เป็นกระแสตั้งแต่ต้นปีทีเดียวสำหรับ ผู้ประกาศข่าวของสำนักข่าวไทย ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 “จิ๊บ วรรณศิริ ศิริวรรณ” กับการมานั่งแท่นพิธีกรในรายการฮาร์ดทอล์ค “คุยตามข่าว” ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 12.30 น.
“มีคนดูข่าวกลุ่มหนึ่ง กลุ่มเล็กๆที่ติดตามดูเรามาตั้งแต่วันแรกที่เรายังทำอะไรไม่เป็นเลย จนถึงวันนี้เกือบ 20 ปี เขาส่งข้อความมาหาเราตลอด ติดตามเรามาตลอด สนับสนุนเราตลอด ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน มันเหมือนเขาเห็นการเติบโตของเราตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้ เป็นแฟนรายการที่เหมือนคนในครอบครัวไปแล้ว” คุณจิ๊บเผยถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจไม่เคยลืมในการทำงานที่ผ่านมาในรายการ คุยตามข่าว เราจะนำข่าวที่เป็นกระแส ที่น่าสนใจ ที่ยังมีคำถามในสังคม รวบรวมข้อมูลทุกอย่าง ค้นหาคำตอบทุกด้าน เพื่อหาคำตอบที่อาจจะมีอยู่หลายทางในประเด็นของสังคมนั้นมานำเสนอ ด้วยความที่เราเป็นคนข่าว อยู่กับข่าวมาตลอด และเป็นสิ่งที่เราถนัด ซึ่งแต่ก่อนเราจัดรายการเล่าข่าวเป็นหลัก
ที่ผ่านมาอย่างน้อยก็ในช่วงหลายปีมานี้ช่อง 9 ยังไม่มีรายการฮาร์ดทอล์คแบบที่เป็นการตั้งคำถามกับข่าวและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแทนคนดูแบบตรง ๆ พอมาปีนี้ทางผู้บริหารช่อง 9 อยากให้มีรายการแนวนี้ และก็เลือกเรามาทำ จริง ๆ รูปแบบและประเด็นก็ยังคงอยู่ในมุมของความเป็นข่าวอยู่ แต่จะลึกขึ้น เจาะประเด็นให้เห็นมิติต่าง ๆ มากขึ้น ในข่าวทั่ว ๆ ไป เรารู้แล้วว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่มันยังไม่ลึกพอ เพราะในข่าวหนึ่งข่าว พอแตกประเด็นออกมา มันจะมีสิ่งที่เป็นสีสันข่าว มีสิ่งที่ประชาชนควรรู้ และสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ ในบางข่าวมันจะมีคำถามที่เราสงสัย ต้องหาคำตอบให้ได้ คุยตามข่าว คือ คำตอบ เราเชื่อว่าคนดูจะได้อะไรจากรายการนี้เยอะ”
อยากให้คุณจิ๊บเล่าถึงการก้าวสู่เส้นทางผู้ประกาศข่าว
“ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 คุณแม่อยากให้ไปสอบบัตรผู้ประกาศ ตอนนั้นการสอบบัตรผู้ประกาศยังอยู่ในการดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ คนที่จะทำงานด้านกระจายเสียงต้องมีบัตรผู้ประกาศเท่านั้น ยุคนั้นคือรู้สึกยากมาก ไม่ได้มีการอบรม เหมือนตอนนี้ ฝึกอ่านเอง อ่านให้แม่ฟัง พอสอบผ่าน ก็เหมือนมีบัตรผู้ประกาศเอาไว้ให้อุ่นใจ ยังไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นผู้ประกาศข่าวหรือทำงานในวงการนี้ หลังเรียนจบคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ก็ไปทำงานละครตำแหน่งธุรกิจกองถ่าย ทำมาได้ 4 ปี ก็ได้งานเป็นครีเอทีฟ โปรดิวเซอร์อยู่ช่อง 11 เห็นช่องเนชั่นทีวีเปิดโครงการ “สานฝันผู้ประกาศสไตล์เนชั่นรุ่น 1” เลยไปสมัคร คนสมัครหลายร้อยคน ต้องผ่านการสอบทั้งข้อเขียน ทั้งสัมภาษณ์ คัดเหลือ 30 คนจนได้มาอบรม ไม่นานเนชั่นทีวีก็ติดต่อมาให้มาสัมภาษณ์ในตำแหน่งนักข่าว สังกัดโต๊ะศิลปะ-วัฒนธรรม บันเทิง ระหว่างนั้นก็ทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวไปด้วย ตอนเช้า-กลางวันอ่านข่าวในสตูดิโอ บ่ายไปออกหมายข่าวของโต๊ะ ตกเย็นกลับมาเขียนข่าวออกอากาศ เป็นกิจวัตรแบบนี้หลายปี จนปี 2558 ก็มีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่อสมท เป็นนักจัดรายการวิทยุ คลื่นความคิด FM 96.5 และต่อมาก็ได้รับการทาบทามให้มาเป็นผู้ประกาศข่าว สำนักข่าวไทย”
