xs
xsm
sm
md
lg

“มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี” จับมือ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ออกแบบ-พัฒนาหลักสูตร หวังเป็นต้นแบบสร้างสังคม “รู้เท่าทันสื่อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ธนกร ศรีสุขใส
จากแนวคิดการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสอดคล้องกับบริบทของชุมชนและสังคม โดยการร่วมมือกันระหว่าง “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” กับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา “มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี” ต่อยอดสู่การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร “สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัย” หวังเป็นต้นแบบสร้างสังคมรู้เท่าทันสื่อ ภายใต้โครงการ “พัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในท้องถิ่นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นหลักสูตร “ต้นแบบ” หรือหลักสูตร “นำร่อง” โดยมุ่งหวังนำหลักสูตรที่ทดลองกับนักศึกษาในสถาบัน พัฒนาเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมสู่ชุมชนและสังคมอื่นต่อไป โดยมีเป้าหมายให้เกิดระบบนิเวศสื่อที่ดีในอนาคต

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย รวมถึงการรู้เท่าทันสื่อในโครงการนำร่องครั้งนี้ว่า “เป็นความพยายามของทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่จะแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา สิ่งแรกที่เราจะทำคือ การพัฒนาหลักสูตรในเรื่องของสื่อสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยเราต้องการที่จะทำหลักสูตรในเชิงพื้นที่ด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี จังหวัดลพบุรี ในครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องการพัฒนาหลักสูตร, การออกแบบหลักสูตร และการจัดอบรมหลักสูตร ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งเมื่อได้หลักสูตรที่เหมาะสมมาแล้ว เราก็จะนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตรที่จะใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งในอนาคต กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ก็ต้องการให้มีหลักสูตร เช่น หลักสูตรการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับต่าง ๆ รวมถึงมีหลักสูตรในการรับมือกับข้อมูลข่าวสาร หรือหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในระดับต่าง ๆ เพราะฉะนั้น โครงการนี้ก็เป็นการริเริ่มที่จะทำเป็นโครงการต้นแบบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมต่อไป”

ผศ.พรรณนิภา เดชพล
ด้าน ผศ.พรรณนิภา เดชพล คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี ได้กล่าวถึงแนวทางในการจัดทำหลักสูตรการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อที่สร้างสรรค์และปลอดภัยทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับบริบทรอบมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ว่า “เรามองว่ามหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี จังหวัดลพบุรี จัดอันดับอยู่ในมหาวิทยาลัยกลุ่มสามของกระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เราต้องดูแลพื้นที่ ต้องบริการวิชาการ และในพื้นที่ของเรามีคนหลากหลาย ซึ่งตรงนี้เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความสำคัญที่เขาจะต้องรู้จักการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย เราจะทำงานนี้ร่วมกันกับการขยายกลุ่ม นี่คือสิ่งที่คาดหวังจากการเข้าร่วมโครงการนี้ค่ะ”

ผศ.ชลิดา แสนวิเศษ
ผศ.ชลิดา แสนวิเศษ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี ได้เล่าถึงการออกแบบสูตรและการจัดกิจกรรมอบรมนักศึกษา สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ว่า “ข้อเสนอเพิ่มเติมหลังจากการทำกิจกรรมดังกล่าว ส่วนตัวคิดว่าพบปัญหาอย่างหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือการเข้าถึงสื่อที่ถูกต้อง ด้วยการที่ข่าวปลอมเยอะมาก และการที่เราจะรู้ว่าสื่อไหนถูก สื่อไหนผิด บางครั้งมันถูกเผยแพร่ไปแล้ว เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ผิดพลาดไปแล้ว การจะกลับไปแก้ไขทำได้ยาก อันนี้คือปัญหาในโลกออนไลน์ปัจจุบัน การป้องกันเบื้องต้นก็คือ ตัวเราเองต้องอย่าเป็นคนสร้างสื่อที่ผิด ที่ไม่ถูกต้องออกไปตั้งแต่ต้น หรือสื่อที่สร้างผลกระทบต่อคนอื่น ต่อสังคม นี่คือสิ่งที่ควรเริ่มต้นปลูกฝังให้กับเยาวชน และเป็นสิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้”

