หลังครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง “ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์”ได้แชร์โพสต์ของเพจหนึ่ง ที่พูดถึงแผนของศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ว่าเล็งใช้งบกลางจำนวน 569 ล้านบาท เพื่อจ้างคนดัง influencer, ทำ MV, ทำสปอตทีวี-วิทยุ, ทำคลิปวิดีโอ และซื้อพื้นที่สื่อ เพื่อประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระหว่างเดือน ก.ย. 64 – เดือน มี.ค.65 พร้อมกับใส่แคปชั่นว่า “ทุกคนคิดว่าไงคะ? ลองเลื่อนอ่านค่ะ ข้อมูลจาก @thematter.co ค่ะ”
ก็มีดาราคนบันเทิง เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย อาทิ น้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์, ขนมจีน กุลมาศ สารสาส, หมิว สิริลภัส กองตระการ, เมฆ จิรกิตติ์ ถาวรวงศ์, อิสระ ฮาตะ และแบงค์ อนุสิทธิ แสงนิ่มนวลที่ต่างลงความเห็นว่า มันเป็นโครงการที่ไม่มีประโยชน์ และยังแก้ปัญหาผิดจุด
แต่คนที่ดูจะคอมเมนต์ได้ใจชาวเน็ตและลูกกอล์ฟ ไปแบบสุดๆ ก็คงจะเป็น “หมู พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ” ที่เข้ามาคอมเมนต์ว่า “โครงการปัญญาอ่อนจริงๆ เลย 🙄 …. เรารณรงค์บ้างได้มั้ย??…. ศิลปินร่วมมือกันไม่รับงานแบบนี้ …. อย่าให้เขาซื้อเรา ด้วยเงินค่าจ้างบ้าๆ นี้ …โปรดช่วย ช่วยกัน ขอร้องให้รัฐบาล นำเงินก้อนนี้ ไปจัดหาวัคซีนที่มันดีๆ ที่ยอมรับกั้นทั่วโลก ….
ให้ได้ครบตามจำนวนประชากร 70 ล้านคน = 140 ล้านโดส + เข็มที่ 3 อีก 70 ล้านโดส …. รวมเป็น 221 ล้านโดส เร็วๆ โดยเร็ว และ เร็วที่สุด …. มีวัคซีนดีๆ ฉีด ก็ไม่ต้องเสียเงินไปรณรงค์อะไรแล้ว …. ประชาชนต้องการวัคซีน ได้ยินมั้ย??? …..😯โยยย!!! …. ทำไม่ต้องมาเห็น มาได้ยินโครงการปัญญาอ่อนแบบนี้ด้วย 😢… ด้อยพัฒนาชิบ!!”
ซึ่งงานนี้ลูกกอล์ฟ ก็ได้เข้ามาตอบกลับคุณแม่หมูด้วยว่า “@pimpaka ฮือออออ คุณแม่”
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าข่าวที่ออกมาโดยการนำเสนอของสำนักข่าวบางข่าวนั้นได้ระบุว่าที่มาของเนื้อหาว่ามาจากเอกสารที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยเป็นการของบโดยกรมประชาสัมพันธ์จำนวน 569 ล้านบาทเพื่อทำ ‘โครงการรณรงค์เอาชนะโควิด-19 ตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention)’ และมีรายละเอียดกว่า 12 หน้าเอ 4
อย่างไรก็ตามตัวเลขที่มีการอนุมัติจริงนั้นตามการเปิดเผยของ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ว่าทาง ครม. ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ตามโครงการดังกล่าวเป็นจำนวน 105.59 ล้านบาท
โดยการใช้งบดังกล่าวถูกระบุว่าเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการแก้ไขปัญหา วิธีปฏิบัติตน และการรับการเยียวยาจากภาครัฐ ด้วยการร่วมกับหน่วยงานสื่อทุกภาคส่วนของประเทศ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการขึ้นของข่าวเฟกนิวส์จำนวนมากนั่นเอง