จากความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ส่งผลให้เกิดประโยชน์กับประเทศในวงกว้างทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม
กฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ จัดทำขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ การดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติ และทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูงมาสู่บุคลากรภายในประเทศไทย การสร้างเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) จึงเป็นมิติใหม่ที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก หรือแม้แต่สตาร์ทอัพให้ความสนใจ
งาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 ได้หยิบยกประเด็นนี้มาเป็นหนึ่งในหัวข้อเสวนา เรื่อง “การพัฒนาธุรกิจด้านเศรษฐกิจอวกาศในไทย” โดย คุณเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บมจ.ไทยคม ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอวกาศของประเทศ ได้ให้มุมมองของการสร้างเศรษฐกิจอวกาศในไทยว่า สามารถเกิดได้เนื่องจากปัจจุบันกิจการอวกาศใช้เวลาในการสร้างไม่นาน และใช้เงินทุนไม่มากนัก
โดยระบบนิเวศกิจการอวกาศของไทยให้บริการอยู่ 2 ภาคส่วน คือ B2B (Business-to-Business) ให้บริการกับองค์กร และ B2C (Business-to-Consumer) ให้บริการกับผู้ใช้บริการทั่วไป โดยบริการของกิจการอวกาศสามารถเกิดได้ 2 ทาง คือ 1) ผู้ผลิตอยากสร้าง 2) ประชาชนต้องการใช้ ซึ่งไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน หากไม่ตอบโจทย์ทั้งสองทางก็ไม่เอื้อให้ไปต่อได้
ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจอวกาศแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ 1) Upstream ธุรกิจสร้างดาวเทียม สร้างจรวด และยิงดาวเทียมเอง ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถไปถึงจุดนี้ได้ 2) Downstream การออกแบบดาวเทียมแล้วไปจ้างคนอื่นผลิต และจ้างยิงจรวด แต่สามารถพัฒนาระบบด้านล่างเพื่อให้บริการสัญญาณดาวเทียมผ่านทีวี หรือให้บริการอินเตอร์เน็ตได้ ซี่งดาวเทียมของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และ 3) End users ผู้ใช้งานที่มีทั้งผู้ใช้งานทั่วไป และหน่วยงานองค์กรภาครัฐ-เอกชน
สำหรับ Space Application ที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้ภายใน 5-10 ปี มี 3 เรื่อง คือ 1) Broadband และ Broadcast การสื่อสารคมนาคมด้วยดาวเทียมค้างฟ้าเหมาะกับการให้บริการแบบเจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทำให้ต้นทุนในการดำเนินการถูกลง หรือดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นการยิงดาวเทียมเล็กๆ หลายหมื่นดวงโดยออกแบบเป็นใยแมลงมุงไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันจานดาวเทียมมีราคาที่ไม่แพงทำให้สร้างเป็นธุรกิจได้ง่าย 2) Remote Sensing หรือ บิ๊กเดต้า (Big Data) คือ การส่งดาวเทียมขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นไปถ่ายภาพเพื่อนำข้อมูลมาใช้ เช่น การเกษตรใช้สำหรับเช็คว่าพื้นที่จังหวัดนี้จะมีข้าวออกเดือนละกี่ตัน หรือหากเกิดโรคพืชจะต้องป้องกันอย่างไร ฯลฯ และ 3) IoT การเอาตัวชี้วัดไปวางไว้ตามจุดที่ต้องการติดตาม ควบคุม ตรวจสอบ แล้วส่งข้อมูลไปดาวเทียมเพื่อนำข้อมูลมาใช้ เช่น การแทร็ครถบรรทุก รถไฟ หรือเรือ เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าไปถึงจุดใดแล้ว
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจดาวเทียมไทยเติบโตได้เร็ว คือ 1) ดาวเทียมรุ่นใหม่มีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกลง 2) สามารถเคลื่อนย้ายการให้บริการได้ทำให้เกิดความสะดวก 3) ต้นทุนจรวดถูกลง 4) ดาวเทียมสามารถทำเป็นดวงเล็กๆ ได้ ราคาจึงไม่แพง 5) จานรับสัญญาณมีราคาที่ถูกลงทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ และ 6) ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาพัฒนาต่อโดยใช้เทคโนโลยี AI และ Blockchain
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การสร้างเศรษฐกิจอวกาศเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ไทยต้องเตรียมพร้อม คือ ต้องพัฒนาคนหรือสร้างให้เกิดคนที่มีอินโนเวชั่น รัฐบาลต้องมีนโยบายสร้างให้เกิด Ecosystem ภาคเอกชนเองก็ต้องพร้อมเข้ามาลงทุนเพื่อให้เกิดการบริการ และต้องมีเงินจากแหล่งเงินทุนเข้ามาสนับสนุน
ติดตามชมเสวนาออนไลน์จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021” ภายใต้แนวคิด “DEEPTECH RISING…The Next Frontier of Innovation” การยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก...นวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคตที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กันยายนนี้ ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th