พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” คนบันเทิง-แฟนคลับ แห่รดน้ำศพหลายร้อยคน ด้านลูกสาวหลั่งน้ำตา พ่อเหนื่อยมามากแล้ว ขอให้หลับให้สบาย
เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ (14 ม.ค.2565) พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเชิญพวงมาลาหลวง พวงมาลาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปวางที่หน้าหีบศพ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 โดยพิธีศพจัดที่วัดวังน้ำเย็น บ้านมะขามล้ม ต.วังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างโศกเศร้า มีคนในวงการบันเทิงที่รักและเคารพครูเพลงผู้ล่วงลับมาร่วมรดน้ำศพมากมาย อาทิ ครูชลธี ธารทอง, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, ขวัญจิต ศรีประจันต์, ทศพล หิมพานต์, รุ่ง สุริยา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแฟนคลับ รวมถึงประชาชนทั่วไปเดินทางมาร่วมไว้อาลัยหลายร้อยคน โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดมาดูแลความเรียบร้อย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ด้านลูกสาวของไวพจน์ “เอ รมิตา สกุลนี” และ “ปุ้น อมรรัตน์ สกุลนี” ได้เปิดใจกับสื่อมวลชนทั้งน้ำตา พร้อมเผยจะมีพิธีสวดอภิธรรม 9 คืน หลังจากนั้นจะเก็บร่างคุณพ่อไว้ 50 หรือ 100 วัน ที่บ้านวังน้ำเย็น จ.สุพรรณบุรี เพื่อรอหมายกำหนดการพระราชทานเพลิงศพต่อไป และจะทำบุญสวดอภิธรรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมเปิดให้เหล่าแฟนเพลง ได้เข้ามากราบศพคุณพ่อด้วย
เอ : “ตามกำหนดการจะสวดอภิธรรมคุณพ่อ 9 วัน เริ่มตั้งแต่วันนี้ หลังจากนั้นก็จะเก็บคุณพ่อไว้ที่บ้านค่ะ คุณพ่อมีบ้านอยู่ที่นี่ หมู่บ้านวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า ห่างจากวัดนี้ประมาณ 1 กิโล เดี๋ยวต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะเก็บไว้ 50 ขึ้นไป หรือ 100 วัน แล้วระหว่างเก็บ เราก็จะมีการสวดอภิธรรมศพ ทำบุญเลี้ยงพระ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
แล้วก็จะให้แฟนเพลงสามารถเข้าไปไหว้ศพได้ค่ะ ที่คุยกันไว้อาจจะเป็นวันพุธ เพราะคุณพ่อเกิดวันพุธ แล้วก็เสียวันพุธ แต่ทีนี้อาจจะดูความเหมาะสมอีกทีหนึ่ง อาจจะเป็นวันศุกร์หรือเสาร์หรือเปล่า เพราะคนเลิกงานที่กรุงเทพฯจะได้สะดวกในการเดินทาง ถ้าเป็นกลางสัปดาห์ ก็อาจจะเดินทางไม่ค่อยสะดวก ที่จะมาไหว้ศพคุณพ่อเท่าไหร่ เหตุผลที่เราเก็บคือเราที่เราเก็บไว้ ก็เพื่อรอพิธีพระราชทานเพลิงศพค่ะ
