xs
xsm
sm
md
lg

40 ปี "ขายหัวเราะ" มุกเก่าเล่าใหม่ทำไมยังนิยม? ลูกสาว "บก.วิธิต" มีคำตอบ...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกจากมุกติดเกาะ โจรมุมตึก ผีกระสือ ฯลฯ หนึ่งมุกตลกที่เชื่อว่าคนอ่านการ์ตูน ขายหัวเราะ, มหาสนุก คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก็เห็นจะเป็นมุกที่เกี่ยวกับตัว "บก.วิธิต" และบรรดาลูกๆ ของเจ้าตัวนั่นเอง

วันนี้แม้ในหนังสือการ์ตูนจะยังคงไว้ซึ่งภาพคาแรกเตอร์ในความเป็นเด็ก ทว่าในโลกความจริงทั้ง 5 ได้เติบโตเป็นสาวเป็นหนุ่มกันหมด ขณะที่หนึ่งในนั้นก็ได้รับไม้ต่อจากคุณพ่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารอาณาจักรสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

"บก.วิธิต เขามีลูก 5 คนแรกคือ พิมพ์พิชา อุตสาหจิต (นิว) เป็นลูกสาวคนโต แล้วก็มีน้อง ภาดารี อุตสาหจิต (นาว) เป็นน้องสาวนิว และสุดท้ายเป็นแฝด 3 มีผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 1 คน ชื่อ ภีมเดช อุตสาหจิต (เนม), ภีมธัช อุตสาหจิต (น็อบ), ภีมนิดา อุตสาหจิต (แนตตี้)"

คำบอกเล่าจาก "นิว พิมพ์พิชา อุตสาหจิต" กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป และทายาทคนโตของ บ.ก. วิติ๊ด (วิธิต อุตสาหจิต) แห่ง "ขายหัวเราะ" ก่อนที่เจ้าตัวจะบอกเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กเมื่อเห็นตัวเองในรูปแบบการ์ตูนตั้งแต่ยังเด็กว่า...

"ตอนที่เราเห็นตัวเองในการ์ตูน ตอนนั้นเราก็ไม่รู้นะว่าคืออะไร หรือตอนที่คุณพ่อทำต้นฉบับเราก็ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนออฟฟิศอื่นเขาก็ทำแบบนี้เหมือนกัน คือไม่ได้สนใจด้วยว่าเป็นออฟฟิศใคร คือเราก็คิดว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นเหมือนพนักงานทั่วๆ ไป"

"จนพอโตมาเราถึงเพิ่งรู้ว่า อ๋อ ของเราคือทำการ์ตูน คุณพ่อคุณแม่เหมือนเป็นหัวหน้า เหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจนี้ แล้วก็ไม่ใช่ทุกๆ บริษัทบนโลกนี้ที่เขาทำแบบนี้เหมือนกัน แล้วการที่เราเป็นการ์ตูนมันพิเศษ คือไม่ใช่ทุกคนที่สามารถอยู่บนปกการ์ตูน หรือมีคาแรกเตอร์ของตัวเองในการ์ตูนได้"



ตอนเด็กๆ ฝันอยากจะเป็นอะไร?
"ก็มีความคิดว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เคยเขียนต้นฉบับเองตอนเด็กๆ เคยวาดรูป แล้วมันเป็นรูปที่ไม่ค่อยสวย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เขาก็ยังเก็บลายเส้นที่นิวเขียนไว้ตอนเด็กๆ เลย ตอนนั้นเขียนเลียนแบบพี่ต่าย เพราะเราชอบมากเลยอยากลองดู แล้วอยากช่วยคุณพ่อทำงาน"

"แต่พอโตขึ้นมาตามวัยอาชีพก็เปลี่ยนตามวัย อยากเป็นนู่นเป็นนี่ บางทีก็อยากเป็นคุณครูเพราะชอบเด็ก อยากไปอยู่ต่างประเทศ หลายอย่างมากค่ะ"

แล้วเคยคิดมั้ยว่าเราจะต้องมาดูแลธุรกิจครอบครัว?
"คือตอนเด็กๆ ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่นิวเป็นคนทำงาน ซึ่งเขาเอาเราไปเลี้ยงที่ออฟฟิศตลอดเวลา นิวก็เลยเหมือนซึมซับเรื่องพวกนี้ แล้วเขาก็เทรนด์ให้เราช่วยงานในออฟฟิศตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งตอนเด็กก็ช่วยถือเอกสาร พอโตมาก็ได้ทำงานซับซ้อนขึ้นใช้สกิล(skill)ทางด้านสตอรี่เทลลิ่ง (Storytelling) การสื่อสาร"

"มันก็ซึมซับมาเรื่อยๆ แล้วกลายเป็นความชอบ เราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องมาทำงานธุรกิจครอบครัวเท่านั้น เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่เขาไม่เคยบังคับเลยว่าลูกต้องมาช่วย แต่เหมือนเราถูกวางมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ส่วนหนึ่ง แล้วความชอบของเราด้วยส่วนหนึ่ง เราก็เลยเลือกเรียนแล้วก็เลยกลับมาช่วยคุณพ่อคุณแม่"

นับตั้งแต่ที่คุณพ่อทำ "ขายหัวเราะ" เล่มแรก ตอนนี้ผ่านมากี่ปีแล้ว
"40 กว่าปีค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ในยุคนั้น เหมือนสมัยนั้นการ์ตูนมันจะเป็นวันแมนโชว์ ไม่ได้เป็นแบบรวมนักเขียนหลายๆ คน แล้วก็ไม่ได้เป็นการ์ตูนสั้นๆ อันนี้คุณพ่อเขาก็ดูจากของต่างประเทศด้วยแล้วเอามาผสมผสานรสนิยมแบบไทยๆ"

"แล้วคุณพ่อเองเขาเรียนจบมาด้านภาพยนตร์จากที่ลอนดอน ตัวท่านเองเขามีมุมมองทางด้านภาพยนตร์ ทางด้านภาพด้วย ก็เลยทำให้เหมือนขายหัวเราะในยุคนั้นเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก แต่คุณพ่อนิวเขาเป็นคนที่มีความเป็นศิลปินสูง ไม่ใช่คนที่คาดหวังต้องโด่งดังมีชื่อเสียง"

"ก็เลยตลกมากคนที่อยากได้ขายหัวเราะเล่มแรกๆ ทางนี้มีไม่ครบนะค่ะ ต้องไปขอนักสะสม เพราะคุณพ่อนิวไม่ได้เก็บ เขาไม่คิดว่ามันจะประสบความสำเร็จ ขายหัวเราะเล่มแรกๆ เหมือนไม่มีเลขฉบับ เพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีฉบับถนัดไปหรือเปล่า"

เคยถามคุณพ่อเสียดายมั้ยที่ไม่ได้เก็บ..."เขาก็คงเสียดาย เหมือนเราทำอะไรไม่ได้มันก็ผ่านมาแล้ว นิวเข้าใจคุณพ่อในยุคนั้น คือคุณพ่อเขาเป็นคนทำงาน คืองานต้องออกมาให้ดีที่สุดให้แฟนๆ ชอบที่สุดแค่นั้นเขาก็พอใจแล้ว เขาคงไม่คิดว่าต้องมาเก็บแล้วโชว์ให้ใครดู"


ตอนที่เข้ามารับไม้ต่อรู้สึกหนักใจมั้ย?
"คือช่วงที่นิวเข้ามารับไม้ต่อก็ไม่ได้ช่วงที่ง่าย อย่างธุรกิจสื่อ ธุรกิจคอนเทนต์ ก็เป็นช่วงที่โซเชียลมันเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เหมือนโมเดลสมัยก่อนไม่สามารถใช้กับยุคนี้ได้ทั้งหมด เลยคิดว่ายิ่งถ้าเราเข้าใจมันเร็วเท่าไหร่ ทำงานกับทีมได้ไวเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบในด้านของเงื่อนไขเวลา"

