โครงการ “เท่อย่างไทย โดยไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ตอกย้ำความตั้งใจในการจุดประกายสร้างจิตสำนึกแห่งความภูมิใจในเอกลักษณ์และมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทย เดินหน้าสานต่อกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านการอนุรักษ์ความเป็นไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปีนี้ได้ปรับกิจกรรมเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การประกวดมารยาทไทย ประกวดอ่านฟังเสียง และการประกวดวาดภาพดิจิทัล ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา ซึ่งได้ประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศไปเรียบร้อยแล้ว
นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี มุ่งมั่นส่งเสริมเยาวชนให้ร่วมกันรักษาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย และทำหน้าที่เป็นเมล็ดพันธุ์จุดประกายสำนึกรักความเป็นไทยสู่สังคมอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ “เท่อย่างไทย โดยไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ครั้งที่ 49 ประจำพุทธศักราช 2564 แม้ในปีนี้จะปรับรูปแบบเป็นออนไลน์แต่มีกระแสตอบรับดีเกินคาด โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากกว่า 2,700 คน จาก 540 โรงเรียนทั่วประเทศ
ด้วยความต้องการเชื่อมต่อสู่คนรุ่นใหม่ โครงการ “เท่อย่างไทย โดยไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ครั้งที่ 49 ได้เพิ่มกิจกรรมใหม่คือ การประกวดวาดภาพดิจิทัล เปิดโอกาสให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน ซึ่งผลงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในโครงการ สะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน
สำหรับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการวาดภาพดิจิทัล ระดับมัธยมต้น ได้แก่ เด็กหญิงศิรภัสสร ธนะโสภณ จากโรงเรียนวชิราลัย กับผลงานชื่อ “Power of Change” สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อความยั่งยืน โดยมีแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วันของโลกใบนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งถูกพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญยังนำพลังงานสะอาดมาใช้ในเรื่องของการเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืน ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เป็นของเด็กหญิงบุณยอร ทวีชาติ จากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ผลงานชื่อ “ความคิดสู่ความเท่าเทียมของชุมชน” มีแรงบันดาลใจที่ปรารถนาจะยกระดับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชนบทที่เติบโตมาให้ดีขึ้น ภายใต้โลกแห่งเทคโนโลยีและความเท่าเทียมในสังคม และรองชนะเลิศ อันดับ 2 เด็กหญิงธนากานต์ ฤทธิ์เนติกุล โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์ฯ ในชื่อผลงาน “ตึกผู้คน” ที่มีแรงบันดาลใจจากการอยากเห็นสถานที่ที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ยอมรับความหลากหลายซึ่งกันและกัน
ด้านรางวัลผู้ชนะเลิศ ระดับมัธยมปลาย และ ปวช. ได้แก่ นายกีรติ มั่งมี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ในชื่อผลงาน “s’unir (การร่วมแรงร่วมใจ)” สื่อให้เห็นความสำคัญของการศึกษาที่เป็นรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เพราะความรู้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงในห้องเรียน แต่สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัว จากสิ่งแวดล้อมในบ้าน ชุมชน และสังคม โดยการจัดการความรู้ของคนในชุมชนเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เป็นผลงานของนางสาวปาลิตา ตูปซอง โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ ในชื่อ “(ECO)nomic” มีแรงบันดาลใจจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม้จะอำนวยความสะดวกให้ผู้คน แต่กลับต้องแลกด้วยปัญหามลพิษ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดเพื่อการเกษตรจะเป็นหนทางในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และรองชนะเลิศ อันดับ 2 นางสาวนววรรณ อุนแดง โรงเรียนนวมินทราชูทิศ ในผลงานชื่อ “ยกระดับสินค้าชุมชนสู่สากลโลกออนไลน์” มีแรงบันดาลใจจากความต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้บรรลุเป้าหมายในการขายสินค้าประมงแปรรูปผ่านออนไลน์ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้คนในชุมชนอยู่ได้โดยลดค่าใช้จ่าย แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
“ผลงานของเยาวชนในโครงการ เท่อย่างไทย โดยไฟ-ฟ้า ทีทีบี ตอกย้ำผลสำเร็จในการจุดประกายเยาวชนให้ร่วมกันอนุรักษ์ความเป็นไทย ทั้งกิจกรรมการประกวดมารยาทไทย เพื่อส่งต่อคุณค่าของมารยาทไทยที่ถูกต้องสวยงามให้กับคนรุ่นใหม่ การประกวดอ่านฟังเสียง เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษาของชาติ โดยส่งเสริมให้เยาวชนสามารถอ่านออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้อง และการประกวดภาพวาดดิจิทัล ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องมือโปรแกรมต่าง ๆ ล้วนสะท้อนถึงความภาคภูมิใจและจุดประกายต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากคุณค่าของความเป็นไทยให้คงอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวมาริสากล่าวสรุป