xs
xsm
sm
md
lg

จาก ‘พระถังซำจั๋งในประวัติศาสตร์’ ถึง ‘ความฝันในหอแดง’ร้อยเรียงเรื่องราวของ ‘ฝีพาย’ ในสายธารวรรณกรรมแปลจีน-ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2010 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทยในครั้งนั้น ท่านจึงเป็นนักวิชาการชาวต่างชาติคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้จากประเทศไทย)
ปักกิ่ง, 14 ธ.ค. (ซินหัว) — “เสียงเย้ยเยาะผู้เขียนโง่เขลาปัญญาเบา ใครไหนเล่าจักแจ้งถึงความนัย” บทกวีท่อนนี้จากวรรณคดีจีนเรื่อง ความฝันในหอแดง  ซึ่งผู้ประพันธ์ใช้เล่าแจ้งแถลงไขความเป็นมาของเรื่องราวในนิยาย เมื่อครั้นถูกหยิบยกมากล่าวถึงศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยภาษาเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง กลับได้รับคำบอกเล่าจากลูกศิษย์เป็นเสียงเดียวว่า “ช่างเหมาะเจาะเสียเหลือเกิน”

(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยมอบรางวัลสุรินทราชา อันเป็นรางวัลนักแปลดีเด่นระดับประเทศ ให้กับศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ในฐานะผู้มีคุณูปการต่องานแปลวรรณกรรมของไทย วันที่ 22 เม.ย. 2012)
หลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากจะประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ศิษยานุศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งสำเร็จออกไปประกอบอาชีพในหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งการต่างประเทศ สื่อสารมวลชน การศึกษา เศรษฐกิจและการค้า ฯลฯ ศาสตราจารย์อาวุโสผู้ “หลงใหล” ในสาขาวิชาภาษาและวรรณกรรมไทยท่านนี้ยัง “คลั่งไคล้” การแปลวรรณคดีจีนระดับคัมภีร์อีกมากมายหลายเรื่อง อาทิ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ลั่วหยางสังฆารามรำลึก และ ปัญจพุทธปทีป ผลงานแปลของศาสตราจารย์ชิวได้รับคำยกย่องจากบรรณพิภพและวงการแปลของไทยอย่างมิขาดสาย ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการอภิปรายและการเทียบเคียงด้านวรรณคดี วัฒนธรรม และอารยธรรมจีนโบราณ ในหมู่ผู้รักภาษาและวัฒนธรรมจีน

“บนเส้นทางสายไหมที่ดาริกาหมุนเวียนเปลี่ยนผันทุกทิวาราตรีนับพันปีที่ผ่านมา ภาษาเป็นเครื่องมือแบกรับวัฒนธรรม ขณะที่วรรณคดีเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรม” ศาสตราจารย์ชิว อาจารย์ที่ปรึกษาบัณฑิตระดับปริญญาเอกของวิทยาลัยภาษาเอเชีย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งซึ่งเกษียณอายุงานแล้วกล่าวว่า “การสอนภาษาไทยและการแปลวรรณคดีเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอารยธรรมจีนให้ดีนั้น เป็นสิ่งที่ดิฉันหลงใหลและยืนหยัดมาโดยตลอด”

จากสมณะถังซำจั๋งถึงพระอาจารย์เสฺวียนจั้ง — การแปลคือเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม
“ในสายตาของนักเรียนนักศึกษาชาวจีนที่เรียนภาษาไทย และนักศึกษาชาวไทยผู้ศึกษาภาษาจีนจำนวนมาก ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนคือนักแปลวรรณคดีจีนฉบับพากย์ไทยระดับชั้น ‘บรมครู’ ” คำบอกเล่าจากรองศาสตราจารย์เฉินลี่ จากวิทยาลัยภาษาเอเชีย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง

เมื่อปี 1987 ศาสตราจารย์ชิวได้ตอบรับคำเชิญจากทวีป วรดิลก นักประวัติศาสตร์ นักเขียนและกวีชื่อดังชาวไทย ให้แปลเรื่องสั้นของกัวโม่รั่ว เรื่อง อวสานทรราช ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ด้านวรรณกรรมโดยมิได้มีการปรับเปลี่ยนคำแม้แต่เพียงน้อย

การแปลวรรณกรรมจีนเป็นภาษาไทยอย่างแท้จริง เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีคนสำคัญของไทยเป็นแม่กองกำกับการแปล สามก๊ก เป็นภาษาไทย ซึ่งก็ล่วงเลยมากว่าสองศตวรรษแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วรรณกรรมจีนเชิงนิยายเช่น สามก๊ก ไซอิ๋ว ไซ่ฮั่น และ ซ้องกั๋ง ก็ถูกเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านชาวไทยแทบทุกครัวเรือน จนกลายเป็นนิยายจีนอันโด่งดัง ทั้งยังเป็นต้นแบบของผลงานนิยายดัดแปลงในเวลาต่อมา

ทว่า ด้วยข้อจำกัดของการแปลระหว่างภาษาที่ไม่ใช่ภาษาสากลด้วยกัน หนังสือโบราณเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งยากแก่การเข้าใจและแฝงเร้นไปด้วยปรัชญาอันล้ำลึกยังคงมิอาจเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านชาวไทยได้จวบจนถึงปัจจุบันศาสตราจารย์ชิวรู้สึกเสียดายที่การติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับไทยบนเส้นทางสายไหมนั้น มีวรรณกรรมชั้นยอดและวัฒนธรรมชั้นเลิศที่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่มากมายเหลือเกิน ท่านจึงหวังอยู่เสมอว่าจะช่วยจรรโลงวงการวรรณกรรมจีน-ไทยให้มากขึ้นโดยผ่านหยดหมึกและปากกา

ศาสตราจารย์ชิวบ่มเพาะลูกศิษย์ลูกหาโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ขยันหมั่นเพียรผลิตงานแปลทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง กระทั่งเมื่อปี 2004 ผลงานแปลเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ของท่านก็ได้รับการตีพิมพ์ในประเทศไทยหลังใช้เวลาแปลอยู่นานถึง 4 ปี นับเป็นผลงานแปลภาษาต่างประเทศฉบับสมบูรณ์และเป็นเอกเทศชิ้นแรกของนักวิชาการชาวจีน

นับตั้งแต่นั้นมา นักอ่านชาวไทยที่คุ้นเคยกับ “เรื่องเล่าของพระถังซำจั๋ง” จึงได้ประจักษ์ถึงต้นแบบของประวัติศาสตร์และบันทึกอันยอดเยี่ยมของพระอาจารย์เสฺวียนจั้ง พระเถระผู้แตกฉานในพระธรรมและนักแปลคัมภีร์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ผ่านวรรณกรรมฉบับแปลเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของแว่นแคว้นต่างๆ ในดินแดนตะวันตก ไปจนถึงแคว้นโบราณในเอเชียใต้ หรือตำนานเล่าขานของสถูปห่านป่าไปจนถึงนิทานเกี่ยวกับเมืองแม่ม่ายตะวันตก ตลอดจนเรื่องราวของพระพุทธรูปบามิยันไปจนถึงมฤคทายวันสังฆาราม

ที่สลักสำคัญยิ่งกว่านั้นคือคำแปลที่ถอดความจากภาษาสันสกฤตในวรรณกรรมฉบับแปลเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง นั้น เป็นภาษาสันสกฤตพันทางแบบพุทธ ซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับคำบาลีในภาษาไทย และเนื่องจากอินเดียและศรีลังกาในยุคโบราณที่ถูกบรรยายไว้อย่างลึกซึ้งในวรรณกรรมเรื่องนี้ มีต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับพุทธศาสนาของไทยในสมัยโบราณ เมื่อผลงานแปลถูกตีพิมพ์ จึงมีเสียงตอบรับแทบจะทันทีในหมู่ผู้อ่าน วงวิชาการและพุทธศาสนิกชนชาวไทยรวมถึงมีการตีพิมพ์ซ้ำอย่างรวดเร็ว ครูบาอาจารย์ พระเถระและคนในวงการสิ่งพิมพ์จำนวนมากต่างเสาะหาหนทางที่จะได้พบกับศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนเพื่อร่วมกันศึกษาและอภิปรายเพิ่มเติม

ครั้งหนึ่งเมื่อราว 1,500 ปีก่อน พระอาจารย์เสฺวียนจั้งออกจาริกตามเส้นทางสายไหมโบราณสู่พุทธดินแดนทางตะวันตกและแปลคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาสันสกฤตจำนวนมากเป็นภาษาจีน กาลเวลาผันผ่านมาหลายพันปี เส้นทางสายไหมแห่งวรรณกรรมทอแสงเรืองรองขึ้นอีกครั้ง บนวิถีแห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรม วรรณกรรมแปลนั้นไม่เพียงแต่ฉายภาพภูมิปัญญาชาวจีนสมัยโบราณให้กับผู้อ่านชาวไทย แต่ยังทำให้พวกเขาสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาและเสน่ห์ของอารยธรรมตะวันออก

(ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนยืนอยู่หน้าตึกเรียน ณ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 25 พ.ย. 2021)
จากในห้องเรียนสู่นอกห้องเรียน — ภาษาเป็นเครื่องจุดประทีปแห่งปัญญาให้โชติช่วงเมื่อปี 2010 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในปีนั้น ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทย ท่านจึงกลายเป็นนักวิชาการชาวต่างชาติคนที่สองที่ได้รับเกียรตินี้จากประเทศไทย

