้โครงการวิจัย “การเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต” สามารถดำเนินงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และสามารถนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของย่านเมืองเก่าภูเก็ตที่ได้จากการศึกษาวิจัย ซึ่งประกอบด้วย อาคารสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อาหารพื้นถิ่นชาวเมืองภูเก็ต  อาภรณ์พื้นเมืองสไตล์บาบ๊า-ย่าหยา รวมถึงอารมณ์สุนทรีย์จากศิลปะการแสดงต่างๆ ของพื้นที่ ซึ่งสามารถนำไปสู่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงอื่นๆ ในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสรุปงานและส่งมอบผลงานวิจัยครั้งนี้ ให้กับทุกภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และการต่อยอดในการพัฒนาและหนุนเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมถึงการท่องเที่ยวในภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต คณะผู้วิจัยฯ จึงจัดให้มีกิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัยและการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ผ่านการพัฒนาโดยกลไกของการวิจัย “การเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต”ขึ้น ในระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2565

สำหรับพิธีการงานส่งมอบผลงานวิจัยฯ จัดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ,รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา , นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ,นายสมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต , ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) , รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชนณ์ รองผู้อำนวยการ  บพข. , ผศ.ดร.เกศรา สุกเพชร ผู้ประสานงานสำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. และดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมงานด้วย

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธีรับมอบ รวมทั้งกล่าวเปิดกิจกรรมพร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “คุณค่าของการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมูลค่าสูงของไทย” เรื่อง อาคาร อากาศ อารมณ์ อาภรณ์ และอาหารในเมืองเก่าภูเก็ต

ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า ในย่านเมืองเก่าภูเก็ตนั้น อาคารโชว์ลวดลาย ปูนปั้น ลายเส้นวาดสตรีทอาร์ท ทรวดทรงสถาปัตยกรรม และสิ่งของตั้งวางที่อวดความมีวัฒนธรรมสืบทอดของเจ้าของย่าน เจ้าของบ้าน และสามารถสัมผัสกับ การออกแบบที่สร้างสรรค์ให้อากาศไหลเวียนดี มีอาภรณ์ ชุดแต่งกายของคนดั้งเดิมมีลักษณะที่ได้มาจากความเป็นคหบดีโบราณ และอาหารภูเก็ตเมืองเก่านั้นได้รับยกย่องจากองค์การ UNESCO ว่าเป็นยอดด้าน Gastronomy และได้รับการประกาศสถานะนี้เป็นแห่งแรกในไทยอีกด้วย
นักวิจัยที่ทำงานร่วมกับชุมชนจึงออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนหลายอย่างให้ผู้มาเยือนได้ร่วมทำไปด้วยอุดหนุนไปด้วยได้ เช่นไปทำงานฝีมือ ประดิษฐ์ของที่ระลึกให้ตัวเอง พับกระดาษมงคลออกมาให้เป็นรูปสัตว์มงคลต่างๆ  ไปลองทำขนมบาบ๋าแบบต่างๆของภูเก็ต อย่างขนมหน้าแตก ขนมพริก  ขนมต่าวซ้อเปี๊ยใส่กล่องใส่ตะกร้าสวยๆ หิ้วกลับไปเป็นของฝาก ลองผัดเส้นหมี่ฮกเกี้ยน หรือทำน้ำพริก หรือทำอาหารสูตรภูเก็ตในครัวกลางบ้านที่เปิดให้ทำกิจกรรม   หรือจะลองออกแรงโหมไฟในเตาเผาเพื่อตีเหล็กในโรงตีมีดเก่าแก่ของอาแปะที่หาชมได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้พาให้ทั้งแขกผู้มาเยือน และเจ้าบ้านทุกวัยพากัน ‘’อารมณ์ดี’’ดร.วีระศักดิ์กล่าว

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่จังหวัดภูเก็ตได้รับมอบงานวิจัยดีๆ เช่นนี้จากบพข.และสกสว. ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและชุมชน และทำให้โปรแกรมทัวร์เมืองเก่าภูเก็ตไดรับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งมีคุณค่าต่างๆซ่อนอยู่ในเมืองเก่าภูเก็ตนี้ เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ภายในงานกิจกรรมการส่งมอบผลงานวิจัย “การเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งประกอบด้วย

1 การจัดแสดงนิทรรศการและผลงานจากการวิจัย อาทิ การสาธิตกิจกรรม DIY การทำขนมอังกู๊ (ขนมเต่าแดง)  กิจกรรมการพับตุ๊กตากระดาษบ่าบ๊า-ย่าย๊า กิจกรรมตอกแผ่นเหล็กและถักเชือกมงคล การจัดแสดง 5 เส้นทางท่องเที่ยวนำร่องเพื่อเพิ่มคุณค่าการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นต้น

2 การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก อาทิ การแสดงหุ่นกระบอกกาเหล้ การแสดงดนตรีกู่เจิง

3 การแสดงการเดินแบบในชุดผ้าพื้นเมืองในสไตล์ชาวบาบ๊า-ย่าหยา ของชาวเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้ธีม “สีสันแห่งกาลเวลา คุณค่าแห่งวิถีอาภรณ์” โดยผู้แสดงแบบกว่า 70 คน และได้รับเกียรติจาก “มานิตา ดวงคำ ฟาร์เมอร์” นางสาวไทยคนที่ 53 ประจำปี 2565 ร่วมแสดงแบบปิดท้ายในชุดบาบ๊า-ย่าหยา โบราณที่มีอายุกว่า 80 ปี

4 การร่วมรับประทานอาหารค่ำในสไตล์อาหารพื้นถิ่นของชาวเมืองภูเก็ต ภายใต้ธีม Dinner in the Museum

จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนชุมชน รวมถึง นักท่องเที่ยวที่สนใจ เข้าร่วมชมกิจกรรมเป็นจำนวนกว่า 100 คน ภายใต้การควบคุมและดูแลให้เป็นไปตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด















กำลังโหลดความคิดเห็น