ถามว่ามีแผนที่จะหล่อรูปปั้นไหม คือตอนนี้ยังสรุปไม่แน่ชัด ต้องรอหารือกันอีกทีหนึ่ง ว่าจะไปในทิศทางไหน ยังไงต้องขอชี้แจงอีกทีหนึ่งดีกว่า รอผู้ใหญ่หลายๆ คนเขาคุยกันค่ะ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะทำค่ะ มีผู้ใหญ่หลายท่าน ที่คิดว่าจะทำให้อยู่ค่ะ”
พ่อไม่ได้สั่งเสียอะไรไว้ เพราะคิดว่ายังไงก็ต้องหาย
เอ : “จริงๆ ตัวคุณพ่อเอง จะมีอยู่อย่างเดียว คือห่วงลูกห่วงหลาน แกไม่ได้สั่งเสีย เพราะเราและแกให้ความหวังกันมาตลอด ให้กำลังใจว่ายังไงแกต้องหาย แกก็เลยไม่ได้สั่งอะไร แต่ความรู้สึกที่เราสื่อถึงได้ คือแกห่วงทุกคน แกห่วงที่บ้าน ห่วงลูกหลาน ห่วงไปหมดเลย ห่วงเรื่องโควิด ว่าเด็กๆ ไปโรงเรียนกันยังไง เรียนออนไลน์ เรียกออฟไลน์”
อยู่กับคุณพ่อจวบจนวินาทีสุดท้าย
เอ : “ค่ะ คืออยู่บ้านด้วยกัน แต่พอเราทำงาน เราก็มีครอบครัวเนอะ ก็ไปซื้อบ้านอยู่ที่บางใหญ่ แล้วทีนี้ลูกของเรา ก็จะอยู่กับคุณตาคุณยายที่บ้านนี้อยู่แล้ว เราก็กลับไปเสาร์อาทิตย์บ้าง กลางสัปดาห์บ้าง ไปนอนกับคุณตาคุณยาย แล้วตั้งแต่มีโควิด คุณพ่อก็จะกลับมาอยู่ที่สุพรรณ น้องปุ้นก็จะเป็นคนดูแลคุณพ่อค่ะ เพราะอยู่ตรงนี้ก็จะปลอดโปร่งกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ”
ปุ้น : “ในความทรงจำ คุณพ่อก็ดุเหมือนกันนะคะ แต่ดุแล้ว 5 นาทีต่อมาก็โอ๋เลย พ่อเป็นผู้ชายที่ดีที่สุดในโลกใบนี้ (เสียงสั่น) ให้อภัยทุกอย่าง ให้เริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง ผิดพลาดกี่ครั้งก็ด่าค่ะ แต่ก็ให้อภัยลูก คำสอนของพ่อที่ยังจดจำมาใช้ทุกวันนี้ ก็คือเรื่องครอบครัวค่ะ อย่าทิ้งพี่น้อง ต่อให้คนละแม่ แต่ลูกทุกคนของเขาไม่มีใครเกลียดกันเลยนะ ไม่มีใครไม่รู้จักกันเลย เจอกันอยู่ตลอด เหมือนว่าต่อให้เกิดอะไรอย่างนี้ ก็ขอให้กอดกันไว้ ดูแลกันไปเรื่อยๆ ก็อยากบอกพ่อว่าไม่ต้องห่วงอะไรเลย ไม่ต้องห่วงหลาน ไม่ต้องห่วงครอบครัว ไม่ต้องห่วงพี่น้องเรา ให้พ่อหลับพักผ่อนให้สบาย เขาเหนื่อยมามากๆ แล้ว”
ลูกๆ ทุกคนถึงจะคนละแม่ แต่ก็เข้าใจกัน พูดกับพ่อเหมือนกันหมดในวินาทีสุดท้าย ว่าไม่ต้องเป็นห่วงนะ
เอ : “จริงๆ ทุกคนเข้าใจค่ะ ทุกคนจะรู้ว่าคุณพ่อห่วง วันแรกที่คุณพ่อเสีย ลูกๆ ที่มีโอกาสเข้าไปกราบในห้องไอซียู ก่อนที่ทางทีมแพทย์จะถอดสายออก ทุกคนจะพูดว่าพ่อไม่ต้องห่วงนะ คือเหมือนรู้ใจพ่อ จับมือพ่อแล้วก็บอกว่าพ่อไม่ต้องห่วง หนูสบายดี คนนี้สบายดี ไม่ต้องกังวลใดๆ ทุกคนโอเค ลูกหลานทุกคนโอเค คือจะบอกคำนี้ แค่มองตาทุกคนจะรู้แล้ว ว่าเดินเข้ามาพ่อต้องการให้บอกอะไร ทุกคนจะพูดเหมือนกันโดยไม่ได้เตี๊ยมกันเลย ว่าพ่อไม่ต้องห่วงนะ พ่อไปให้สบาย ตอนที่พ่อสิ้นลมครั้งแรกเลย”
เรื่องลิขสิทธิ์เพลงหลังจากนี้ ยังไม่ได้พูดคุยกัน ว่าใครจะดูแลต่อ
เอ : “ตอนนี้เรายังไม่ได้มีคนดูแลเป็นเรื่องเป็นราว แต่พอทราบ ว่าลิขสิทธิ์เพลงของพ่อมีเพลงอะไรยังไงบ้าง ก็ยังไม่ได้คิดอะไรไปถึงตรงนั้นเนอะ เพราะว่าคุณพ่อไปแบบที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน ตอนนี้สิทธิ์ขาดเดิมก็เป็นคุณพ่ออยู่แล้ว ซึ่งยังไม่ได้มีเวลาที่จะมาคิดอะไรพวกนี้อยู่แล้ว”
ส่วนลูกศิษย์ที่รัก “ขวัญจิต ศรีประจันต์” ก็ได้เผยถึงการจากไปของครูผู้ปั้น ควบตำแหน่งพี่ชาย ที่คอยดูแลอย่างดี เหมือนเป็นลูก ว่าเป็นการสูญเสียที่สาหัสสากัน สุดจะบรรยายออกมาเป็นคำพูด
“เราจะเรียกแกว่าพี่ เราเป็นลูกศิษย์ เป็นลูกน้อง ที่ได้รับสิทธิ์พิเศษกว่าคนอื่น คือได้อยู่ในบ้านของพี่ไวพจน์ คนอื่นไปๆ มาๆ แต่ของเราแกอุตส่าห์ทำบ้านเล็กๆ ให้อยู่ในบริเวณบ้านแก แกดูเหมือนลูก แต่เราก็ไม่ได้ไปคนเดียว ไปกัน 3 พี่น้อง แต่แกก็เลี้ยงหมด เวลาไปงานเราก็เอาแม่ไป เพื่อเขาจะได้อยู่กับแม่ของพี่ไวพจน์ ให้คนแก่เขาได้อยู่คุยกัน มันก็เป็นความผูกพัน เรามีญาติเยอะ แต่เขาก็ไม่ได้ดูแลเราขนาดนี้
เราไปอยู่กับเขาตอนพ.ศ.2511 ตอนเป็นขวัญจิตไปแล้ว ซึ่งในช่วงแรกที่ไป เราไม่กล้าไปหาเขา เพราะเขาดังมาก ไม่กล้าไป เราก็จะเตาะแตะ ไปประกวด ไปอยู่วงดนตรีเล็กๆ แล้วเราก็ให้หัวหน้าวงพาไปฝาก เขาก็ดูแลอย่างดี อย่างกับลูก ก็เลยผูกพันกับครอบครัวทั้งหมด แม้กระทั่งตั้งวงดนตรี แกก็เป็นคนตั้งให้ เราไม่ค่อยมีเงิน เพราะเราเป็นลูกวงกินค่าตัว การจะตั้งวงมันใช้เงินเยอะ ค่าสถานีวิทยุ การที่อยู่สำนักงาน แกก็หาที่ว่ามาอยู่ตรงนี้แล้วกัน แกดูแลเราทุกกระเบียดนิ้ว
แต่ว่าทั่วไปเวลาอยู่บนเวที แกก็จะตลก เป็นมุกให้แฟนเพลง ว่านี่เมียผม ขวัญจิต ศรีประจันต์ คนก็เชื่อไปค่อนประเทศ เวลาเราไปไหนเจอใคร แกก็กอดคอ แต่คนในวงการจะรู้ เราบูชาน้ำใจแกอย่างหนึ่ง คือว่าถ้าเราอยู่กันลำพัง ไม่มีคนอื่น แกไม่เฉียดเข้าใกล้เราเลย ทั้ง 3 พี่น้องผู้หญิงทั้งนั้น แกก็ดูแล แล้วก็จะบอกว่า กับไอ้เด็กพวกนี้ ใครอย่ามายุ่งนะ เพราะมันเป็นน้อง ฉะนั้นในคณะเขา ก็จะไม่มีใครมาวอแว เราอยู่ได้อย่างสบายใจ ก็เป็นบุญ