"เพราะว่าเรื่องของการทำธุรกิจสื่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ถ้าคุณช้าต่อให้คอนเทนต์คุณดีก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จ เลยรู้สึกว่าเวลาเป็นอะไรที่สำคัญมาก อยากจะเข้ามาให้เร็วที่สุด ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ช่วงนั้นถ้าเกิดเขาไม่สอนแล้ว เรายิ่งต้องพยาบามทำให้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังดีว่าท่านยังแชร์ประสบการณ์อยู่ ทุกวันนี้คุณแม่ก็ยังช่วยอยู่เยอะ คุณพ่อก็เป็นที่ปรึกษา"

ในช่วงที่สื่อสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่มีปัญหาจากการเข้ามาของสังคมออนไลน์ ทางนี้โดนวิกฤติขนาดไหน?
"ถ้าในส่วนที่เป็นพริ้นติ้งก็หดตัวตามสภาพ ซึ่งนิวเชื่อว่าทุกคนในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์คงได้ผลกระทบกันหมดเลย และสิ่งที่เราควบคุมสถานการณ์ภายนอกไม่ได้ก็คือ เทคโนโลยีหรือพฤติกรรมคนที่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือการปรับตัว แล้วดูว่าสถานการณ์อะไรที่ปรับแล้วมันดีที่สุด"

"อย่างขายหัวเราะการเข้ามาของโซเชียลเป็นภัยต่อเรามั้ย มันทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หดตัวลงมั้ย นิวมองว่าคนไม่ได้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง แต่คนมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งจากเดิมเทคโนโลยีไม่ได้ก้าวไกลมาก เพราะฉะนั้นคนก็อ่านขายหัวเราะจากหนังสือ"

"แต่ปัจจุบันเหมือนมีอย่างอื่นที่มาดึงดูดความสนใจเขา สิ่งที่เราทำได้คือขายหัวเราะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเผื่อที่ว่าคนอ่านไปอยู่ที่ไหน เราก็จะได้ไปอยู่กับเขาได้ทุกๆ ช่องทางในชีวิตประจำวัน โอเคคุณอ่านหนังสือน้อยลง แต่คุณไปอยู่ในโซเชียล คุณชอบเฟซบุ๊คก็จะเจอเราในเฟซบุ๊ค"

"คุณชอบแอพพลิเคชันเราเองก็มีแอพพลิเคชันให้คุณเหมือนกัน หรือถ้าคุณจะดูซิทคอมออนไลน์หรือจะดูภาพยนตร์ รวมถึงคุณใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราก็เอาคาแรกเตอร์ของเราไปอยู่กับแบรนด์ต่างๆ มากมาย...รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสให้เราได้เติบโตด้วย คือทุกปัญหาที่เจอหรือมีการเปลี่ยนแปลง คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้เราเติบโตมากกว่า ต้องมองในมุมนั้นเราจะได้มีแรงในการทำงานต่อไป"


แสดงว่าไม่ยึดติดเพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่าสักวัน "ขายหัวราะ" ในรูปเล่มก็อาจจะไม่มีก็ได้?
"นิวมองว่าเป็นไปได้ เพราะก็คิดทุกวันเลยว่าขายหัวเราะมันไม่ได้เป็นการ์ตูนมาตั้งนานแล้ว เรามองว่าขายหัวเราะเป็นแบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สร้างให้คนอ่านได้สร้างความสุขในทุกๆ ช่องทางของเรา เพราะฉะนั้นมันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นการ์ตูนเท่านั้น ต้องเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ขายหัวเราะไปอยู่ในทุกโลกเลย"

"ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ หรือโลกของการแพทย์เราก็เอาสื่อขายหัวเราะไปเยียวยาคนป่วยผ่านอารมณ์ขันได้ โลกของการศึกษา อย่างการ์ตูนของเราก็ได้รับเกียรติได้เป็นพรีเซอร์เตอร์ขององค์กรต่างๆมากมาย หรือว่าช่วยเผยแพร่ให้ความรู้ต่างๆ กับเด็ก อย่างหนูหิ่นก็เป็นพรีเซนเตอร์ของสถาบันการเงิน"

"เพราะทุกคนรู้สึกว่าถ้าเล่าผ่านการ์ตูน เล่าผ่านคาแรกเตอร์มันเป็นอะไรที่เฟรนด์ลี ถ้าปังปอนด์ หนูหิ่น แบรนด์ขายหัวเราะเล่าได้เขาก็น่าจะเข้าใจได้เหมือนกัน มันน่าจะสนุก เขาก็เปิดใจยอมรับมากกว่า เพราะธุรกิจแบรนด์ขายหัวเราะจริงๆ แล้วไม่มีขีดจำกัด เราสามารถอยู่ได้กับทุกสื่อ"

เหมือนจะเป็นข้อดีเสียด้วยซ้ำไป?
"คือข้อดีของออนไลน์อย่างหนึ่งคือเราสามารถได้รับฟีดแบกของคนทันที อย่างขายหัวเราะจากที่เป็นเล่มมันดีในแบบที่ว่า ถ้าเนื้อหาดีคนก็อยากสะสม แต่ในออนไลน์เราได้ใกล้ชิดคนอ่านเลย มันสนุกตรงที่ว่าลงอันนี้ไปแล้วคนอ่านเข้ามาตอบมุกกับเรา แล้วเวลาเขาชอบหรือไม่ชอบอะไรเขาจะบอกเรา"

"คือการที่เราพาตัวเองออกไปจากโลกตัวการ์ตูนหนังสือ ไปอยู่ตามช่องทางต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสือก็ดีตรงที่เราได้พบเจอคนอ่านมากขึ้น ได้เข้าใจเขามากขึ้น ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ อย่างตัวแฟนเพจของขายหัวเราะกับตัวการ์ตูนเล่มลักษณะของตัวแฟนคลับก็ไม่เหมือนกัน"

"ของการ์ตูนเล่มแฟนคลับจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ อย่างในเฟซบุ๊กก็เป็นกลุ่มคนอายุน้อยลงด้วย หนังสือจะอยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนคนวัยทำงานหรือวัยรุ่นจะอยู่ในออนไลน์เยอะ คือขายหัวเราะนิวมองว่ามันอยู่ได้ทุกที่แล้วเขากับทุกเพศทุกวัย"


ทำไมมุกเดิมๆ ในการ์ตูน ประเภท คนติดเกาะ, โจรมุมตึก ฯลฯ ถึงยังขายได้อยู่?
"อย่างแรกคิดว่ามันเป็นเรื่องของความผูกพัน เพราะคนโตมาเขาจะคุ้นเคยกับขายหัวเราะในรูปแบบนี้ สองคนเขียนเราเป็นทรัพยากรณ์ที่ดีมาก เป็นงานที่สร้างสรรค์เป็นทรัพยากรณ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะฉะนั้นแค่เกาะๆ เดียวเราสามารถเล่นเป็นหมื่นๆ แสนๆ เรื่องที่ไม่ซ้ำกันเลยฉะนั้นมันก็เลยอยู่ได้"

"ส่วนที่สามเรื่องของเราแต่ละตอนเราอยากให้มันอิงรสนิยมของคนไทย ซึ่งด้วยซีนเดิมเราสามารถครีเอทได้หลากหลายมาก อย่างตอนสามีภรรยา นิวเชื่อว่าสามีทุกคนก็น่าจะอิน จริงๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคนอ่านคนชมว่ามันยังสนุกอยู่ยังชอบอยู่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมยังอยู่ได้"

