การขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและเชื่อมร้อยประสานอย่างจริงจังและเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายทั้ง 3 ภาค ในการทำงานกับเด็กและครูนอกระบบภายใต้ “โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ระดับภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก” โดยการสนับสนุนของ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ประจำปี 2563 นี้ ได้สร้างให้เกิด 6 Model ใหม่แห่งการขับเคลื่อน โดยมี “Model ต้นแบบการทำงานแบบบูรณาการระดับจังหวัด” โดยกลุ่มรักษ์เขาชะเมา, มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกับ เครือข่ายครูเพื่อสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก, “Model กลุ่มเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม (เรือนจำ ทัณฑสถาน สถานพินิจ)”โดยโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ, สมาคมสหภาคีเพื่อผู้บริโภค จ.นครปฐม, “Model กลุ่มเด็กเยาวชนในภาคอุตสาหกรรม” โดยบริษัท วิสดอมแลนด์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทย กรีน ไลท์, “Model กลุ่มเด็กเยาวชนในชนบทและกลุ่มเปราะบาง” โดยสมาคมวิถีชนบท และ “Model รูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเด็กนอกระบบ” โดยเครือข่ายผู้รับผิดชอบโครงการ, มูลนิธิปฐมบรมราชานุสรณ์
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม คณะกรรมการบริหารกสศ. กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานเด็กและครูนอกระบบการศึกษาของทั้ง 3 ภาคไว้ว่า “ทำให้ทางกสศ. ได้เห็นทิศทางในการทำงาน โดยการถอดองค์ความรู้ของแต่ละพื้นที่เหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการกำหนดเชิงโครงสร้างและนโยบายในการทำงานกับเด็กและครูนอกระบบต่อไป ภาคีเครือข่ายทั้ง 3 ภาค เป็นการทำงานที่ลงไปสู่ตัวเด็กและครูนอกระบบได้เป็นอย่างดี เกิดเป็นต้นแบบและหลักสูตรในการพัฒนาเด็กและครูนอกระบบ โดยข้อมูลทั้งหมดเราจะเข้าสู่ฐานข้อมูลใหญ่ของกสศ. ต่อไป และการช่วยเหลือจะไม่ได้ทำแค่ปีเดียว แต่เราจะช่วยจนกระทั่งเด็กสามารถพัฒนาและช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงเด็กต้องหลุดกรอบจากความเป็นเด็กเปราะบาง เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส กสศ. จะนำข้อมูลเหล่านี้เพื่อสานต่อภารกิจสำคัญ เราจะทำเรื่องการศึกษาทางเลือกเป็นพันธกิจใหญ่ ทำให้มันเปิดมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดพื้นที่มากขึ้น มันจะไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือกอย่างเดียว แต่จะเป็นทางออก ทางรอด และความเท่าเทียมกับการศึกษาในระบบ และการร่วมมือกันจากทุกภาคีเครือข่ายจะทำให้เราขับเคลื่อนงานนี้ต่อไปได้”
คุณบุบผาทิพย์ แช่มนิล จาก กลุ่มรักษ์เขาชะเมา หนึ่งใน “Model ต้นแบบการทำงานแบบบูรณาการระดับจังหวัด” เล่าถึงการขับเคลื่อนงานนี้เอาไว้ว่า “การขับเคลื่อนงานเด็กและครูนอกระบบต้องอาศัยการรวมพลังกันของทุกภาคีเครือข่ายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และผู้ประกอบการ และการขับเคลื่อนนี้เป็นงานใหม่แต่จำเป็นต้องใช้ชุดประสบการณ์เดิมในการทำให้เกิดผลลัพธ์ต่าง ๆ เช่น สามารถยกระดับคนทำงานภาคประชาสังคมที่มีความหลากหลายให้กลายเป็นครูนอกระบบ, เกิดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กนอกระบบ เป็นต้น”
ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ จาก โรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ หนึ่งในองค์กรที่อยู่ใน “Model กลุ่มเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม (เรือนจำ ทัฑสถาน สถานพินิจ)” เล่าถึงการขับเคลื่อนนี้ว่า “เป้าหมายของการขับเคลื่อนงานนี้คือ เราต้องการให้เด็กเยาวชนมีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ โดยใช้การเรียนรู้การทำอาหารให้อร่อยและทำให้เป็นเพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในวันที่เด็กเยาวชนต้องออกจากสถานแห่งการเรียนรู้นี้ การทำอาหารเป็นทั้งทักษะอาชีพ ทักษะสังคม และทักษะชีวิต ทีจะทำให้พวกเขาเกิดความเข้มแข็งและยอมรับตัวเองในการออกไปใช้ชีวิตภายนอกได้อย่างมีศักยภาพ”
ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธุ์จาก บริษัท วิสดอมแลนด์ จำกัด หนึ่งในองค์กรที่อยู่ภายใต้ “Model กลุ่มเด็กเยาวชนในภาคอุตสาหกรรม” พูดถึงการทำงานด้านการขับเคลื่อนเด็กและครูนอกระบบไว้ว่า “เราทำงานขับเคลื่อนกับกลุ่มเด็กเยาวชนที่ประกอบอาชีพแรงงานในอุตสาหกรรมภาคกลางจำนวนถึง 886 คน โดยการทำงานของเราจะเน้นการสร้างทีม โดยเกิดการร่วมมือกันของคนในพื้นที่ ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ผ่านการวิเคราะห์บริบทชีวิตของเด็กเยาวชน และสำรวจความต้องการก่อนลงมือปฏิบัติ และต่อยอดสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อไป รวมถึงการฝึกฝนและเสริมความรู้ให้พวกเขา และที่ขาดไม่ได้คือการให้กำลังใจกันและกัน ซึ่งสิ่งที่เราค้นพบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไปก็คือ นวัตกรรมที่เกิดจากการทำงาน เป็นการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น เนื่องจากเด็กเยาวชนประกอบอาชีพเป็นของตนเองอยู่ แต่เมื่อเด็กได้เรียนรู้ผ่านวิทยากร ผ่านชุมน และผ่านครูพี่เลี้ยง เขาก็จะได้เห็นข้อดีและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จะนำพาเขาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้”
ดร.รัชนี นิลจันทร์ จาก มูลนิธิรวมน้ำใจ หนึ่งในองค์กร “Model กลุ่มเด็กเยาวชนในชนบทและกลุ่มเปราะบาง” ได้เล่าถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านนี้เอาไว้ว่า “เราได้ร่วมมือภาคีเครือข่ายจำนวนมากเพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กนอกระบบเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายมากที่สุด โดยเราได้ทำการวิเคราะห์ถึงประเด็นวงจรปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่คลองเตย ซึ่งก็ได้พบว่า เด็กเยาวชนมีปัญหาที่หลากหลายและแตกต่างกัน เช่น เด็กกำพร้า ยากจน เปราะบาง ท้องไม่พร้อม ไร้สถานะบุคคล ครอบครอบแหว่งกลาง และกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งเมื่อเราวิเคราะห์ปัญหาแล้วก็จะขับเคลื่อนรูปแบบการช่วยเหลือและสร้างการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพและทักษะการใช้ชีวิต โดยรูปแบบของการช่วยเหลือจะมีทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มโดยผ่านผู้นำชุมชน ซึ่งเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ เด็กเยาวชนได้ร่วมคิดร่วมทำและกล้าแสดงออกมากขึ้น คนในพื้นที่ให้การร่วมมือและสนับสนุน สร้างให้เกิดเป็นต้นแบบ นวัตกรรม หลักสูตรเฉพาะ ที่จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป”
คุณวิชาญ อุ่นอกจากเครือข่ายผู้รับผิดชอบโครงการ องค์กรหนึ่งใน “Model รูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเด็กนอกระบบ” ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ไว้ว่า “การขับเคลื่อนงานครั้งนี้ที่สำเร็จได้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และจากกระบวนการทำงานหลายส่วน ทั้งกระบวนการค้นหาเด็กและครูนอกระบบ, การพัฒนาศักยภาพเด็กและครูนอกระบบ และมีกระบวนการติดตามประเมินผล ในส่วนของการพัฒนาเด็กภายในศูนย์การเรียนรู้ โดยเป็นกิจกรรมครูข้างถนน และการพัฒนาเด็กนอกระบบจะเป็นกิจกรรมการพัฒนาอาชีพเสริมของพวกเขา ทั้งแบบรายตัวและรายกลุ่ม โดยในอนาคตก็อยากขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาของศูนย์การเรียนรู้ภายในชุมชน การส่งเสริมอาชีพแบบครบวงจร และการพัฒนากองทุนของเด็กนอกระบบให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป”
ด้าน ป้ามล-ทิชา ณ นครผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนงานครั้งนี้กล่าวเสริมว่า “อยากให้มีการส่งเสริมทักษะครูนอกระบบการศึกษาในส่วนที่เขาขาดอยู่ หรือช่วยเสริมทักษะที่เขามีอยู่แล้วให้ยกระดับสูงขึ้นไปอีก เพื่อที่เราจะได้มีเพื่อนร่วมทางในการทำงานขับเคลื่อนที่เยอะขึ้น ดียิ่งขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น”
โดยทั้ง 6 Model ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์กรภาคีเครือข่ายเหล่านี้ เป็นการทำงานโดยยึดหลักเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของแกนนำผู้ประสานงานในเครือข่ายพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและภูมิภาค ที่ทางกสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดทักษะที่หลากหลายในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยได้มีการดำเนินงานใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย 2) พัฒนากลไก ภาคี เครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และ 3) จัดทำต้นแบบ/องค์ความรู้รูปแบบการช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานของภาคีเครือข่ายด้านเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา
ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในระดับภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างคุณค่า สร้างอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้รูปแบบที่เหมาะสมต่อเด็กเยาวชนได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป