นักดูหนังผู้ค่อนข้างมีอายุสักหน่อยอาจได้ดูหนังอย่าง DUNE มาแล้ว เพราะในอดีตก็เคยมีการดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายขายดีมาแปรโฉมให้ปรากฏเป็นภาพในจอ ทว่านั่นก็นานโขพอสมควร ครั้นเมื่อมีโครงการจะนำมาปัดฝุ่นใหม่ หลายคนจึงตั้งตารอคอยภาพยนตร์ที่ว่ากันว่านี่คือมหากาพย์ไซไฟฟอร์มใหญ่เป้งประจำปี 2021
ความเป็นหนังที่แสดงออกบอกกล่าวเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์แห่งอนาคตกาลนับหมื่นปี ภาพในหนังเรื่องนี้จึงถือว่าท้าทายจินตนาการให้กับผู้เขียนพอสมควร ทั้งฐานทัพ หรือเรียกอีกแบบว่าอาคารสถานที่ ยานพาหะนะ หรือแม้แต่อาวุธที่นักแสดงหลายฝักหลายฝ่ายใช้ต่อสู้กันนั้น ล้วนมีความทับซ้อนกันระหว่างความ ‘ล้ำ’ กับความ ‘ล้า’ อย่างน่าทึ่ง
คือมีทั้ง ‘ถึก’ แล้วก็ ‘เจ๋ง’ ผสมผสานกันอยู่
ยกตัวอย่างง่ายๆ ได้แก่บรรดาอาคารของ ‘บ้าน’ หรือดาวแต่ละดวง ลองสังเกตนะครับว่ามันมีความถึกๆ ทื่อๆ แข็งๆ จะโบราณก็ไม่ใช่ จะล้ำยุคล้ำสมัยก็ไม่เชิง แต่ก็อย่างที่ว่า นี่กลับเป็นความลงตัวกับหนังแนวไซไฟที่พุ่งสู่อนาคตกาลนับพันนับหมื่นปี
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นหนังแห่งโลกหน้า หรือนิวนอร์มอล กลับแปลกตรงที่การเดินเรื่องของ DUNE ออกจะเนิบเนือยไปสักหน่อย ยิ่งคอหนังที่ชอบฉากแบบฉับไวไฟกะพริบอันพร้อมจะส่งเสียงซี๊ดซ๊าดแบบที่ได้เห็นในเจมส์ บอนด์ หรือเร็ว แรง ทะลุนรก คงจะต้องผิดหวังกันพอสมควร
กระนั้นหนังก็ยังชูความเด่นของ ‘พระเอก’ หรือ ‘พอล’ เด็กหนุ่มที่ซึ่งเกิดมาพร้อมกับความมหัศจรรย์โดยผ่านการรังสรรค์สร้างของยอดคุณแม่ ซึ่งแม้ดาราอย่าง ทีโมธี ซาลาเมต์ จะไม่ล้ำบึก มีกล้ามลอนเป็นริ้วๆ อย่างแดเนียล เครก หรือคีอาร์ นู รีฟ แต่ความหล่อกับเสน่ห์แอบแฝงซึ่งหลอมรวมอยู่ในความบอบบางของเขาก็คล้ายจะแบ่งเบาความโดดเด่นตั้งแต่ต้นจนจบลงไปได้ด้วยดี
เรื่องราวของ DUNE เต็มแน่นไว้ด้วยไซไฟ วิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่วายใส่ความธรรมดาสามัญอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์ลงไปด้วย อย่างหนึ่งก็คือการบอกกล่าวกันระหว่าง ‘พอล’ กับ ‘แม่’ ในฉากที่ค่อนจะวิกฤติสำหรับชีวิตของพวกเขาทั้งคู่และบริวาร
อีกฉากหนึ่งซึ่งโดยรวมแล้วไม่น่าจะถึงนาที แต่เป็นฉากเล็กๆ ที่ผู้เขียนชอบ และถึงขั้นชอบมว้ากกกก นั่นก็คือฉากชงกาแฟ
เป็นการชงกาแฟในดาวดวงหนึ่งซึ่งทุกตารางพื้นที่ไม่มีน้ำ มีแต่ทะเลทรายล้วนๆ
ในความเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็ยังมีฉากธรรมดาทว่าเรียกรอยยิ้มได้ยาวๆ อย่างประทับใจจริงๆ