เราอยู่กับแกไม่ถึง 3 ปี แกก็ให้ตั้งวงเลย ออกทุนให้ทุกอย่าง ดนตรีแกก็จัดให้ ว่าคนนี้ๆ มึงไปอยู่กับจิตนะ คนนี้ไปเต้นนะ เปิดรับสมัครหางเครื่อง มีที่ซ้อมเป็นบ้านเช่า เป็นห้องแถว แกชี้แนะให้ทุกอย่าง พอกลับมาอยู่บ้านแล้ว ก็ยังไปมาหาสู่กัน
แกชอบกินหน่อไม้สดมากที่สุด เราต้องทำไว้ตลอด พอแกป่วยเราก็ฟรีซไว้ เดี๋ยวว่าอีก 2 วัน ให้เขาหายยุ่ง ก็จะเอามาให้แกกิน เพราะตอนแกป่วยเราไม่กล้าเอาให้กิน แกก็โทร.มาทวง เราก็บอกเดี๋ยวออกจากโรงพยาบาลก่อน ทำเก็บไว้ให้แล้ว เราปลูกเองเลย แต่บางทีฤดูแล้งมันไม่มี เราก็ไปซื้อตามห้างมา แกก็จะรู้ว่านี่มันของซื้อ กูจำได้ เพราะมันจะจืด เราก็ต้องมานะรดน้ำไว้ เพื่อให้มันออกหน่อ แม่บ้านจะรู้เลยพอออกหน่อ ว่านี่ของลุงพจน์นะ
ถามว่าประทับใจอะไรพี่พจน์ มันก็หลายๆ อย่าง เท่าที่เล่ามาทั้งหมดนั่นแหละ มันคือความประทับใจ ความเอื้ออาทร การให้เกียรติ หน้าเวทีเราจะเป็นนางพญาคู่กับท่าน แกปั้นเรา แต่แกไม่เคยไปบอกใคร ว่าแกปั้น ไม่มีเพลงที่แกต้องให้ แต่จะมีเพลงที่ร้องแก้กันหลายเพลง ออกมาเป็นคู่ๆ เขาร้องหน้าด้านหน้าทน เราก็จะร้องเกลียดคนหน้าด้าน
ฝากถึงลูกหลานที่เคยร้องเพลงของพี่พจน์ หรือพี่พจน์เคยแต่งเพลงให้ รวมถึงแฟนเพลงของพี่พจน์ ว่าให้รักและเคารพนะ เดินทางตามพ่อแล้วกัน อยู่ในกรอบศีลธรรม กำพืดเราเป็นยังไงก็ให้อยู่อย่างนั้น อย่าไปข่มเหงน้ำใจใคร ให้รักและหวังดีกับคนอื่น เหมือนที่พ่อเขาทำมา
ครั้งนี้มันเป็นการสูญเสียที่สาหัสสากัน ศรเพชร ศรสุพรรณ ก็เหมือนน้อง เสียน้องไปได้ 2 วัน มาเสียพี่อีก มันเหมือนสูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียของรัก เป็นการสูญเสียอย่างอธิบายไม่ถูก แล้วความรู้สึกตรงนี้ มันก็คงต้องอยู่กับเราไปอีกนาน หรือเราก็อาจะตามเขาไป เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันเป็นการสูญเสีย ที่บอกไม่ถูก สุดที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูด”
และรุ่นน้องร่วมวงการ ที่ทำงานด้วยกันมาตลอดชีวิต อย่าง “สดใส รุ่งโพธิ์ทอง” ก็ได้เดินทางไปรับร่างไร้วิญญาณของพี่ชาย จากโรงพยาบาลมาวัดด้วยตนเอง พร้อมเผยว่า ตนในวัย 70-80 ก็คงจะมีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่น ได้ไม่เท่ากับ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ”
“พูดถึงความผูกมันกันมันก็มีเยอะ ช่วง 20-30 ปีหลังนี้ แกเสียสละตัวเองเพื่อสังคม คนวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นดารา เป็นนักร้อง หรือเป็นตลก เวลาเสียชีวิตแกจะต้องจัดคอนเสิร์ต เพื่อเอาเงินไปช่วย แล้วตอนหลังๆ แกไปไม่ไหว ปวดกระดูก ปวดหลัง นั่งไม่ได้ต้องเอียงนอน แล้วแกก็จะโทร.มาว่าไอ้น้องรัก ไปแทนพี่หน่อย ก็มีความผูกพันกันมาตลอด
