xs
xsm
sm
md
lg

“อั๋น ภูวนาท” โพสต์ชวนคิด ใครกันแน่เสือนอนกิน! เทียบการเยียวยาแบบวิน-วิน ฟู้ดเดลิเวอรี่ ไทย-ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้อนรับมาตราการคลายล็อกดาวน์วันแรก ด้วยโพสต์แซ่บๆ ชวนใช้ความคิด ของพิธีกรหนุ่มฝีปากกล้า “อั๋น ภูวนาท คุนผลิน” ที่ล่าสุดเมื่อวานนี้ (31ส.ค.64) ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่หลายคนอาจจะคิดว่า เจ้าของแพลตฟอร์มทั้งหลายนั้นแหละ ได้รับประโยชน์ รวยเป็นเสือนอนกินอยู่คนเดียว ในสถานการณ์โควิด-19 ที่คนออกไปไหนไม่ได้ 

โดยยกมาตรการที่รัฐบาลต่างประเทศ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม ทั้งไรเดอร์ และลูกค้า ในเรื่องค่า GP ด้วยการแบกรับภาระส่วนนี้ให้ มาเทียบกับมาตราการช่วยเหลือของประเทศไทย ที่กลับขอให้เจ้าของแพลตฟอร์มเป็นผู้ลดค่า GP ให้ร้านค้าเอง

ซึ่งงานนี้เจ้าตัวก็ได้ทิ้งท้ายชวนให้คิด บอกว่ายิ่งศึกษา ยิ่งเข้าใจ ก็ยิ่งสงสัย หรือว่าเสือนอนกินใจดำตัวจริง อาจไม่ใช่ใครที่ใส่เสื้อกั๊ก.. แต่เป็นคนใส่เสื้อสูทผูกไทด์ที่ไม่ค่อยทำอะไรที่ควรจะทำ เพื่อช่วยคนไทยมากกว่า

“ภูวนาท จ๋าอยากกินสเต๊กร้านนี้มากเลย แต่ค่าส่งตั้ง 200 กว่าบาท เห็นราคาแล้วโกรธเลย มันเวอร์ไป ไม่กินละ!” เสียงของภรรยาที่เคารพนี้ ลอยผ่านหูผมไปหลายชั่วโมงแล้ว แต่ยังติดค้างอยู่ในใจผมจนตอนนี้

ผมนั่งมองดูโลกวันนี้กับวิถีชีวิตใหม่ที่อาจจะอยู่กับเราไปตลอดกาล วันที่ ‘บ้าน’ นอกจากกลายเป็น ‘ที่ทำงาน’ ยังแปลงร่างเป็น “ร้านอาหาร” จำเป็นไปแล้วด้วยนั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยฟู้ดเดลิเวอร์รี่สารพัดสี และไรเดอร์จำนวนมหาศาลเฉียดครึ่งล้านทีเดียว

เกือบจะไม่มีวันไหนเลยที่เราไม่ได้ใช้บริการ App ส่งอาหารเหล่านี้ แต่แปลกไหม ทั้งที่เราควรจะรู้สึกใกล้ชิดสนิทใจกับพวกเขาทั้งหลายมากมาย แต่ลึกๆ กลับกลายเป็นว่าบ่อยครั้งเรารู้สึกกำลังถูกเอาเปรียบกับค่าส่งที่ถูกชาร์จแพงอย่างที่คุณภรรยาที่เคารพของผมรู้สึก

ซึ่งจะว่าไปไม่ใช่แค่คนสั่งหรอกนะที่รู้สึกแบบนี้ คนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งเองก็มีไม่น้อยที่คิดเหมือนกัน ในขณะที่ฝั่งร้านอาหารเองก็รู้สึกเหมือนโดนขูดเลือดขูดเนื้อจากค่า GP ที่ถูกเรียกเก็บร่วม 30%

บริษัทฟู้ดดิลิเวอร์รี่พวกนี้เสือนอนกินชัดๆ โคตรเอาเปรียบเลย รวยอยู่คนเดียวน่ะสิ!!!

