จังหวัดนครพนม และ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายจังหวัดนครพนม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการร่วม Action Plan ขับเคลื่อน “นครพนมโมเดล” เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมวิวแม่น้ำโขง ชั้น 2 โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาแผนปฏิบัติการแต่ละส่วนงาน ให้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม รวมถึงเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดนครพนมได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยในครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายได้ร่วมจัดกระบวนการทำงานกับเด็กทั้งหมด 3 กลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในระดับ “ต้นน้ำ” หรือ “กลุ่มเด็กเสี่ยงออกกลางคัน” ภายใต้กลไกการทำงานของหน่วยงานด้านการศึกษาในจังหวัดนครพนม โดยมี ศึกษาธิการจังหวัด, เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 และเขต 2, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, อาชีวศึกษา, สำนักงานพระพุทธศาสนา, ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม, กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23, มหาวิทยาลัยนครพนม และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม โดยจะทำการนำร่องโรงเรียนสัมมาชีพจำนวน 12 โรงเรียน 12 อำเภอ
ระดับ “กลางน้ำ” หรือ “กลุ่มเด็กแขวนลอย, เด็กออกกลางคัน” ภายใต้กลไกการทำงานของชุมชนในจังหวัดนครพนม โดยมี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, เทศบาลเมือง และ บ้านพักเด็กและครอบครัว ผ่านกระบวนการสำรวจ และติดตาม เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับมาเรียนในโรงเรียนมือถือ Mobile School ได้อีกครั้ง และระดับ “ปลายน้ำ” หรือ “กลุ่มเด็กในกระบวนยุติธรรม” ภายใต้กลไกการทำงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครพนม และ เรือนจำกลางนครพนม โดยผ่านการจัดการเรียนรู้ร่วม, การวัดและประเมินผลร่วม
โดยแผนงานดังกล่าว จะเกิดการบูรณาการร่วมตั้งแต่ระดับฐานข้อมูลเชิงลึกของเด็กและเยาวชนนอกระบบในจังหวัดนครพนม ทั้งในระดับเชิงพื้นที่, เชิงประเด็น, เชิงการพัฒนา และเชิงองค์ความรู้ จาก 21 หน่วยงานภาคีเครือข่ายนครพนมโมเดล ก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชนนอกระบบในลักษณะต่าง ๆ, โรงเรียนต้นแบบ 12 แห่ง, ตำบลต้นแบบ 12 แห่ง, หลักสูตร, โรงเรียนมือถือ, งานวิจัย และเด็กเปราะบาง ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ปี 5 ความร่วมมือ โดยแผนดำเนินงานในปี พ.ศ 2564 ที่ผ่านมา ได้จัดทำฐานข้อมูลเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม และในปี พ.ศ. 2565 เป้าหมายเด็กนอกระบบในจังหวัดนครพนมจะมีจำนวนลดลง 50 เปอร์เซนต์ โดยผ่านกระบวนการจัดทำฐานข้อมูลเด็กนอกระบบ, หลักสูตรเด็กนอกระบบ, จัดการเรียนรู้ร่วมกัน, วัดและประเมินผลร่วมกัน และการขยายเครือข่าย และภายในปี พ.ศ. 2566 จะไม่มีเด็กนอกระบบในจังหวัดนครพนมอีกต่อไป
โดย นายธันญ์สุธี ภัคธารีรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวหลังการประชุมว่า “โครงการการจัดการศึกษาให้กับเด็กนอกระบบตามโครงการนครพนมโมเดล เรามีภารกิจร่วมกันอยู่่ 5 ด้าน ด้านแรกคือ การค้นหาและสำรวจเด็ก 6 กลุ่ม ถ้าเราได้เด็กทั้ง 6 กลุ่มมาแล้วก็จะสามารถจัดการเรียนรู้ให้กับพวกเขาได้ เราจะมีรูปแบบ มีกลไก มีการเรียนรู้ให้กับความต้องการและความสนใจของเขา ตามศักยภาพของเขา เราไม่ได้จัดตามที่เราต้องการ แต่จะจัดตามความต้องการของเด็ก”
