“แต้ว ณฐพร” จัดระเบียนชีวิตใหม่ให้บาลานซ์ หลังเผชิญวิกฤต “อาการแพนิค” เหตุเกิดจากความกดดันจนทำให้แผนชีวิตพัง เปิดตัวเป็นนักร้องช่อง 3 คนแรก ย้ำชัด! แม้ไม่ใช่ความฝัน แต่ก็จะทำให้เท่ามาตรฐานที่ทุกคนหวังไว้
เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ในการเปิด CH3thailand Music ค่ายเพลงอย่างเป็นทางการพร้อมเปิดตัวนักร้องเบอร์แรกที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดาอย่าง “แต้ว ณัฐพร เตมีรักษ์” ในซิงเกิ้ลแรก BabyBoo เพลงป๊อปใสๆ เอาไว้ใช้อ้อนแฟน แต่สิ่งที่ถูกจับตามองเพราะอะไรที่ลงท้ายว่า “เบอร์แรก” มักจะมาพร้อมกับความกดดันและความคาดหวัง รวมไปถึงอาการ “แพนิค” ของนางเอกชื่อดังว่าตอนนี้บำบัดไปถึงไหนแล้ว
“เขินจังเลยค่ะ ไม่อยากเรียกตัวเองว่านักร้อง เพราะรู้สึกว่าเราร้องเพี้ยนนิดหนึ่ง แต่เราก็ไม่หยุดที่จะพยายามนะคะ ด้วยการคิดว่างานนี้เป็นการแสดงของเราอีกแบบหนึ่ง ที่เราต้องเรียนรู้ไปกับมันด้วย และเนื่องจากต่างคนต่างมีความกระตือรือร้นที่อยากทำ อยากเห็นนักแสดงมาเป็นนักร้อง ว่ามันจะเป็นยังไง จึงลองมาร่วมทำการบ้านกัน และรู้สึกว่าสนุกก็เลยตัดสินใจไม่ยากค่ะ เพราะส่วนนึงมันก็มาจากแต้ว แต้วคิดว่ามันมาจากตัวแต้วเองนะ เหมือนกับว่าแต้วคุยกับทางช่องว่าอยากจะลองทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากงานแสดง ซึ่งทางช่องก็มีนโยบายที่จะทำคอนเทนต์ให้หลากหลายขึ้นด้วย พอมาเจอกันความต้องการคล้ายกันก็เลยมาทำการบ้านร่วมกันว่ามันจะออกมาเป็นรูปแบบไหนสุดท้ายก็เป็นเพลงที่เน้นการแสดง
หนักใจในการทั้งเต้นและร้องนะคะ สำหรับการเต้นความยากมันคือความพอดี อะไรที่มันไม่เยอะไม่น้อยไป คนน่าจะชอบ มันคือความพอดีที่ยากสำหรับเรา ส่วนเรื่องร้องเพลง ต้องยอมรับว่ายังไม่คงที่ ทำให้เราต้องค่อยเรียนรู้ไปเพราะร้องในห้องน้ำก็อีกแบบ ร้องบนเวทีก็อีกแบบหนึ่ง แม้ว่าเราจะเคยร้องมาแล้วบนเวทีแต่พอกลายเป็นนักร้องจริงๆ และได้คุยกับโปรดิวเซอร์มันต้องมีขั้นตอนอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการซาวด์เช็ก การทำให้เสียงแข็งแรงเวลาที่เป็นไปด้วย มันก็มีความยากขึ้นในทุกเลเวลในการแสดงที่มันซับซ้อนขึ้น ใหม่
ถามว่าการเป็นนักร้องคือความฝันไหม คือมันก็ไม่ใช่ แต่มันคือความสุขของเราจริงๆ (หลายคนชมว่าเสียงแต้วใสมาก?) เทคโนโลยีค่ะ (หัวเราะ) มันต้องไปด้วยกันไงคะ เพื่อให้มันโอเคแต่เหนือสิ่งอื่นใด มันก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เสียงเราโอเคด้วย ไม่ใช่ว่าเราไปแบบไม่มีอะไรในหัวเลย คือเราก็ทำการบ้านไปเพราะอีกสิ่งหนึ่งนอกจากเมโลดี้ความไม่เพี้ยน มันต้องร้องและเล่าความหมาย นั่นคือสิ่งที่เราเพิ่งเรียนรู้ว่ามันมากกว่าแค่การร้องเพลง”
BabyBoo เอาประสบการณ์จริงของ “แต้ว” มาถ่ายทอดเป็นเพลง ชีวิตจริงคืออ้อนเก่งมาก
“ซึ่งเพลง BabyBoo มันเหมือนกับเป็นสรรพนามแทนกัน ที่รัก เบบี๋ บู๋บู๋ อ้วน หมู ตุ้ยนุ้ย ฯลฯ อะไรอย่างนี้ ซึ่งในเพลงก็จะดูเป็นเพลงอ้อนๆ คนรัก แต่จริงๆ ก็มีความหมายมากกว่านั้น คือเรามองว่าเขาน่ารักและเราอยากที่จะทำตัวน่ารักในสายตาเขาเหมือนกัน ก็เลยทำนั่นทำนี่เหมือนเด็ก เพราะเราก็อยากน่ารักในสายตาเขาเหมือนกัน ซึ่งส่วนในเอ็มวีคือการตีความเป็นเด็กที่จะมีจินตนาการ สวมบทบาทต่างๆ เป็นเจ้าหญิงเป็นนั่นเป็นนี่เราก็เลยมีโอกาสได้ลองเปลี่ยนลุคหลายลุคแล้วก็สวมบทบาทในหลายบทบาทจึงออกมาเป็นเอ็มวีนี้ค่ะ