อาจารย์กานต์ เชื้อวงค์
ด้าน อาจารย์กานต์ เชื้อวงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล มหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี ก็ได้เล่าถึงหลักคิดของการนำมาใช้ในการออกแบบหลักสูตรครั้งนี้ว่า “เกิดจากปรากฎการณ์การสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่เรามองว่าการเข้าถึงสื่อของประชาชนในสังคม มันเข้าถึงได้ค่อนข้างที่จะกว้างขวางและหลากหลาย และการเข้าถึงนั้นก็มีสิ่งที่เกินความควบคุม และมีทั้งสื่อที่ดีแล้วก็สื่อที่อันตราย ซึ่งมันแตกต่างจากในอดีตที่เรามีการควบคุมเนื้อหาในเรื่องของความเหมาะสมได้ แต่ในปัจจุบัน การสื่อสารที่ไร้พรมแดนทำให้การควบคุมเหล่านั้นถูกทำลายไป ฉะนั้น หลักคิดที่นำมาใช้ก็คือ เรามองว่าความอันตราย ความไม่ปลอดภัยของสื่อที่มีอยุ่ในปัจจุบันรวมทั้งการเข้าถึงโดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง 

องค์ประกอบที่ใช้ในการออกแบบหลักสูตรที่บูรณาการในครั้งนี้ อันดับแรกเรามองเรื่องปรากฎการณ์ของการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่มีความเป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเข้าถึงสื่อของเยาวชนที่ง่ายและทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางแล้วก็ไม่จำกัด ทั้งรูปแบบ พื้นที่ และเวลา รวมถึงเพศและวัย ในฐานะที่เป็นบุคลากรทางด้านนิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชนมองว่า การที่จะส่งเสริมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ น่าจะมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้ ให้เด็กและเยาวชนเกิดความตระหนักรู้ รวมถึงให้รู้เท่าทัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันควรจะเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีติดตัว”

“ในส่วนคณะวิทยาการจัดการ เราก็เปิดประเด็นด้วยเรื่องของแนวคิด เรื่องของการรู้เท่าทันสื่อเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้กับผู้เข้าอบรบได้ทำความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า การรู้เท่าทันสื่อคืออะไร รวมถึงเราจะฉายภาพให้เห็นถึงเรื่องพฤติกรรมทางด้านจิตวิทยาด้วยว่า พฤติกรรมการรับสื่อหรือการส่งสารมันมีเรื่องของจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากนั้น ในศาสตร์ของนิเทศศาสตร์เองยังพาผู้เข้าอบรมเข้าสู่เรื่องของเฟคนิวส์ เรื่องของ disinformation, wish infor-mation ที่อยู่รอบตัวเรา 

ก็จะเป็นการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร การที่จะเชื่อถือข้อมูลข่าวสารใด หรือการที่จะแชร์ข้อมูลข่าวสารใดมันน่าจะมีเรื่องของหลักการทักษะเหล่านี้อยู่ด้วย และการจัดกิจกรรมอบรมในครั้งนี้ เราก็ได้มีการวัดผลด้วยแบบทดสอบ ทั้งก่อนเรียนและหลังเรียน ซึ่งก็พบว่า หลังจากการอบรม ผู้เข้าอบรมมีความรู้ มีความตระหนักในเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงความรู้ในเรื่องของสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น สำหรับความคาดหวังต่อการพัฒนาหลักสูตรนี้ เนื่องจากว่ามันเป็นการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนของมหาวิทยาลัย ทางคณะเรามีความภาคภูมิใจมาก แล้วก็จะนำหลักสูตรนี้ไปพัฒนาต่อเนื่อง แล้วก็จะบริการวิชาการให้กับชุมชนและสังคมในท้องถิ่นของเราอย่างแน่นอน รวมถึงในอนาคต อาจจะมีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมเพิ่มเติม ที่จะทำให้หลักสูตรนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”

