“ซูเปอร์บั๊ก” หรือ “เชื้อดื้อยา” เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับปศุสัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูอย่างไร้สวัสดิภาพ การเลี้ยงดูอย่างแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้สัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อกลัวว่าสัตว์จะไม่สบาย คนเลี้ยงก็จะให้กิน “ยาปฏิชีวนะ” เพื่อ “กันไว้ก่อน” คนเลี้ยงจำนวนมากยังเข้าใจว่ายาปฏิชีวนะเป็น “วิตามินบำรุง” กินแล้วจะทำให้หมูไก่โตไว ได้น้ำหนัก จึงให้แบบรวมหมู่ ด้วยการผสมยาในน้ำหรืออาหารกินกันทั้งฟาร์ม เมื่อสัตว์เหล่านี้กินยาปฏิชีวนะในปริมาณต่ำ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เชื้อแบคทีเรียในตัวสัตว์จะพัฒนาตัวเองให้คงทนต่อยา พอถึงเวลาที่เจ็บป่วยขึ้นมาจริง ยาที่เคยใช้ รักษาไม่ได้ คนเลี้ยงก็ต้องเปลี่ยนยา หายาแรงขึ้น ให้กินยาเยอะขึ้น เชื้อโรคก็จะยิ่งพัฒนาตัวหนียา จนกลายเป็น “ซูเปอร์บั๊ก” ที่ยาไหน ๆ ก็เอาไม่อยู่
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า ในแต่ละปี คนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ครั้ง ในจำนวนนี้กว่า 38,000 คนเสียชีวิต สร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประเด็นสำคัญคือ ยาปฏิชีวนะที่สัตว์กิน หลายชนิดเป็นยาเดียวกับที่คนใช้กัน ดังนั้น ถ้าคนรับเชื้อมา ยาชนิดนั้นก็จะใช้รักษาไม่ได้ ทำให้อาการป่วยเล็กน้อยกลายเป็นป่วยหนัก และอาจลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิต
“เชื้อดื้อยา จากฟาร์มสัตว์ แพร่สู่คนได้หลายทาง คือ 1. คนเลี้ยงรับเชื้อโดยตรงจากสัตว์ในฟาร์ม แล้วนำไปแพร่กระจายต่อให้คนอื่น 2. เชื้อดื้อยา เล็ดลอดจากฟาร์มพร้อมกับน้ำเสีย ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และในดิน รวมถึงอยู่ในรูปของมูลสัตว์ที่ถูกนำไปใช้ต่อในภาคเกษตรกรรม 3. ผู้บริโภค เมื่อไปซื้อเนื้อสัตว์ไปก็จะมีการสัมผัสขณะปรุงอาหาร และการกิน”
ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและจริงจังในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยามาก แต่ยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ เราเสนอให้รัฐออกกฎ หมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคในสัตว์แบบรวมกลุ่ม ซึ่งหลายประเทศเริ่มประกาศใช้แล้ว ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ฟาร์มได้อย่างยั่งยืน”โชคดี เผย
ปี 2558 เวทีสมัชชาอนามัยโลกมีมติขอให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนระดับประเทศ ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกจึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และถูกตั้งข้อสังเกตว่าขาดมิติด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งจะช่วยสกัดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างได้ผล ส่วนการดูแลเพื่อให้มีการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย ก็เป็นการ “ให้รางวัล” คนทำดี แทนที่จะกำหนดเป็นมาตรการบังคับ
“นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ในปีนี้ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนแม่บทต้านเชื้อดื้อยา กรมปศุสัตว์ได้ออกมาระบุถึงความก้าวหน้าในแง่มุมด้านสวัสดิภาพสัตว์ ว่าจะมีการยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตสุกร โดยจะนำต้นแบบจากมาตรฐานสากลมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย และจะใช้เป็นแนวทางประกอบการตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร หรือ GAP เพื่อให้เป็นมาตรฐานบังคับ จากเดิมที่เป็นเพียงภาคสมัครใจ กระนั้นยังจำกัดว่าเป็นการบังคับสำหรับเฉพาะฟาร์มที่มีประชากรหมูเกินกว่า 500 ตัวขึ้นไป หรือมีแม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไปเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ย้ำถึงแนวทางการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ว่า ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ต่อสัตว์ แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยของทุกคน โดยการติดตามและผลักดันมาตรฐานการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน FARMS (Farm Animals Responsible Minimum Standard) ที่ทั่วโลกยอมรับ รวมทั้งเรียกร้องการกำหนดนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคสัตว์ในฟาร์มให้ชัดเจนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะชาววีแกน มังสวิรัติ กลุ่มกินเจ หรือคนรักเมนูเนื้อสัตว์