ตลกไหมถ้าผมจะบอกว่า เกือบจะทุกบริษัทกำลังขาดทุนอย่างหนักเช่นกัน แต่มันคือเรื่องจริง!

ในภาวะโควิดธุรกิจอัมพาตนี้ ร้านอาหารเกือบจะเป็นลมหายใจสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังยอมใช้จ่ายกับเรื่องนี้กันอยู่ แต่กลับไม่มีคนรู้ว่าระบบนิเวศน์นี้กำลังแข่งขันกันอย่างหนัก จากการฟาดฟัน แย่งกันลดแลกแจกแถม ส่งฟรีตัดราคาห้ำหั่นกันหน้ามืด

เคยสงสัยกันไหมว่า อ้าวก็ถ้าส่งฟรีแล้วพี่ Grab พี่แพนด้า พี่ลาล่า หรือแม้แต่ Lineman เขาจะหาเงินจากไหนมาเป็นรายได้กันละ แอปไฮเทคสะดวกสบายแค่ปลายนิ้ว พนักงานมากมายที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังอีกมหาศาล สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องลงทุน แล้วไรเดอร์ที่ไหนเขาจะยอมวิ่งส่งให้คุณฟรีๆ สะสมแต้มเป็นบุญบารมีไว้อิ่มท้องในชาติหน้ากันงั้นหรือ

ไม่มีของฟรีในโลก ทุกอย่างมีต้นทุนครับ

คำตอบก็อยู่ที่ค่า GP ที่ร้านอาหารต้องยอมจ่ายหลายสิบเปอร์เซ็นต์นั่นไง ที่ทางแอปใช้เอาไปจ่ายเป็นค่าส่งให้ไรเดอร์แทนลูกค้า ซึ่งลองคิดดูดีๆ บางทีซื้อน้ำแก้วสองแก้ว ค่า GP ยังได้น้อยกว่าค่าส่งที่ต้องให้ไรเดอร์ซะอีก และนั่นคือคำอธิบายแบบเห็นภาพได้ง่ายๆ เลยว่าทำไมแอปทั้งหลายเหล่านี้ถึงได้ขาดทุน

จะว่าไป GP ก็ไม่ต่างอะไรกับที่ร้านทั้งหลายต้องยอมจ่ายค่าเช่าให้ห้าง ต่างกันตรงที่ค่าเช่านั้นเราคุ้นชินกับมันมากกว่า เลยคิดว่าคุ้มค่า เข้าใจได้ จ่ายได้ แต่พอโดน App เหล่านี้หักหัวคิวบ้าง กลับเผลอใจไปรู้สึกว่าถูกขูดรีดซะงั้น ทั้งที่มันเกือบจะเป็นรายได้เดียวของบริษัทเหล่านี้ที่ใช้พัฒนาแอปเพื่อมาให้บริการทั้งพวกเรา ไรเดอร์ รวมถึงร้านอาหารต่างๆ อยู่นี่แหละ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่แต่ละบริษัทกำลังพยายามแข่งขันเพื่อเพิ่มการดูแลให้กับคนในอีโคซิสเท็มนี้ด้วย

อ่านเจอข่าวว่ากรมการค้าภายในเขาเข้าอกเข้าใจว่าร้านอาหารไม่น้อยที่เดือดร้อนจากค่า GP เลยมีการขอความร่วมมือให้ Food Delivery ทั้งหลายช่วยกันลด % ส่วนนี้ลงอย่างไม่มีทางเลือกสักเท่าไรให้เลือก