อาจารย์ ดร.สรรชัย ชูชีพ
ด้าน อาจารย์ ดร.สรรชัย ชูชีพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้เล่าถึงการเป็นหนึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบัณฑิต ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและอนาคตของประเทศชาติ “การสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้นนับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะหลักสูตรองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อบริบทของพื้นที่ การที่เราจัดโครงการอบรมการรู้เท่าทันสื่อในครั้งนี้ให้กับนักศึกษา พวกเขาก็ได้องค์ความรู้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากบทเรียนในห้องเรียนปกติ และเขาสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้นก็คือ การสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นทางมหาวิทยาลัยเองกับกองทุนสื่อฯ 

นอกจากนั้น ภายในมหาวิทยาลัยของเราก็ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 คณะ คือ คณะวิทยาการจัดการ คณะครุศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยปกติเราจะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ในครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ที่ว่าเราได้มีการร่วมมือกันที่เป็นทางการมากขึ้น แล้วก็ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของพวกเราให้ออกสู่สาธารณชนมากขึ้น ในส่วนนักศึกษาของเราตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 5 เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าในแต่ละวันเขาจะเจอกับอะไรบ้างในโชเชียลเนตเวิร์ค ในสังคมออนไลน์ บางครั้งเขาอาจจะไม่สามารถที่จะคัดกรองหรือคัดเลือกข้อมูลข่าวสารที่มันถูกต้องได้ สิ่งที่เราได้อบรมให้กับเขาไปนี้ 

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะให้เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานของเขาได้ ดังนั้นทุก ๆ เรื่องมันคือการเตรียมความพร้อมให้พวกเขาก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมไทย ในเรื่องของข้อเสนอแนะ เราก็มีความคาดหวังอยากให้มีการขยายผลให้มากขึ้น เพราะเราเองยังได้มีการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย นั่นคือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี ซึ่งถ้าเราสามารถที่จะลงไปพัฒนาเด็กเยาวชนในส่วนนี้ได้ ผมมองว่าเราน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากเด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้น ถ้าเราสามารถเตรียมความร้อมให้พวกเขาได้ตั้งแต่เด็ก ๆ น่าจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขาในเรื่องของการเท่าทันสื่อได้ดียิ่งขึ้น”

ดร.รัชดาภรณ์ อมรชีวิน
รองศาสตราจารย์ ดร.รัชดาภรณ์ อมรชีวิน คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กล่าวปิดท้ายว่า “นักศึกษาในภาคคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ จากที่เราพบคือ สื่อมันเข้าถึงง่ายมากโดยไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย ไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม แล้วภัยที่เข้ามาก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป และเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ การที่เราได้รู้เท่าทันสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะทำให้เราลดเรื่องของความเสี่ยงลงไป และการได้ทำงานร่วมกันกับทาง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในครั้งนี้ เราก็คาดหวังอยากจะให้มีการทำงานร่วมกันและต่อยอดขยายต่อไปอีกเรื่อย ๆ”


โดยหลักสูตรสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการรู้เท่าทันสื่อของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี” ในครั้งนี้ นอกจากจะเกิดหลักสูตรที่ได้มีการทดลองใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวน 100 คนแล้ว ยังเกิดห้องเรียนปฏิบัติการรู้เท่าทันสื่อ และเกิดความร่วมมือกันของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาก็คาดหวังว่า หลักสูตรเหล่านี้จะสามารถสร้างระบบนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับสถาบัน ชุมชน และสังคมต่อไป รวมถึงเป็นหลักสูตรที่สามารถขยายผลไปสู่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสารโครงการฯ และการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ทางเฟสบุ๊กแฟนเพจ : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์







กำลังโหลดความคิดเห็น