xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อจีน “แบน” ไอดอลหนุ่มหวาน สะท้านมาถึงบันเทิงเกาหลี-ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรียกว่าเป็นประเด็นร้อนและแรงที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้ก็ว่าได้

ต่อกรณีที่ “หน่วยงานด้านการดูแล และควบคุมสื่อของจีนแผ่นดินใหญ่” มีคำสั่งให้จัดระเบียบคอนเทนต์ทั้งหลายทั้งปวงที่เผยแพร่ในประเทศจีนครั้งยิ่งใหญ่

โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่การ “แบน” นักแสดงผู้ชาย ที่มีบุคลิกลักษณะหวานๆ ใสๆ ดูแล้วก้ำกึ่งว่าจะไม่แมนเต็มร้อย

แม้จะพยายามใช้คำเลี่ยงอย่างสุภาพว่า “เพื่อการส่งเสริมความงามตามมาตรฐาน”

แต่ก็หลีกเลี่ยงไมได้ว่าเป้าประสงค์หลักของนโยบายดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการปิดเส้นทางการทำงานในวงการบันเทิงของเหล่านักร้อง-นักแสดง ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดต้องห้ามดังกล่าว เพราะถูกมองว่าบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะหรือพฤติกรรมที่ว่า ถือเป็น “ภัยคุกคามต่อสังคม”

นโยบายจัดระเบียบครั้งนี้ ไม่ได้กระทบแค่นักแสดง นักร้อง หรือไอดอลในจีน

แต่ยังส่งผลกระทบที่สะท้านสะเทือนขนานใหญ่ ต่อการ “ส่งออก” ของธุรกิจบันเทิงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง อย่างเกาหลี รวมไปถึงบันเทิงไทยบ้านเราเช่นกัน

ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดกับฝั่งเกาหลีตอนนี้เริ่มสำแดงให้เห็นกันแล้ว กับวงบอยแบนด์ชื่อดังอย่าง BTS


มีรายงานว่าตอนนี้กลุ่มแฟนคลับ“Jimin Bar” ซึ่งเป็นแฟนคลับกลุ่มใหญ่ของจีนที่สนับสนุน “จีมิน” แห่งวง BTS ก็เจอบทลงโทษจาก Weibo (อ่านว่า เวยป๋อ หรือ เวยโป๋ ซึ่งเป็นสื่อ social media เจ้าใหญ่ในจีน ที่มีการผสมผสานระหว่าง Facebook และ Twitter) ด้วยการสั่งแบน มิให้กลุ่ม “Jimin Bar” โพสต์ข้อความใดๆ เป็นเวลาถึง 60 วัน โทษฐานที่มีการเปิดระดมทุนบริจาคในแคมเปญฉลองวันเกิดอายุครบ 26 ปีของ “จีมิน“ ในวันที่ 13 ต.ค. ซึ่งสามารถระดมทุนได้มากถึง 1 ล้านหยวน หรือประมาณ 5 ล้านบาทภายใน 3 นาที และรวบรวมได้ทั้งหมด 2.3 ล้านหยวน หรือประมาณ 11.5 ล้านบาท ได้ภายใน 1 ช.ม. และนำเงินที่รวบรวมได้ไปซื้อโฆษณากับสายการบิน Jeju Air ของเกาหลีใต้ เพื่อสกรีนภาพไอดอลหนุ่มขวัญใจลงบนตัวเครื่องบิน และยังรวมไปถึงการซื้อโฆษณาใน New York Times ของอเมริกา และใน The Times ของอังกฤษ ในวันเกิดของ “จีมิน” ด้วย


นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ประเทศแรก ที่มีการต่อต้านวง BTS ด้วยข้อหาที่ถูกมองว่าเป็นศิลปินที่ให้การสนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