คิดว่าความแตกต่างระหว่าง ผู้ประกาศข่าวราชสำนัก ผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการ ในความรู้สึกของเรา
“น่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน ทักษะพื้นฐานที่ใช้ในอาชีพอาจจะเหมือนกัน แต่ทักษะพิเศษหรือความสามารถเฉพาะด้านต่างกัน ผู้ประกาศข่าวราชสำนัก จะต้องดูบุคลิกภาพ ภูมิฐาน ดูสุขุม เชี่ยวชาญในการอ่านและการใช้ภาษาแบบทางการ / ส่วนผู้ประกาศข่าว ก็แล้วแต่ยุคสมัย ยุคก่อนที่เน้นแต่การอ่าน ก็อาจจะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องการอ่าน ถูกต้อง ชัดถ้อยชัดคำ น้ำเสียงน่าฟัง มีจังหวะการเว้นวรรคตอนที่ถูกต้อง แต่พอมายุคหลังที่เน้นความเป็นทางการน้อยลง เน้นความเป็นธรรมชาติ เป็นลักษณะผู้ประกาศข่าวกึ่งพิธีกรข่าว ก็อาจจะต้องมีทักษะการเล่าเรื่อง การจับประเด็นข่าว การวิเคราะห์ เน้นถ้อยคำ เพื่อให้คนฟังจับความสำคัญของสิ่งที่นำเสนอได้ ต้องเป็นคนที่สนใจเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีความเป็นทีมเวิร์ค ส่วนพิธีกรรายการ นอกจากพูดเก่ง มีทักษะการพูดที่ดีเป็นธรรมชาติแล้ว ยังต้องมีบุคลิกที่เหมาะสมกับประเภทหรือรูปแบบรายการ แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าได้”
ครอบครัวมีส่วนผลักดันในการทำงานแบบไหนบ้าง
“ทุกอย่าง ถ้าไม่มีพ่อกับแม่คงไม่มีเราในวันนี้ แม่เป็นอดีตผู้ประกาศข่าว ตั้งแต่เด็ก ก็จะโดนเข้มงวดเรื่องการพูด การอ่านออกเสียงมาตลอด และแม่ก็ทำให้เห็นด้วย จนมันซึมซับไปเอง พอเติบโตใกล้เรียนจบ ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะทำงานอะไร แม่ก็ขอร้องแกมบังคับให้ไปสอบบัตรผู้ประกาศ ส่วนพ่อ คงจะเป็นการปลูกฝังความชอบเรื่องข่าวสารบ้านเมือง พ่อชอบเปิดทีวีดูข่าว สั่งหนังสือพิมพ์มาส่งที่บ้าน ที่สำคัญคือสนับสนุนลูกทุกโอกาส จำได้ว่าตอนที่เนชั่นทีวีเปิดรับสมัครอบรมโครงการผู้ประกาศข่าว ต้องเสียเงินค่าอบรมซึ่งเมื่อย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีก่อน ก็ถือว่าแพงสำหรับคนเริ่มทำงาน แต่เราแค่บอกพ่อว่าอยากลอง จะได้เป็นผู้ประกาศหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่อย่างน้อยจะได้รู้ว่าเราชอบอาชีพนี้จริงมั้ย พ่อก็ให้ยืมเงินมาจ่ายค่าอบรมก่อน”
โดยส่วนตัวแบ่งเวลาการทำงาน กับการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง
“ค่อนข้างยากอยู่เหมือนกัน เวลางานเราไม่เหมือนคนอื่น เพื่อนนัดเจอกันตอนเลิกงาน แต่เราเพิ่งจะเข้างาน พอเราเลิกงาน อยากนัดกินข้าวกับเพื่อน แต่เพื่อนต้องกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้านแล้ว คือบางทีเหมือนว่างแต่จริงๆเราไม่ได้ว่างแบบปล่อยทุกอย่างได้ ก็ต้องตื่นตัว ตามข่าวตลอด อย่างใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง ตื่นมาตอนเช้าก่อนออกไปทำงานก็เปิดดูข่าว ดูว่าในโลกโซเชียลวันนี้อะไรที่คนสนใจ เวลาขับรถ ก็ฟังแต่ข่าว พอทำงานเสร็จ ถ้ามีเวลามากพอก็จะเป็นช่วงพักระยะสั้น ก็อาจออกกำลังกาย ดูหนัง อ่านหนังสือ เดินเล่น หาของกิน แล้วแต่ว่าจะมีเวลาก่อนจะถึงคิวงานต่อไปมากแค่ไหน แต่ในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องตามข่าวเป็นระยะ ส่วนเสาร์ - อาทิตย์ ก็เหมือนคนทั่วไป ถ้าได้หยุดก็ไปเที่ยว ไปค้างคืนใกล้ๆ อยู่กับเพื่อน อยู่กับครอบครัว หรือบางครั้งก็นอนยาว ตามปกติใน 1 ปี จะขอพักยาวประมาณ 10 วัน เหมือนลาพักร้อนไปชาร์จแบต หาประสบการณ์จากการเปิดหูเปิดตา พอทำงานด้านข่าว บางทีก็จะได้ข้อมูลจากสิ่งที่เราไปสัมผัสมาประกอบเป็นข้อมูลในการทำงานก็มี”