ย้อนกลับไปนิดนึง ตอนที่เห็นภาพการ์ตูนคุณพ่อโดนล้อ เช่น ถือกระบองทวงต้นฉบับรู้สึกยังไง?
"ก็ตลกดีค่ะ เหมือนคนอ่านน่าจะอินด้วย เหมือนหลายๆ คนที่เป็นมนุษย์ทำงานเหมือนกัน เขาก็น่าจะมีความสัมพันธ์ของตัวเจ้านายกับลูกน้อง แก๊กนี้มันเวิร์คเพราะคนเข้าใจได้ ซึ่งตัวคุณพ่อเองดันเป็นเหมือนมาสคอตของตัวขายหัวเราะด้วย"

"แล้วเวลาที่นักเขียนทุกคนล้อ แฟนๆ ก็เลยรู้สึกอาจจะเอ็นดูอยากร่วมล้อด้วยว่า บก.วิธิต เป็นคนแบบนี้หรอ...(เคยเห็นพ่อในในมุมโหดๆ กับนักเขียนมั้ย?) ถ้าในมุมนิวเอง ตั้งแต่นิวเข้ามาทำงานนิวไม่เคยเห็น (หัวเราะ) เราก็ไม่เห็นคุณพ่อโหดกับใครนะค่ะ"

"ปกติคุณพ่อเป็นคนสุภาพ แล้วคุณพ่อเป็นคนขี้เกรงใจคน เป็นคนให้เกียรติคน ตัวจริงคงไม่ได้โหดแบบในการ์ตูนแบบถือค้อน...คนอื่นมุมที่คนอื่นเห็นว่า บก.ดุ ตัวจริงเขาไม่ดุเลย แต่เขาเป็นคนที่จริงจังกับการทำงาน ส่วนในบทบาทของการเป็นพ่อเขาเป็นคนที่น่ารักมาก"

อยากให้พี่ๆ นักเขียน เขียนภาพเราตอนโตแล้วมีคาแรกเตอร์แบบคุณพ่อบ้างมั้ย?
"ไม่เลย (หัวเราะ) นิวรู้สึกว่าคาแรกเตอร์เป็นอะไรที่ควรคงไว้ เพราะตอนนิวเด็กๆ ก็น่ารักอยู่แล้ว แฟนๆ จำได้อยู่แล้ว และในโลกของคาแรกเตอร์อย่างดิสนีย์เขาก็ไม่ได้เติบโตมาก คือไม่ได้เน้นการเปลี่ยนแปลงของคาแรกเตอร์ในแง่ของกายภาพ แต่เน้นในการเติบโตของอารมณ์ นิวรู้สึกว่าของนิวก็เหมาะกับแบบนั้นเหมือนกัน"

ตอนนี้ "ขายหัวเราะ" มีอะไรที่อยากทำ อยากจะเปลี่ยนแปลงอีกมั้ย?
"ก็ยังอยากทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อยากจะเข้าหากลุ่มต่างๆ มากขึ้น แล้วก็อยากไปในหลายๆ ช่องทางมากขึ้น ก็อยากให้ติดตามชมว่าในปีหน้าขายหัวเราะจะมีอะไรใหม่ๆ บ้าง ก็มีคุยกันไว้บ้างแล้วก็น่าจะเป็นโปรเจ็กต์ที่สนุก และในเมื่อเสียงหัวเราะเป็นภาษาสากล ทุกคนในโลกหัวเราะไปด้วยกันได้"

"ซึ่งในอนาคตขายหัวเราะสามารถได้ไปในประเทศอื่นๆ หรือไปสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่นๆ ทั่วโลก นิวก็อยากจะพาแบรนด์ของเราให้ไปถึงจุดนั้นเหมือนกัน ก็อยากให้แฟนๆ ทุกคนเป็นกำลังใจให้กับแบรนด์ขายหัวเราะ เราก็อยากอยู่สร้างเสียงหัวเราะให้คนไทยต่อไปอย่างที่เคยสร้างมาแล้ว..."



กำลังโหลดความคิดเห็น