ซึ่งพี่แทน (ธารณ ลิปตพัลลภ) กับพี่คัตโตะ (อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล) เขามาเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นจุดตั้งต้นในการเสนอว่าเราทำเพลงแบบนี้ไหม เหมือนมาเป็นนักปั้น ถ้าจะปั้น แต้ว ณัฐพร เตมีรักษ์ ให้เป็นศิลปินจะออกมาในรูปแบบไหน คือดูตั้งแต่เนื้อร้อง แนวเพลง สไตล์ ไดเรกชั่น ในโปรเจกต์นี้ ซึ่งเขาก็อยากเห็นเราในลุคที่สดใส (ส่วนมากนักร้องมักจะเอาประสบการณ์ตัวเองไปเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลง?) ก็ไม่เชิงเล่าให้เขาฟังนะ แต่เพราะว่า stories ในไอจีของแต้วก็เหมือนแทนตัวเราอยู่แล้ว พี่เขาก็ไปทำหน้าที่เป็นนักสืบ ว่าวันวันหนึ่งชีวิตของแต้วขับเคลื่อนด้วยอะไรบ้างจริงๆ เพลงก็เหมือนกับอินสไปร์มาจากตัวเราด้วยเป็นภาพรวมของเราค่ะ
ซึ่งในเพลงจะเป็นแนวอ้อนๆ แต้วก็เป็นคนขี้อ้อนนะคะ เพิ่งรู้ตัวเหมือนกันว่าเป็นคนขี้อ้อน ถึงจะดูเป็นแมนแต่ถึงเวลาก็ขี้อ้อนเหมือนกัน ซึ่งเวลาเราอ้อนไป เขาก็คงโอเคแหละค่ะ ไม่งั้นเขาคงไม่พูดว่าเราเป็นคนขี้อ้อน แต่ว่ามันก็เป็นอีกเวย์หนึ่งที่เหมือนเติมเต็มความน่ารักให้กันเรา ก็มองว่าเขาน่ารักสำหรับเราถึงได้อ้อนค่ะ”
ขอบคุณที่ผู้ใหญ่ ที่ให้คุณค่ากับความชอบของตัวเอง แม้จะไม่ใช่ความฝัน แต่ก็จะทำมันให้ถึงมาตรฐาน
“แต้วอยากให้มองว่าแต้วเป็นแต้ว แต้วชอบที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ แล้วมันก็มีโอกาสที่ให้ได้ลองทำ ซึ่งต้องมองย้อนไปว่าในยุคหนึ่งก็มียุคที่นักแสดงผันตัวไปเป็นนักร้อง อันนี้เราก็เหมือนกับเป็นการทำให้สิ่งนั้นกลับมา คนที่ผ่านยุคนั้นมาก็จะทำให้นึกถึงยุคนั้น แต่ว่ามันไม่ได้มีอะไรตายตัว ที่จะต้องบังคับว่าต้องเป็นอะไรก่อนมันแล้วแต่โชคชะตาพาไป และไม่ได้รู้สึกกดดัน หรือว่าต้องแบกอะไรไว้ แต่รู้สึกว่าโชคดีที่มีคนสนับสนุนให้ทำ ทำให้แต้วรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ดูถูกความชอบของเรา แต่กลับให้คุณค่าในสิ่งที่เราชอบ และอยากลองประสบการณ์ใหม่ ไม่ได้รู้สึกว่าทำไมต้องเป็นฉันอีกแล้ว แต่กลับรู้สึกโชคดีด้วยซ้ำที่มีคนสนับสนุนและพร้อมที่จะเชียร์ค่ะ
ก็ต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้แม้มันจะไม่ใช่ความฝัน แต่เราก็จะทำให้ถึงมาตรฐานนั้น แต่ที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันพูดยาก แต่เราก็ทำเต็มที่แล้ว แต้วไม่ใช่คนที่ทำอะไรได้ทุกอย่าง มันก็มีขีดจำกัดว่าอันไหนทำได้อันไหนทำไม่ได้ แต่เราเป็นคนที่ชอบเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะเหมือนกับว่าเป็นการทลายความกลัวของเรา เหมือนคนยิ่งโตก็ยิ่งมีข้อจำกัดเยอะ แต่ถ้าเราสามารถทลายความเป็นตัวเรา มันก็จะไม่ทำให้โดนตีกรอบกับตัวเองจนเกินไป แต้วยังให้สัมภาษณ์อยู่เลยว่านี่โตไป แก่ไป จะเล่าให้ลูกให้หลานฟังได้เลยนะ ได้เป็นนักแสดงช่องคนแรกที่กลายมาเป็นนักร้อง เราก็เป็นคนโชคดีคนหนึ่งที่ได้มาอยู่ ณ จุดนี้”
เพราะ “พรแสวง” มากกว่า “พรสวรรค์” เลยทำให้ “แต้ว” มีวันนี้!