ต่อมาในปี 2012 สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยได้มอบรางวัลสุรินทราชา อันเป็นรางวัลนักแปลดีเด่นระดับประเทศให้กับท่าน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ในฐานะผู้มีคุณูปการต่องานแปลวรรณกรรมของไทย

หลังจากแปลเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง แล้วเสร็จ ศาสตราจารย์ชิวได้ใช้เวลาอีก 10 ปีในการแปลวรรณดคีเรื่อง ลั่วหยางสังฆารามรำลึก หนึ่งในวรรณคดีสองเรื่องที่ถูกเปรียบดังหยกล้ำค่าแห่งยุคราชวงศ์เหนือ รวมถึงยังได้แปลหนังสือเรื่อง ปัญจพุทธปทีป วรรณกรรมยิ่งใหญ่ของนิกายเซนในวัฒนธรรมจีน หนังสือแปลเล่มแรกเมื่อพิมพ์ออกเผยแพร่ก็มีเสียงตอบรับจากผู้อ่านอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ส่วนเล่มหลังนั้นปัจจุบันใกล้จะแล้วเสร็จ

ในขณะนี้ ศาสตราจารย์ชิวกำลังแปลวรรณคดีเรื่อง ความฝันในหอแดง ผลงานชั้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของวงการแปล “ทุกถ้อยคำในหนังสือเรื่องความฝันในหอแดง จำเป็นต้องขัดเกลาขัดสำนวนแปล กลอนแต่ละบทล้วนมีนัยลึกซึ้งแอบแฝง ต้องแปลทั้งเนื้อความที่ปรากฏและความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใน สำนวนภาษาที่แปลออกมาต้องซ่อนเร้นความนัยอันลึกซึ้งได้อย่างแยบยล เช่นนี้แล้ว ความคืบหน้าในการแปลโดยรวมจึงค่อนข้างล่าช้า หากแต่ ‘ช้า’ ในที่นี้ เป็นเพราะมุ่งหมายให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจและซึมซับวรรณคดีชิ้นนี้ได้ ‘รวดเร็ว’ ยิ่งขึ้น”

ศาสตราจารย์ชิวไม่เพียงแต่ใช้การแปลวรรณกรรมเพิ่มพูนความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างสองประเทศเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ท่านได้เริ่มส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในวงการการศึกษาจีน-ไทย ผ่านสารพัดวิธี

ครั้งหนึ่งระหว่างรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยที่เสด็จฯ เยือนประเทศจีน ศาสตราจารย์ชิวผู้ทำหน้าที่ล่ามได้สร้างความประทับใจให้แก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ขณะนั้นคือวิทยาลัยครูเชียงใหม่) ด้วยทักษะล่ามภาษาระดับมืออาชีพ และด้วยการเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ของศาสตราจารย์ชิวนี้เอง ในปี 1990 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง จึงได้ก่อตั้งความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนระหว่างกันขึ้นและสืบสานยาวนานมากว่า 30 ปีแล้วจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 1991 ศาสตราจารย์ชิวในฐานะอาจารย์แลกเปลี่ยนคนแรกของโครงการ เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อช่วยจัดตั้งสาขาวิชาภาษาจีน และได้จัดทำหลักสูตรการสอนภาษาจีนระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งท่านอื่น ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นหลักสูตรการสอนภาษาจีนสำหรับวิทยาลัยครูเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย นอกจากนี้หนังสือ แบบเรียนเร็วภาษาจีน และ แบบเรียนเร็วภาษาจีนชั้นกลาง ที่ท่านเป็นคนเรียบเรียงขึ้น ก็ต่างได้รับความนิยมชมชอบและได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเรื่อยมา

“จีนไทยมีอาณาเขตใกล้เคียง มีมานุษยวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดแนบแน่น ความเข้าใจในการศึกษาจึงชิดใกล้กันมากขึ้นด้วย” ชิว ซูหลุนกล่าว “ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงหวังว่าจะใช้ภาษาเป็นสื่อกลางสำหรับการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการแปลวรรณกรรม เพื่อให้ผู้คนเข้าใจปรัชญา ความคิด แนวคิดและภูมิปัญญาจีน หรือกระทั่งวิถีปฏิบัติและการวางตัวของชาวจีนมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้คือแก่นแท้ของการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการเล่าเรื่องราวของจีนเองให้ดี ให้โลกเข้าใจจีนได้แจ่มแจ้งถูกต้อง”