ก่อนหน้านี้โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในประเทศรัสเซีย ก็เคยปฏิเสธไม่รับพิมพ์งานจำพวกโปสการ์ด, แบนเนอร์ และอื่น ๆ ของ BTS ที่ร้านกาแฟธีม K-Pop ในภูมิภาคอูราล ประเทศรัสเซีย ชื่อว่า PinkyPop Café ตั้งใจพิมพ์ออกมาเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบวง BTS โดยเฉพาะ


ต่อมาก็กรณีที่ประเทศปากีสถาน ที่สั่ง “ปลดป้ายโฆษณา” ที่แฟนคลับลงทุนซื้อและติดตั้งไว้ที่กุชรันวาลา เมืองอุตสาหกรรมทางทิศเหนือ-ตะวันออก ในจังหวัดปัญจาบ เพื่ออวยพรวันเกิดให้กับ “จองกุก” อีกหนึ่งสมาชิกของวง BTS ด้วยเหตุที่กลุ่มเคร่งศาสนามองว่าเป็นป้ายที่ส่งเสริมพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล


ส่วนที่บ้านเรา แน่นอนว่าคอนเทนต์ที่เจอผลกระทบมากสุด ก็หนีไม่พ้น “ซิรี่ส์วาย” ซึ่งถือเป็นคอนเทนต์ “ส่งออก” ที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย

เป็นที่รู้กันว่า “ซิรี่ส์วาย” ไมได้โด่งดังแค่ในบ้านเรา แต่แฟนคลับของประเทศเพื่อนบ้าน ก็คลั่งไคล้คู่วายของเราไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่จากที่เคย “นำเข้า” ไปฉายในประเทศ ก็พัฒนามาสู่การร่วมทุนกับผู้ผลิตในไทยเพื่อสร้างซิรี่ส์วายไปออกอากาศที่นั่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แม้กระทั่งที่จีน ขนาดว่าค่อนข้างจะเข้มงวดในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นตลาดที่ให้ความสนใจกับซิรี่ส์วายของไทยไม่น้อยทีเดียว
โดยมีแฟนคลับกลุ่มใหญ่ที่สถาปนาตัวว่าเป็น “แม่จีน” ติดตามดูผลงานในลักษณะ “ใต้ดิน” ด้วยเหตุที่รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนในการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ขณะที่ผู้ผลิตซีรีส์วายของไทย ก็แก้เกมด้วยการพลิกกลยุทธ์มาเป็นการ “ส่งออก”    คู่จิ้นไปเดินสายโปรโมท หรือทำกิจกรรมบันเทิงเพื่อเอาใจแม่จีนแทน


แต่เพลานี้เมื่อมีมาตรการเข้มข้นออกมาขนาดนี้ ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าแม้แต่กลยุทธ์การ “ส่งออก” คู่จิ้นก็น่าจะไม่สามารถทำได้แล้ว
อีกหนึ่งธุรกิจบันเทิงที่น่าจะกระทบก็คือ บริษัท Insight ที่เป็นเอเย่นต์อย่างเป็นทางการแต่เพียงผ็เดียวในการส่งเด็กไทยไปร่วมประกวดในรายการ Chuang การเฟ้นหาดาวดวงใหม่เพื่อเดบิวต์เป็นศิลปินในประเทศจีน เพราะพิมพ์นิยมของเด็กไทยที่สามารถจะส่งไปฟาดฟันกับคู่ต่อสู้บนเวทีนี้ได้ ก็หนีไม่พ้นเด็กหนุ่มหน้าตาดี ผิวพรรณดี ออกแนวหล่อใส ซึ่งก็ตรงกับคุณลักษณะที่ “ต้องห้าม” ของจีนในตอนนี้


พูดง่ายๆ ว่าผลกระทบจากการที่จีนประกาศจัดระเบียบคราวนี้ ช่างมหาศาลสะท้านสะเทือนกันข้ามประเทศเลยทีเดียว !!!

ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 กันยายน 2564



กำลังโหลดความคิดเห็น