xs
xsm
sm
md
lg

ชวนมองหาความงดงามของชีวิตที่ผ่านมา ผ่านนิทรรศการงานแสดงศิลปะนามธรรม “WHAT WAS”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพราะทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ล้วนมีมุมมองที่สวยงามเสมอเมื่อเรามองย้อนกลับไป “WHAT WAS” นิทรรศการศิลปะนามธรรม โดยการรวมตัวกันเป็นครั้งแรกของ 3 ศิลปินมากความสามารถ ได้แก่ “ชนิดา อรุณรังษี, วุฒิชัย บุญธรรม, และชลิต นาคพะวัน” ซึ่งจะมาร่วมถ่ายทอด WHAT WAS ในรูปแบบของตัวเอง สะท้อนมุมมองชีวิตต่อสิ่งที่ผ่านมาในอดีตอย่างงดงาม ผ่านชิ้นงานศิลปะนามธรรมเชิงสัญลักษณ์ (Abstract) ด้วยสไตล์ที่แตกต่างกัน โดยจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ จนถึง 13 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 – 19.00.น. ณ ห้องแกเลอรี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

งานนิทรรศการ “WHAT WAS” ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแนวความคิดที่มีจุดร่วมคล้าย ๆ กันของศิลปินทั้ง 3 ท่าน ที่มีความผูกพันเป็นเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องกันมานานกว่า 10 ปี ซึ่งต่างมีการแลกเปลี่ยนความคิดและเรื่องราวการใช้ชีวิตกันมาตลอด และทุกครั้งที่แต่ละคนเล่าถึงเรื่องราวที่ผ่านมาแม้จะเป็นเรื่องเดิมแต่มุมมองในเรื่องนั้น ๆ กลับเปลี่ยนไปตามการเติบโต นี่จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิลปินทั้ง 3 ท่านอยากถ่ายทอดภาพที่สะท้อนถึงเรื่องราว ความรู้สึก ที่มีต่อเรื่องราวในอดีตออกมาเป็นภาพที่สวยงาม

“ชนิดา อรุณรังษี” ให้ความหมายของ WHAT WAS ในมุมมองของตัวเองว่า “WHAT WAS เป็นเหมือนการย้อนกลับไปมองสิ่งที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีแตกต่างกันไป เรื่องบางเรื่องเมื่อก่อนเราอาจมองว่ามันแย่มาก แต่พอตอนนี้เรามองย้อนกลับไปในเรื่องเดิม ด้วยความคิด ณ ปัจจุบัน มุมมองกับความรู้สึกของเราต่างหากที่แตกต่างออกไป ซึ่งเมื่อทบทวนให้ดี เราอาจจะเห็นแง่มุมที่เราไม่คิดว่าตัวเราจะรู้สึกในวันนั้น นั่นก็เพราะว่าทุกอย่างอยู่ที่ประสบการณ์ในชีวิตและการเติบโตขึ้นของเรา รวมถึงการเลือกมองชีวิตให้สวยงามอย่างไร เลือกที่จะจำแบบไหน ดังนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เพื่อให้เราจดจำ ปล่อยวาง และเรียนรู้กับร่องรอยที่เกิดขึ้นในชีวิต ให้รู้จักตัวเองมากขึ้น และนำมาใช้พัฒนาชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงก้าวต่อไปอย่างมีความสุข”

“วุฒิชัย บุญธรรม” กล่าวถึงแนวคิด WHAT WAS ว่า “WHAT WAS ของผมคือความประทับใจในวัยเด็ก ที่มีความอิสระในการเล่น คิด และฝัน ทั้งหมดเป็นภาพความทรงจำ ซึ่งส่งผลกับชีวิตและตัวงาน แต่เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ที่ซับซ้อน หรือที่ว่ายาก ต่อให้เราคิดมากขนาดไหน สุดท้ายแล้วเราก็เลือก และกล้าที่จะตัดสินใจอย่างอิสระและเชื่อมั่นแบบตอนที่เราเป็นเด็ก โดยคอนเซ็ปต์หลักในการทำงานครั้งนี้จะเป็นการนำความบาลานซ์ ระหว่าง Angel และ Devil ที่สะท้อนให้เห็นทั้งมุมที่สดใส อ่อนหวาน และด้านมืดซึ่งล้วนมี 2 โลกนี้อยู่ในตัวทุกคน”

“ชลิต นาคพะวัน” กล่าวถึง “ความหมาย WHAT WAS ว่าคือประสบการณ์การเดินทางของชีวิต ที่ผ่านมา ไม่ว่าเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ประสบความสําเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดคือ พัฒนาการที่หล่อหลอมให้เกิดการเรียนรู้ในการสร้างศักยภาพอันทรงพลังไปสู่ความเข้าใจ เพื่อนำความก้าวหน้าอันงดงามไปสู่การศึกษาและฝึกฝน ในทุก ๆ ด้านต่อไปแบบไม่มีวันจบสิ้น

โดยผลงานในนิทรรศการนี้ประกอบด้วยภาพวาดกว่า 40 ชิ้น ซึ่งในแต่ละวันภาพนิทรรศการจะมีการสลับสับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายไม่ซ้ำกัน เพื่อถ่ายทอดมุมมอง ความรู้สึกในชีวิตที่หลากหลายผ่านงานศิลปะให้ได้ชมกันอย่างมากมายแน่นอน”
สำหรับผลงานชิ้นไฮไลท์ของงานนี้ คือ “Point of View” ซึ่งเป็นชิ้นงานที่ศิลปินทั้ง 3 ท่านร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นด้วยกันเป็นครั้งแรก โดยนำแนวคิด What was ของแต่ละคนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน นำเสนอผ่านแผ่นอะคริลิก 4 แผ่นใหญ่ แขวนเรียงรายซ้อนกันเป็นเลเยอร์ โดยแต่ละแผ่นผ่านการแต่งแต้ม ทาสี ฉีด พ่น ลบ หรือ กลบสี ซึ่งเปรียบเหมือนชีวิตที่ผ่านเรื่องราวมามากมายมีหลายเลเยอร์ ที่เมื่อมองที่ผลงานชิ้นนี้จะสามารถเห็นความงดงามได้หลากหลาย และยังเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างไม่สิ้นสุดตามมุมมองของแต่ละคนที่เข้ามาชม

นอกจากจะเป็นความตั้งใจของศิลปินที่อยากให้ผู้ชมงานได้ปะทะกับความรู้สึกของตัวเองจากการได้สัมผัสกับงานศิลปะชิ้นนี้ในหลากหลายมิติของอารมณ์ มุมมอง และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปแล้วนั้น คนที่มาชมผลงานยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกับศิลปิน โดยสามารถเดินเข้าไปชมรอบ ๆ ผลงานได้ และหากไปยืนซ้อนในอะคริลิค ตัวเราก็จะเข้าไปกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะนั้นด้วย ราวกับว่าเราได้ถูกแต่งแต้มด้วยสีสัน ผลงานศิลปะชิ้นนี้จึงเรียกว่าเป็นทั้ง Installation Art , Abstract และยังเป็น Interactive art ได้อีกด้วย

มาร่วมมองหาความงดงามของชีวิตที่ผ่านมาในมุมมองของแต่ละคนผ่านผลงานศิลปะที่สวยงาม ได้ตั้งแต่วันนี้ -13 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 – 19.00.น. ณ ห้องแกเลอรี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC















กำลังโหลดความคิดเห็น