“สำหรับแต้วว่าน่าจะเป็นพรแสวง เพราะพรสวรรค์มันดีก็จริง แต่มันง่ายต่อการที่ทำให้เราหยุดที่จะโต แต่ว่าถ้าพรแสวงคุณอาจจะไม่ได้เท่าพรสวรรค์ก็จริง แต่อย่างน้อยคุณจะไม่ได้อยู่ที่จุดสตาร์ท แต่คุณจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย ในทุกๆ วันถ้าคุณมีคำว่าพรแสวงและได้ขยับไปข้างหน้า มันมีคุณค่าสำหรับการมีชีวิตอยู่ เราจึงคิดว่าไม่ควรดูถูกพรแสวง ทั้งนี้แต้วก็ไม่ได้ดูถูกทั้งสองอย่าง เพราะมันคือต้นทุน แต่ทุกๆ อย่างแล้วก็ต้องสนุกกับมันด้วย
และเหมือนว่าโปรเจกต์นี้มันผุดขึ้นมาตอนช่วงโควิดช่วงนั้นเราเพิ่งเล่นละครจบไปมันก็เลยมีช่วงเวลาว่างอยู่ สำหรับการแสดง แต้วมองว่าไม่มีวันตันคือในความท้าทาย ความใหม่เรายังใหม่สำหรับมันเสมอ แต่เมื่อมันมีโอกาสให้เราได้ลองอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นความชอบของเราลึกๆ ก็น่าจะลองดึงความชอบออกมา แล้วลองดูสักตั้งว่าถ้าทำให้เต็มที่ในแบบของเรามันจะออกมาเป็นแบบไหน”
ต้องได้ ต้องดี ทุกอย่างต้องสำเร็จ “อาการแพนิค” กำเริบ! ท้ายที่สุดก็ต้องทำให้ชีวิตให้บาลานซ์ ตั้งรับกับความผิดพลาด
“มันเป็นอาการเบรกดาวน์ของอะไรบางอย่าง แต่แต้วตีความว่ามันคือลักษณะนิสัยและวิธีคิดของเรา การที่เราพยายามและเต็มที่กับทุกทุกอย่าง มันก็ดีอย่างหนึ่ง แต่อีกอย่างหนึ่ง มันก็เหมือนกับทำให้เราสะสมความต้องได้ ต้องดีเอาไว้ มันก็เลยทำให้เกิดความเครียดสะสม สุดท้ายร่างกายไม่ไหวเลยทำให้แสดงอาการอะไรออกมา เพื่อทำให้เรารู้ว่าเราจะมีวิธีคิดแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เลยกลายเป็นอาการของการแพนิค ซึ่งมันน่าจะเกิดตอนช่วงที่มีงานละครเยอะๆ ช่วงหนึ่ง คือตอนนั้นเราป่วยอยู่ แต่เราก็ต้องรับผิดชอบงานของเราด้วย มันเกิดจากการที่เราเมเนจสิ่งต่างๆ ไม่ได้ เลยกลายเป็นความเครียดและแสดงอาการออกมา
ซึ่งคนอาจจะมองว่าทุกอย่างเราต้องประสบความสำเร็จ อันนั้นอาจจะเป็นปัจจัยภายนอก แต่สุดท้ายเรามองว่ามันคือวิธีคิดของเราด้วย เราจะมองแบบนั้นก็ได้ แต่มันก็จะเป็นพิษกับความคิดแต้ว ในสถานการณ์เดียวกัน กับคนที่เขาคิดได้ มันก็จะไม่เป็นอะไร และสุดท้ายเราก็ต้องบาลานซ์การทำงานการใช้ชีวิต อันนั้นมันเป็นการรักษาที่ยั่งยืนที่สุด คือการไม่ได้ใช้ยา แต่ปรับที่ใจที่วิธีคิดของเรา
และถ้ามีบางอย่างไม่ประสบความสำเร็จ คือเราต้องมองความเป็นจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเต็มที่แล้ว ก็ไม่ต้องคิดว่าพลาดไม่ได้ จากนั้นเราก็ต้องปล่อยวาง และยอมรับมันค่ะ คือเราต้องมองเห็นความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างบนโลกนี้ได้ อันนี้คือวิธีคิดที่จะทำให้ทุกอย่างมันเบาลง ซึ่งถามว่านอยด์ไหม ในความรู้สึกไม่ได้นอยด์ แต่พอมันเกิด มันกลายเป็นว่า เราพยายามจัดการไปอีก และการจัดการแทนที่จะดีขึ้น แต่กลับเป็นเหมือนการเก็บกด เราบอกว่าโอเค ทั้งๆ ที่โอเค มันเลยเกิดอาการแพนนิค”