จริงๆ แกหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า เพลงลูกทุ่งต้องไม่สูญ คนที่จะประคับประคองเพลงลูกทุ่งให้อยู่ได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีพลัง มีพาวเวอร์ แล้วก็มีความอาวุโสพอ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นคนหนึ่ง ที่แกตั้งใจอยากให้ช่วย ทำให้เพลงลูกทุ่งอยู่คู่กับคนไทยไปตลอด ก็พยายามสร้างสรรค์ แล้วก็แอนตี้ไอ้พวกเพลงที่มันมาแบบวูบวาบ แต่ก็อยากว่า เรื่องทำมาหากิน มันก็ลำบาก
นั่นก็คือความใกล้ชิดของผมกับพี่พจน์ แล้วยิ่งไปงานอะไรสำคัญๆ เราก็จะโทรหาพี่พจน์ มาหน่อยนะ แต่หลังๆ แกก็จะบอกว่า พี่ไปไม่ไหวแล้ววะ บอกเขาด้วยว่าพี่ไม่ไหว ไอต้องไปนอนตะเแคง อายเขา เราก็รู้ว่ามันก็ด้วยวัย ด้วยอายุ วันเวลาที่ผ่าน แกก็แย่ลง เราก็รู้อยู่ แกก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล
งานของแกเมื่อเดือนธันวาคมเนี่ย เราก็ไป ก็ไปถามหาแก น้องแกบอกว่าเอาเข้าโรงพยาบาล เพิ่งจะมางาน ศรเพชร ศรสุพรรณ ได้วันสองวัน พี่พจน์ก็เข้าโรงพยาบาล แล้วก็จากไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายนะ ไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ แต่มันเป็นเรื่องธรรมชาติ นี่เราเป็นคนไปรับแกมาจากโรงพยาบาล ยังไม่ได้เข้าไปรดน้ำศพเลย ยังไม่ได้ไปพูดอะไรกับแกเลย
เรื่องความอัจฉริยะในการแต่งเพลง ก็ยังไม่มีใครนะ ที่เห็นอะไรปุ๊บปั๊บ แล้วออกมาเป็นเพลงแหล่ได้ แกเป็นคนที่มีความอัจฉริยะในด้านการแต่งแหล่ ด้นแหล่ คือบางทีเหตุการณ์เฉพาะหน้าแกก็ด้นได้ ระยะหลังๆ ที่เขาบูชาไอ้ไข่กัน เขาก็จะติดต่อมา บอกอาสดใส เรียกพี่ไวพจน์ไปแหล่ด้วย ไปทีได้เงินทำบุญ 4-5 หมื่น ถึงได้บอกว่าเวลาใครเจ็บป่วยตาย แกก็จะจัดมหรสพย่อมๆ เอาเก้าอี้ไปนั่งแหล่ ก็จะได้เงินช่วยเหลือครอบครัวคนเจ็บคนป่วย แกเหนื่อยมามากแล้ว
การจากไปครั้งนี้เราเสียดาย เราได้ยินเสียเพลงเขาก็น้ำตาจะไหล แต่มันเป็นเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ก็ทำอะไรไม่ได้ แต่แกทำประโยชน์ไว้เยอะเหลือเกิน ความสามารถแกก็หาคนแทนไม่ได้ แล้วแกก็เป็นคนที่มีน้ำใจ เราเคยคิดเปรียบเทียบตัวเอง ว่าถ้าเราอายุสัก 70 ใกล้ๆ 80 เรามีเงินเราก็ต้องเก็บไว้เพื่ออนาคตลูกหลาน แต่ของแกใครมาบอกช่วยทำบุญ แกใส่เลย แกไปหมด”