เอาจริงๆ มองเผินๆ ผมเองก็ชอบใจแหละเพราะมาตรการแบบนี้ คนที่สั่งน่ะดูหล่อจะตายไป แต่คิดดูดีๆ สิว่าการแทรกแซงนี้มันใช่วิธีแก้ไขจริงๆ เหรอ แล้ว GP ส่วนที่ลดหายไปนั้นใครได้ใครเสีย ต้นทุนส่วนที่หายไปนี้จะตกเป็นภาระของใครกันละ ไรเดอร์จะถูกลดค่าส่งไหม หรือจะกลายเป็นคนสั่งอย่างเราที่ต้องจ่ายแพงขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว(วะ) เพราะอย่าลืมว่าตัวบริษัทแอปเหล่านี้เองเพิ่งบาดเจ็บจากการถูกขอความร่วมมือแกมบังคับให้ตัดแขนตัดขาหั่นรายได้ตัวเองแบบที่แถวบ้านพี่เรียกว่าสั่งทั้งที่ต่างก็ขาดทุนกันอยู่แล้วนะ

ก่อนจะหาว่าภูวนาทเอาแต่ฟาด ถ้าเก่งนักก็เสนอมาสิว่าแล้วจะให้ทำยังไง

บังเอิญไปอ่านเจอข่าวการแก้ปัญหาแบบเดียวกันนี้ในหลายประเทศที่คล้ายคลึง แต่วิธีคิดมันต่างกันอย่างน่าทึ่งจนทนไม่ไหวต้องขอตั้งใจเอามาเล่าให้ฟังแบบย่อๆ เผื่อจะได้ยินไปไกลถึงหูใครหลายคนบนนู้นนนนบ้าง…

รัฐบาลสิงคโปร์ เมื่อประกาศล็อกดาวน์ ร้านอาหารไม่สามารถขายหน้าร้านได้ ทางรัฐบาลจึงขอให้แพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยลดค่า GP ลงมา โดยที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินอุดหนุนกับทางแพลตฟอร์ม ในส่วนต่างที่หายไปจากค่า GP เกือบ 50% ซึ่งเป็นวิธีที่เวิร์กมาก เพราะวินๆ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ลูกค้า ไรเดอร์ หรือแพลตฟอร์ม สหรัฐอเมริกา รัฐริชมอนด์ เวอร์จิเนีย ไม่ได้ขอให้บริษัทฟู้ดดิลิเวอร์ลด GP แต่พี่ท่านจ่ายค่า GP ให้เลยเกินครึ่งเพื่อช่วยเหลือ

หรือแม้แต่ไต้หวันตั้งกองทุนอุดหนุนลดค่า GP ให้เกือบ 6 ล้านเหรียญเพื่อต่อลมหายให้ทั้งบริษัทเดลิเวอร์รี่ ไรเดอร์ และร้านอาหารไปต่อได้ไม่ขาดใจตายจนต้องลอยแพให้คนต้องตกงานอีกมหาศาล

ผมก็เหมือนทุกคนแหละที่อยากได้ของดีราคาถูกกันทั้งนั้น แต่หากแม้ว่าการสั่งอาหาเดลิเวอรี่จะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ สั่งอาหารครั้งต่อไป หากมันจะแพงในความรู้สึกของคุณหรือใคร อย่าลืมลองบอกกับตัวเองกันอีกที ว่าทุก 1 ครั้งที่เราสั่งอาหารกันผ่าน App Food Delivery นี้ มีอีกหลายแสนคนได้มีงาน มีอาชีพ มีอีกหนึ่งมื้อที่อิ่มไปกับเราด้วยเช่นกัน

ยิ่งศึกษา ยิ่งคิด ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งสงสัยว่า หรือบางทีจริงๆ แล้วเสือนอนกินใจดำตัวจริง อาจไม่ใช่ใครที่ใส่เสื้อกั๊ก.. แต่เป็นคนใส่เสื้อสูทผูกไทด์ที่ไม่ค่อยทำอะไรที่ควรจะทำเพื่อช่วยคนไทยมากกว่า….รึเปล่า อุ๊บส์!

ไปก่อนดีกว่า..
ไรเดอร์มากดออดหน้าบ้านได้เวลาพอดี”









กำลังโหลดความคิดเห็น