นายสุรินทร์ สว่างอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า “เป็นแนวคิดที่ดีที่เราได้รวบรวมหน่วยงานที่มีการจัดการศึกษาภาคบังคับหลาย ๆ หน่วย ซึ่งที่จริงไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาอย่างเดียวที่ทำการศึกษาภาคบังคับทั้งหมดของประเทศ แต่มีทั้ง ตชด., พม. และหน่วยงานต่าง ๆ ผมเห็นว่าการบูรณาการทั้ง 21 หน่วยงานเป็นสิ่งที่ดี แล้วเรามีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นเหมือนผู้นำของจังหวัดมาเป็นเฮดของเรื่องนี้ หลาย ๆ เรื่องมันต้องใช้การบูรณาการ ปัจจุบันเป็นนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ที่จะเก็บเด็กตกหล่น และส่วนของสพฐ. เองก็ทำอยู่แล้ว และตอนนี้เราก็เริ่มร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนครพนมโมเดลแล้วในเรื่องของการเก็บเด็กตกหล่นที่เรามีในระบบ DMC (Data Management Center) เพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบ”
นายเอกลักษณ์ ทิมทอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาระบบข้อมูลทางการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงฐานข้อมูลที่จะร่วมส่งเสริมในการทำงานครั้งนี้ว่า “ในส่วนการดำเนินการเรื่องการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ส่วนของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานของเรามีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะของนครพนมโมเดล เพราะถือว่าในระบบฐานข้อมูลของเรา มีการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนในเชิงลึก ทั้งเรื่องของความด้อยโอกาส ความพิการ หรือความยากจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่ดีที่ใช้ช่วยให้ความเติมเต็มกับภาคีเครือข่าย หรือนครพนมโมเดลใช้ในการวิเคราะห์ ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาให้เด็กเราที่มีปัญหาในระบบ ได้มีโอกาสในการได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ซึ่งทางเราก็พร้อมและยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานมี ให้แก่นครพนมโมเดล”
นายยศกร สิทธิศักดิ์ไพบูลย์ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครพนม กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในการขับเคลื่อนครั้งนี้ว่า “สำหรับกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กทั้ง 3 กลุ่ม จะเริ่มต้นด้วยการวางแผนนำภาคีเครือข่าย และ Stakeholder หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาหลักสูตร หรือการใช้หลักสูตรมาประชุมร่วมกันว่าเราจะพัฒนาหลักสูตรไปในทิศทางใด โดยกำหนดเป้าหมายว่าหลักสูตรนั้นจะต้องใช้กับนักเรียนกลุ่มไหน และมีเป้าหมายในการนำหลักสูตรไปใช้อย่างไร แล้วผล output outcome ของหลักสูตรเป็นอย่างไร สองก็คือ พยายามสำรวจข้อมูลพื้นฐานในพื้นที่ว่าหลักสูตรที่เขาต้องการจริง ๆ เป็นอย่างไร หลังจากที่ได้ข้อมูลในส่วนต้นแล้วก็จะทำเป็น big data เพื่อที่จะมาเชื่อมโยงในส่วนที่ 2 ก็คือการยกร่างหลักสูตร ที่จะทำให้รู้ว่าหลักสูตรนั้นควรจะทำอย่างไร มีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งนำไปสู่การนำหลักสูตรไปใช้ จากนั้นก็มาหาประสิทธิภาพประสิทธิผลของหลักสูตร สุดท้าย หลักสูตรสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้จะต้องมีความยืดหยุ่นให้มากที่สุด”
รศ.ดร.เชิดศักดิ์ บุตรจอมชัย ผู้ช่วยคณบดีฝายบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ได้กล่าวถึงการพัฒนาโรงเรียนมือถือ Mobile School ในเวอร์ชั่น 2 ว่า “โมบายสคูลในเวอร์ชั่น 2 เรามีความคาดหวังที่จะให้ไปถึงปลายน้ำ ก็คือเด็กจะต้องมีชีวิตที่ดี สามารถที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้และมีงานทำ เพราะฉะนั้น เขาจะต้องไปถึงในระดับที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป้าประสงค์ของโรงเรียนมือถือ โมบายสคูลมันมี “ชิม ชอบ โชกโชน และเชี่ยวชาญ” เวอร์ชั่นที่ 1 มันจัดการบนระบบ line official ซึ่งจะได้แค่ระดับชิม ถ้าอยาก “ชอบ โชกโชน และเชี่ยวชาญ” จำเป็นต้องขยายแพลตฟอร์ม เพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ให้มากขึ้น ผ่านสื่อที่จะสามารถใส่เข้าไปในโมบายสคูลได้เยอะขึ้น ก็จะเปลี่ยนจากการทำบน line official มาทำบนแฟลตฟอร์มมาตรฐานก็คือ Learning Management System เพื่อที่จะมีโค้ช 1 คนที่ดูแลเด็ก ๆ ได้หลายร้อยคนในห้องเรียนเดียว”
ผศ.ดร.ชูธง สัมมัตตะ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยในการขับเคลื่อนนครพนมโมเดลในครั้งนี้ว่า “ก่อนหน้านี้หน่วยงานในจังหวัดนครพนมมีข้อมูล มีการพัฒนาเด็กนอกระบบ แล้วก็มีการจัดการเรียนการสอนในสถานพินิจฯ แต่ยังไม่มีการถอดบทเรียนหรือรวบรวมรูปแบบโมเดลสำหรับการพัฒนาเป็นนครพนมโมเดล ซึ่งในครั้งนี้งานวิจัยก็จะทำการถอดบทเรียนว่า สิ่งที่ผ่านมานั้นมีความเหมาะสม มีจุดดีจุดด้อย มีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วก็มาทำเป็นรูปแบบของโมเดล หรือรูปแบบของการเรียนรู้ในลักษณะ Social Lab ที่มีพื้นที่ให้สำหรับเด็กนอกระบบในกลุ่มนี้มาได้ทดลองว่าสิ่งใดเหมาะสมกับพวกเขา เป้าหมายของนครพนมโมเดลในครั้งนี้ ต้องการให้เด็กและเยาวชนทุกคนเข้าถึงการศึกษา แต่การเข้าถึงการศึกษาเป้าหมายจริง ๆ เราต้องการให้ทุกคนมีสัมมาอาชีพที่ดี เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้”
นางสาวแสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม กล่าวถึงกลไกในการทำงานขับเคลื่อนเด็กนอกระบบภายใต้นครพนมโมเดลในส่วนของกลุ่มเด็กเปราะบางว่า “ในส่วนพม.เราได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องในตำบลต้นแบบ 12 ตำบล โดยเริ่มต้นจากการคัดเลือกพื้นที่ตำบลเข้มแข็ง แล้วมีการดำเนินการด้านข้อมูล โดยลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลกลุ่มเด็กเปราะบางแบบสแกนพื้นที่ โดยทีมพม.จังหวัดได้ร่วมกับทีมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ อพม. ที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 12 ตำบล และทีมพม.จังหวัดไม่ได้สำรวจข้อมูลเฉพาะใน 12 ตำบลต้นแบบเท่านั้น เป้าหมายคือต้องสำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบางในทุกตำบลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะมีข้อมูลกลุ่มเด็กเปราะบาง กลุ่มเด็กนอกระบบ มากกว่า 12 พื้นที่นำร่อง เมื่อได้ข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบในชุมชนมาแล้ว เราก็จะส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนครพนมโมเดล รวมถึงวิเคราะห์ถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น”
ด้าน นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวปิดท้ายงานประชุมครั้งนี้ว่า “ในส่วนของจังหวัดเองก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นในส่วนของภาครัฐภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการนครพนมโมเดลให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้กำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกส่วน ทุกหน่วย ทุกฝ่าย ให้มีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เด็กนครพนมของเราได้มีการศึกษา ที่ขาดโอกาสก็ได้มีการศึกษาเทียบเท่ากับเด็กทั่วไป และอยากให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน ขอให้ปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ”
โดยการผนึกกำลังกันของภาคีเครือข่ายนครพนมโมเดลในการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการร่วม Action Plan ขับเคลื่อน “นครพนมโมเดล” ครั้งนี้ มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดนครพนม ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านวิชาการ ภายใต้แผนงานพัฒนาหลักสูตรรายวิชาฐานสมรรถนะ เพื่อจัดหลักสูตรได้ตามความต้องการและเหมาะสมของผู้เรียน, ด้านวิชาชีวิต ภายใต้แผนงานการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อให้เด็กและเยาวชนดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข และด้านวิชาชีพ ภายใต้การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพที่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่
โดยมีหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทของเด็กและเยาวชนนอกระบบอย่างแท้จริง ภายใต้ 1 วิสัยทัศน์ร่วม, 3 ยุทธศาสตร์, 6 แผนปฏิบัติการ, 6 กลุ่มเป้าหมาย และ 21 ภาคีปฏิบัติการ ภายใต้สโลแกน “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนา” (ร่วมชมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการร่วม Action Plan ขับเคลื่อน “นครพนมโมเดล” ในลิงก์วิดีโอนี้ https://youtu.be/pNqq01FriSA)