จากปณิธานแรกเริ่มสู่พันธกิจของชีวิต — งานแปลหนังสือคือ ‘เรือ’ ข้ามฝั่งอารยธรรม
ปี 1975 จีนและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ในปีเดียวกันนี้ ชิว ซูหลุนได้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งอย่างเป็นทางการ งานบ่มเพาะบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถเพื่อสืบสานมิตรภาพระหว่างสองประเทศ จึงกลายเป็นปณิธานแรกเริ่มของท่าน ในวันแรกที่ก้าวเข้าสู่วงการการศึกษา

กว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยทะยานขึ้นเกือบ 4,000 เท่า จาก 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 834 ล้านบาท) ในช่วงแรกของการสานสัมพันธ์ทางการทูต สู่ระดับ 9.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2020 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ชิวได้เห็นกับตาว่าลูกศิษย์แต่ละรุ่นที่ตนได้อบรมบ่มวิชามาต่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของการไปมาหาสู่กันระหว่างจีนกับไทยทั้งในระดับภาครัฐและภาคประชาชน “นี่คือสิ่งที่ดิฉันภาคภูมิใจที่สุด” คำบอกเล่าจากอาจารย์ชรา

ขณะเน้นย้ำถึงความสำเร็จของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ท่านแทบจะไม่พูดถึงเกียรติภูมิของตนเองเลย ทั้งๆ ที่เคยได้รับรางวัล “อาจารย์ดีเด่นระดับชาติ” และแม้แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ของท่านก็ยังทราบเรื่องนี้จากข่าวในหนังสือพิมพ์

ปี 2015 ศาสตราจารย์ชิวเกษียณอายุงานจากตำแหน่งอาจารย์ที่ปรึกษาบัณฑิตระดับปริญญาเอก และมุ่งอุทิศตนให้กับงานแปล แต่ท่านยังคงไม่ลืมความทรงจำเมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่ยาวนานหลายสิบปี ในตอนนั้น ทุกๆ เย็นท่านจะคอยช่วยปรับแก้การออกเสียงของนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งเป็นรายคน ก่อนเริ่มเรียน 10 นาที ท่านจะเล่าข่าวที่สำคัญจากหนังสือพิมพ์ให้นักศึกษาฟัง เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้เรื่องราวนอกห้องเรียนมากขึ้น

นอกจากนี้ท่านยังพานักศึกษาไปเยือนถ้ำหินแกะสลักอวิ๋นกังเพื่อบรรยายความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของอารยธรรมโบราณให้พวกเขาฟังในสถานที่จริง ในยุคที่อุปกรณ์การเรียนการสอนยังมีไม่มากนัก อาจารย์ท่านนี้นั่งเจาะปรุพิมพ์กระดาษไขทุกคืนเพื่อนำไปอัดโรเนียวสื่อการเรียนการสอนของเด็กนักศึกษาแผ่นแล้วแผ่นเล่า…

ศาสตราจารย์หญิงวัย 74 ปีในวันนี้ แสดงทรรศนะไว้ว่าพละกำลังของตนนั้นมีจำกัด จึงมีเพียงการสืบทอดภารกิจอย่างมิขาดสายเท่านั้น ที่จักก่อให้เกิดการแตกกิ่งก้านสาขางอกงาม และสร้างคุณูปการแก่การแลกเปลี่ยนระหว่างสองวัฒนธรรมให้เพิ่มพูนทบทวี

ปัจจุบัน ณ มุมหนึ่งในสำนักงานการเรียนการสอนภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ยังคงมีเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องหนึ่งตั้งอยู่ ร่องรอยของอักขระที่ลางเลือนบนแป้นพิมพ์ คล้ายกำลังเล่าเรื่องราวปณิธานแรกเริ่มและพันธกิจในชีวิตของครูและนักแปลท่านหนึ่งที่ต่อเนื่องยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

“ในทะเลอันเวิ้งว้างที่ความเป็นตายเท่ากันนั้น ใครเล่าจะคอยเป็นเสมือนเรือข้ามฟากแก่เรา” คำถามนี้ของพระอาจารย์เสฺวียนจั้ง ดุจดั่งชี้ให้เห็นถึงนัยสำคัญในการเดินทางสู่ดินแดนอัสดงคตของท่าน ทั้งเป็นการชี้นำชนรุ่นหลังให้ตั้งตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติใช้งานแปลเทียมพาย แผ้วถางครรลองบนเส้นทางสายไหมที่ทอดยาวสู่การสดับตรับฟังวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งแก่ผู้อ่านชาวต่างชาติ สำหรับชิว ซูหลุนแล้ว สิ่งนี้เองคือการล่องนาวาข้ามฟากฝั่งแห่งอารยธรรม

(ผลงานแปลภาษาไทยสองเรื่องของศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน ได้แก่ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง และ ลั่วหยางสังฆารามรำลึก)



กำลังโหลดความคิดเห็น