xs
xsm
sm
md
lg

แบบเรียนของนักอยากเขียน จอมโจรลูแปง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อำนาจ



ค่อนข้างเป็นไปได้สูงว่าผู้ผ่านเข้ามาอ่านคอลัมน์นี้มีโอกาสได้ดูซีรีย์ ‘จอมโจรลูแปง’ นับจำนวนอักโข เพราะเท่าที่อ่านข่าวคราวตามสื่อหลายๆ สำนัก จัดให้จอมโจรลูแปงเป็นหนังขวัญใจมหาชนในปีที่ออกฉายเลยทีเดียว

เอาเป็นว่าเพื่อไม่ให้เข้าตำราทำนองเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ผู้เขียนขอข้ามทุกประเด็นอันจะซ้ำซ้อนกับบทความอื่นๆ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของจอมโจรลูแปง แต่จะมุ่งเน้นเพียวๆ ถึงเรื่องที่ต้องหยิบยกมาเขียนถึงในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ด้วยเหตุผลเพียงว่า เนื่องจากมีประการหนึ่งซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าเอ่ยอ้างถึงเกี่ยวกับความดีงามที่ทำให้ซีรีย์ดังเรื่องนี้เป็นที่กล่าวขาน แม้จะไม่ได้มีฉากเวอร์วังอลังการระดับทุนสร้างร้อยล้านพันล้านก็ตาม

เคยมีคำถามในกลุ่มคนเล็กๆ บางกลุ่มที่อยากเป็นนักเขียนว่าการจะเริ่มต้นเขียนหนังสือต้องทำอย่างไร?

ร้อยละร้อยของคำตอบจากปากนักเขียนผู้มีชื่อเสียงแนะนำตรงกันว่า ต้องเริ่มต้นที่การอ่าน จากนั้นจึงเริ่มลงมือเขียน

เขียนเรื่องอะไร?

เขียนเรื่องใกล้ตัวที่ตัวเองรู้ดีมากที่สุด

เขียนจนชำนาญ เขียนเยอะๆ เขียนมากๆ เขียนทุกเวลาว่าง กระทั่งมาถึงอีกขั้นตอนสำคัญในการจะกระเถิบงานเขียนของตัวเองให้เรื่องที่เราเขียนมีพัฒนาการ นั่นคือ เฟ้นหากลวิธีในการเล่าเรื่อง หรือกลวิธีในการเขียน

ใครรู้สึกอยากเขียนหนังสือ แล้วก็เคยดูจอมโจรลูแปง ลองดูใหม่อีกสักหนสองหน หรือมากกว่านั้นยิ่งดี เพราะมีแบบเรียนอยู่ในเรื่องนี้เยอะมากเป็นพิเศษ

แบบเรียนเกี่ยวกับกลวิธีของการเล่าเรื่อง

จอมโจรลูแปงสร้างมาจากหนังสือ แต่พอนำมาทำเป็นหนังก็แสดงพลังของการเล่าเรื่องอย่างชวนแกะรอยในทุกขั้นตอนว่าผู้ที่เล่าเขามีชั้นเชิงในการเล่าให้คนดู (คนอ่านหนังสือ) วางไม่ลงได้อย่างไร

ประมาณว่าเรื่องเป็นยังงี้นะ ที่มันเป็นแบบนี้ เพราะมีนี่ แล้วก็นี่...ยัง...ยังมีแบบนี้อีกด้วยก่อนจะตบมุก หรือหักมุมและตามต่อด้วยการปูเรื่องที่จะเชื่อมร้อยต่อไปในย่อหน้าอื่น

ความลื่นไหลกับความสมจริงสมจัง สมเหตุสมผลจัดว่าสำคัญมาก ลองดูจอมโจรลูแปงว่าตอนไหนเนียนสนิท ตอนไหนฉากไหนค่อนข้างอ่อนไปนิด เราค่อยๆ ศึกษาก่อนจะนำมาประยุกต์กับการเขียนของเรา

ส่วนผู้ที่ไม่สนใจการเขียน แค่สนใจสนุกกับกลวิธีในการเล่า ดูจอมโจรลูแปงอีกรอบก็ได้ประโยชน์ไม่น้อย



กำลังโหลดความคิดเห็น